posttoday

'อดอาหาร' vs 'ลดอาหาร' วิธีไหนดีกว่ากัน?

08 พฤศจิกายน 2564

บทสรุป การทำให้ร่างกายได้รับพลังงานน้อยลง ระหว่าง “ลดอาหารประเภทที่ให้พลังงาน” (Energy Reduction) หรือ “การอดอาหาร” (Fasting) เลือกวิธีไหนดีกว่า?

'อดอาหาร' vs 'ลดอาหาร' วิธีไหนดีกว่ากัน?

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้เรื่อง อดอาหารดีกว่าลดอาหาร ใน Dr.Winai Dahlan ดังนี้

รู้ๆ กันอยู่ว่าการบริโภคให้ร่างกายได้พลังงานน้อยลง ช่วยรักษาสุขภาพได้ดีกว่าการบริโภคอาหารมากเกินไป  เพราะการบริโภคทำให้ร่างกายสิ้นเปลืองพลังงานไปกับกลไกการย่อยอาหาร เพียงแต่ถกเถียงกันยังไม่จบเท่านั้น ว่าการทำให้ร่างกายได้รับพลังงานน้อยลงนั้น วิธีไหนดีกว่ากันนั่นคือ “ลดอาหารประเภทที่ให้พลังงาน” (Energy Reduction) หรือ “การอดอาหาร” (Fasting) ซึ่งมีหลายวิธี แบบที่นิยมปฏิบัติมากกัน อย่างเช่น 

  • ไอเอฟ (Intermittent Fasting) โดยอดอาหารเป็นช่วง ใน 24 ชั่วโมง กำหนดช่วงอดอาหาร 16 ชั่วโมง กิน 8 ชั่วโมง
  • แบบห้าต่อสองไดเอ็ต (5:2 Diet) ในหนึ่งสัปดาห์ กินอาหารตามปกติ 5 วัน อดอาหาร 2 วัน
  • ปฏิบัติแบบมุสลิม ในเดือนรอมฎอน (Ramadan Fasting)

'อดอาหาร' vs 'ลดอาหาร' วิธีไหนดีกว่ากัน?

ถกเถียงการอย่างนั้น ดร.ไฮดิ ปัก (Heidi H. Pak) แห่งคณะแพทยศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์  มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกา กับทีมงานจึงร่วมกันทำวิจัยในสัตว์ทดลอง ผลงานตีพิมพ์ในวารสาร  Nat Metab เดือนตุลาคม 2021 ใครสนใจลองไปหาอ่านใน https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/34663973/

ผลการศึกษาสรุปได้ง่ายๆ ว่า การอดอาหารอย่างสิ้นเชิง เช่นที่มุสลิมถือศีลอด หรืออดแบบไอเอฟ หรืออดแบบห้าต่อสอง ให้ผลต่อสุขภาพดีกว่าการลดพลังงานจากอาหารลง เป็นต้นว่า การเลือกไม่รับประทานอาหารมื้อเช้า หรือมื้อเที่ยง หรือมื้อเย็น นั้นให้ผลต่อสุขภาพสู้การอดอาหารอย่างสิ้นเชิงในช่วงเวลาหนึ่งไม่ได้ การอดอาหารแบบ fasting ช่วยยืดอายุขัยของหนูทดลองให้ยืนยาวกว่า ทั้งทำให้สุขภาพทั่วไปดีกว่า

'อดอาหาร' vs 'ลดอาหาร' วิธีไหนดีกว่ากัน?

การอดอาหารช่วยให้ระดับน้ำตาล รวมถึงระดับอินสุลินในเลือดดีขึ้น การทำงานของตับดีขึ้น ยืดอายุการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย กลไกการทำความสะอาดเซลล์ที่เรียกว่า ออโตฟากี (Autophagy) ดีขึ้น อันเป็นคำตอบว่า เหตุใดอายุขัยจึงยืนยาวขึ้น การอดอาหารควบคู่ไปกับการจำกัดพลังงานที่ร่างกายได้รับ ยิ่งให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น นักวิจัยได้ข้อสรุปมาอย่างนั้น 

สิ่งที่นักวิจัยกำลังศึกษากันต่อคือโมเดลที่ใช้ศึกษาในหนูทดลอง สามารถนำมาประยุกต์ในมนุษย์ได้หรือไม่ และควรปฏิบัติกันในแนวทางไหน สุดท้าย สิ่งที่นักวิจัยได้ให้คำตอบส่วนหนึ่งคือ การบริโภคอาหารนั้น หัวใจไม่ได้อยู่ที่บริโภคเท่าไหร่ แต่อยู่ที่บริโภคอย่างไรและเมื่อไหร่ ความรู้ทางโภชนาการ นับวันจึงยิ่งน่าสนใจ ที่กล่าวกันว่า “ควรเรียนรู้วิธีกินอาหารให้เป็นยา อย่ากินยาเป็นอาหาร” จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างยิ่ง