posttoday

อัพเดตแนวทางรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

23 กันยายน 2564

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับสมาคมวิชาชีพและสถาบันทางการแพทย์ หารือแนวทางรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบันและอนาคต พร้อมเร่งลดภาระงานของแพทย์ด่านหน้า ลดจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงซึ่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และลดตัวเลขผู้เสียชีวิตในประเทศ

อัพเดตแนวทางรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดงานแถลงข่าวในหัวข้อ “การรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบันและอนาคต” โดยได้รับเกียรติจาก ศ. นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รศ. นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผศ. นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และ ผศ. นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย มาร่วมอภิปรายเพื่อแสดงวิสัยทัศน์และความร่วมมือระหว่างคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมวิชาชีพและสถาบันทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ต่อการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศไทย โดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยลดภาระงานของแพทย์ด่านหน้า ที่กำลังทำงานอย่างหนัก ลดจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงซึ่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และลดตัวเลขผู้เสียชีวิตในประเทศลงได้

อัพเดตแนวทางรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงพันธกิจที่จะยับยั้งความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยพระปณิธานใน ศ.ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดยทรงให้ความสำคัญด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย ควบคู่ไปกับการคิดค้นองค์ความรู้ใหม่ผ่านกระบวนการวิจัยที่เป็นมาตรฐานสากล จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทรงมีความห่วงใยและทรงติดตาม ศึกษา วางแผน และมอบแนวพระนโยบายในการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคมาโดยตลอด ด้วยความมุ่งมั่นของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่ไม่ได้หยุดอยู่เพียงการให้คำแนะนำด้านการปฏิบัติตัวแก่ประชาชนเพื่อลดการระบาดเท่านั้น แต่ยังเพิ่มกลยุทธ์การป้องกันการติดเชื้อเชิงรุกด้วยการเร่งจัดสรรและกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชนโดยเร็ว

แต่ด้วยการแพร่ระบาดที่ลุกลามไปอย่างรวดเร็ว จนก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน เศรษฐกิจ สังคม และจิตวิญญาณจากความวิตกกังวลและความสูญเสียที่เกิดขึ้น ทำให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ต้องเร่งแสวงหาแนวทางให้ความช่วยเหลือแก่บุคลากรทางการแพทย์และบริหารจัดการทรัพยากรให้เพียงพอกับความต้องการในภาวะผู้ป่วยโควิด-19 ล้นระบบสาธารณสุข เช่น ลดแนวโน้มในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ลดจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและออกซิเจนเสริม รวมไปถึงลดจำนวนผู้เสียชีวิตลง เพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องแบกรับภาระหนักเกินไป ตลอดจนช่วยให้ระบบดูแลสุขภาพของประเทศไทยกลับฟื้นตัวสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด ในฐานะที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นหนึ่งในห้าหน่วยงานที่ได้รับอนุญาต ตามประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้สามารถนำเข้าและกระจายเวชภัณฑ์เพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉินได้ จึงเล็งเห็นว่ายา ‘โมโนโคลนอล แอนติบอดี’ ซึ่งเป็นยาในกลุ่มภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ มีผลการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 3 และข้อมูลการใช้จริงในประเทศสหรัฐอเมริกา บ่งชี้ว่าช่วยลดโอกาสที่โรคจะลุกลามไปสู่ระดับรุนแรง ลดแนวโน้มการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และมีส่วนช่วยลดอัตราการเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น สูงอายุ มีภาวะอ้วน และเป็นโรคเรื้อรัง ดังนั้น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำเข้า จัดสรร และกระจายยาดังกล่าว ให้ถึงมือผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางให้ได้มากที่สุดอย่างทันท่วงที รวมถึงกําหนดราคาให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกสถานพยาบาล”

เนื่องจากในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากภาวะเตียงเต็ม อันเป็นผลจากการที่ผู้ป่วยโควิด-19 อาการลุกลามจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล โดย รศ. นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นแพทย์ที่มีประสบการณ์รับมือกับเคสผู้ป่วยอาการรุนแรง กล่าวถึงผลกระทบและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น หากอาการของโรคดำเนินไปสู่ระดับรุนแรงว่า “ผู้ป่วยที่ถูกส่งตัวมายังห้องไอซียู มักมาด้วยภาวะปอดบวม และภาวะล้มเหลวในอวัยวะต่างๆ อันเป็นผลจากการติดเชื้อ SARs-COV-2 นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายมีการติดเชื้อแทรกซ้อนอีก ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตถึง 50%”

อัพเดตแนวทางรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

นอกจากนี้ ผศ. นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ยังกล่าวเสริมถึงแนวทางการรับมือในสถานการณ์เช่นนี้ว่า “บุคลากรทางการแพทย์ต่างก็ทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยกันลดแนวโน้มที่ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวและสีเหลือง (หรือผู้ป่วยที่มีอาการน้อยและปานกลาง) ไม่ให้อาการของโรคดำเนินไปสู่ระดับสีแดง (หรืออาการรุนแรง) ดังนั้น หากมีตัวเลือกการรักษาที่มีส่วนช่วยดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ได้เหมือนการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ก็จะช่วยยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรทางการแพทย์ให้จะเพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยทุกรายอาจไม่จำเป็นต้องถูกส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาล แต่อาศัยวิธีการแยกตนเองหลังได้สัมผัสกับเชื้อ (self-isolation) อย่างเคร่งครัดแทนได้ แต่ทว่า ที่ผ่านมายังไม่มียาต้านไวรัสชนิดใดเลยที่ได้ผลดีเป็นที่ยอมรับเป็นมาตรฐาน นอกเหนือจากยา ‘โมโนโคลนอล แอนติบอดี’ ซึ่งเป็นยาในกลุ่มภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ เช่น ยาแอนติบอดี ค็อกเทล ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยตรงสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง โดยต้องให้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และยังอยู่ในแนวทางเวชปฏิบัติการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของสมาคมโรคติดเชื้อแห่งอเมริกา (Infectious Diseases Society of America - IDSA)1 และสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health - NIH)2”

ทุกวันนี้แม้จะมีความพยายามกระจายวัคซีนอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่จำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบโดสยังมีเพียง 14.3 ล้านคน3 หรือคิดเป็น 20.5% ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้น โดยกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย เนื่องจากมีโรคประจำตัวบางชนิด มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ที่รับวัคซีนแล้วแต่มีภูมิคุ้มกันขึ้นไม่สมบูรณ์ “ยาดังกล่าวก็นับได้ว่าเป็นตัวเลือกการรักษาที่ดี หากผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนบังเอิญไปสัมผัสกับเชื้อ ทั้งนี้ การได้รับวัคซีนก็ยังคงแนวทางป้องกันหลักและควรเป็นทางเลือกแรกของประชาชนอย่างไม่มีข้อจำกัด เช่น โรคประจำตัวหรือมีปฏิกิริยาแพ้” ผศ. นพ.กำธร มาลาธรรม แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

อัพเดตแนวทางรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

ด้านความก้าวหน้าในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในต่างประเทศ ผศ. นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ชี้แจงว่า “ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา4 อังกฤษ5 องค์การอาหารและยาของประเทศเหล่านั้นอนุมัติให้ใช้ยาแอนติบอดี ค็อกเทล ในผู้ที่มีประวัติสัมผัสเชื้อแต่ยังไม่ติด และในผู้ที่ยืนยันการติดเชื้อแล้วแต่ไม่แสดงอาการ หากประเทศไทยนำแนวทางดังกล่าวมาประยุกต์ใช้อาจช่วยเพิ่มตัวเลือกการรักษาให้แก่ผู้ป่วยและยับยั้งการแพร่เชื้อลงได้อย่างรวดเร็วในเวลาเดียวกัน โดยกลยุทธ์เชิงป้องกัน (post-exposure prophylaxis) ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงมีเพียงยาแอนติบอดีเท่านั้น แต่ปัจจุบันยังยังมีการศึกษากลุ่มยาต้านไวรัส (antiviral) ด้วย หากมีการนำแนวทางนี้มาใช้ควบคู่ไปกับการกระจายวัคซีน ที่ช่วยลดความรุนแรงของโรคและป้องกันการเสียชีวิต การเข้าถึงของประชาชนก็จะสะดวกและกว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งมีส่วนให้ประเทศไทยลดการแพร่กระจายของเชื้อลงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

สุดท้ายนี้ การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเลือกการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละกลุ่มจึงเป็นกลไกสำคัญที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สมาคมวิชาชีพ และสถาบันทางการแพทย์ต่างๆ เล็งเห็นแล้วว่าเป็นแนวทางการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันและอนาคตได้ โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ยังมีโครงการศีกษาวิจัยผลิตภัณฑ์ยารักษาโควิด-19 ในกลุ่มภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ หรือ ยาโมโนโคลนอล แอนติบอดี ในผู้ป่วยที่มีอาการและปัจจัยเสี่ยงสอดคล้องกับคำแนะนำการใช้ยา เพื่อติดตามผลลัพธ์การรักษาอย่างใกล้ชิดเและประเมินความเหมาะสมต่อไป