posttoday

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน อุบัติการณ์ที่คร่าชีวิตประชากรโลกมากถึง 1 ใน 4

16 กันยายน 2564

เชื่อหรือไม่! 1 ใน 4 ของประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากภาวะที่เกี่ยวเนื่องกับโรคลิ่มเลือดอุดตัน และโรคดังกล่าวพบได้ในผู้คนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กถึงผู้สูงอายุ

เรื่องนี้ข้อมูลจาก ศาสตราจารย์นายแพทย์พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า กระบวนการสร้างลิ่มเลือดเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันการเสียเลือดมากเกินไปเมื่อหลอดเลือดเกิดการบาดเจ็บโดยปกติหลังจากแผลหายดีแล้วร่างกายจะทำการสลายเลือดที่แข็งตัวตามธรรมชาติอย่างไรก็ตามในบางกรณีเลือดเกิดการแข็งตัวภายในหลอดเลือดโดยไม่ได้เกิดจากอาการบาดเจ็บและไม่เกิดการสลายโดยธรรมชาติเมื่อเลือดเกิดการแข็งตัวจะส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดช้าลงหรือปิดกั้นการไหลเวียนระบบไหลเวียนโลหิตซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะเลือดอุดตันที่รุนแรงหรือที่รู้จักกันในชื่อโรคลิ่มเลือดอุดตันหรือหลอดเลือดอุดตัน

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน อุบัติการณ์ที่คร่าชีวิตประชากรโลกมากถึง 1 ใน 4

เป็นเรื่องจริงที่ว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากภาวะที่เกี่ยวเนื่องกับโรคลิ่มเลือดอุดตัน และโรคดังกล่าวพบได้ในผู้คนทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กถึงผู้สูงอายุ โดยมีปัจจัยเสี่ยงได้แก่ การสูบบุหรี่ การมีน้ำหนักตัวมากเกินไป ความดันโลหิตสูง หรือคอเลสเตอรอลสูง รวมถึงโรคอักเสบเรื้อรัง การตั้งครรภ์ หรือช่วง 6 เดือนภายหลังจากตั้งครรภ์ เพิ่งรับการรักษาหรือกำลังทำการรักษาโรคมะเร็ง หลังเข้ารับการผ่าตัด สูงวัย ติดเชื้อโควิด-19 มีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะเลือดแข็งตัว การรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นประจำ และกลุ่มที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่อยู่ในอิริยาบถเดิมนานๆ ยิ่งไปกว่านั้น สมาคมการแพทย์อเมริกัน เผยว่า มีประชากรราวปีละ 2 ล้านคนที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งนับเป็นจำนวนที่มากกว่าอุบัติการณ์ของโรคภาวะหัวใจล้มเหลว หรือโรคหลอดเลือดสมองในแต่ละปี

แต่ที่น่าเสียดายคือ จากผลสำรวจโดยวันโรคลิ่มเลือดอุดตันโลกจาก 9 ประเทศ พบว่า การตระหนักรู้ของผู้คนเกี่ยวกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ (68%) และแค่เพียง 50% สำหรับภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ (Venous Thromboembolism: VTE) ในขณะที่การรับรู้เกี่ยวกับโรคร้ายแรงอื่นๆอยุ่ในระดับที่สูงกว่านี้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคเอดส์ (ที่ 90%, 85%, 82%, 87% ตามลำดับ)

ดังนั้น การทำความเข้าใจและรับรู้เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ภาวะลิ่มเลือดอุดตันจึงเป็นแนวทางการป้องกันที่เหมาะสมรวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการตรวจภาวะลิ่มเลือดอุดตันโดยแพทย์ 

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน อุบัติการณ์ที่คร่าชีวิตประชากรโลกมากถึง 1 ใน 4

ศาสตราจารย์นายแพทย์พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ กล่าวว่า อาการและอาการแสดงของภาวะลิ่มเลือดอุดตันประกอบไปด้วย อาการปวดบวมที่ขา มีอาการกดเจ็บ ผิวหนังเปลี่ยนสีหรือเป็นสีแดง พบเส้นเลือดฝอยบนผิวหนัง เส้นเลือดขอด หรือรู้สึกอุ่นๆ บริเวณผิวหนัง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันบางรายแสดงอาการน้อยมาก ดังนั้น จึงถือเป็นภัยเงียบที่น่ากังวล

“เมื่อการไหลเวียนของเลือดเพื่อไปหล่อเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญถูกขัดขวาง อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพที่รุนแรง เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว (หัวใจวาย) โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด และไตวาย จากการศึกษาล่าสุดพบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยโควิด-19 และภาวะลิ่มเลือดอุดตัน รวมถึงผู้ป่วยที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาล” 

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน อุบัติการณ์ที่คร่าชีวิตประชากรโลกมากถึง 1 ใน 4

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (VTE) ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตและการพิการอันดับต้นๆ ทั่วโลก เป็นภาวะที่เกิดการแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือดบริเวณขา ขาหนีบ หรือแขน (ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก – deep vein thrombosis, DVT) หากลิ่มเลือดเกิดการหลุดออกและไหลผ่านระบบไหลเวียนโลหิตไปยังปอด จะกลายเป็นภาวะที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตที่เรียกว่าภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด ในประเทศไทยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ส่งผลให้ผู้ป่วยพบปัญหาหายใจลำบาก ส่งผลให้เกิดอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 30 ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดพบว่าตั้งแต่ปี 2560-2563 มีผู้ป่วยประมาณ 12,900-26,800 คนที่เผชิญปัญหาดังกล่าวในประเทศไทย ซึ่งเท่ากับว่าจะมีผู้ป่วย 200-400 คนในประชากรทุกๆหนึ่งล้านคน1 ทั้งนี้ จากที่กล่าวมาข้างต้น ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำมากที่สุดคือหลังจากการผ่าตัดใหญ่ การบาดเจ็บ ภาวะหัวใจล้มเหลว มะเร็งหรือภาวะหัวใจวาย ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ประกอบไปด้วยโรคอ้วน การบริโภคสุรา การสูบบุหรี่ การบาดเจ็บทางร่างกาย หรือการใช้ยาที่มีส่วนประกอบของเอสโตรเจน 

ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (AFib) เป็นภาวะที่พบบ่อยที่สุดของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะและเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน คลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกตินี้ทำให้หัวใจห้องบนสุดเกิดอาการสั่นพลิ้ว อาการของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็วหรือผิดปกติ วิงเวียนศีรษะ หายใจถี่และวิตกกังวล อาการเจ็บหน้าอกและเหงื่อออก อย่างไรก็ตาม บางครั้งไม่พบมีอาการแสดงที่ชัดเจน และตรวจพบภาวะนี้ในระหว่างการตรวจร่างกายเท่านั้น ดังนั้นจึงแนะนำว่าควรทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด

ทั้งนี้ นายแพทย์พันธุ์เทพ ได้แนะนำว่า การตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องจำเป็น และควรปรึกษาแพทย์หากมีอาการหรือมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน