posttoday

ผู้หญิงอ้วนลงพุง เสี่ยงถุงน้ำในรังไข่หลายใบ

09 สิงหาคม 2564

โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ Polycystic Ovarian Syndrome (PCOS) หมายถึง กลุ่มอาการที่รังไข่มีถุงน้ำหลายใบ เป็นความผิดปกติของต่อมไร้ท่อที่พบบ่อยที่สุดทางนรีเวชในสตรีวัยเจริญพันธุ์ในช่วงอายุ 18-45 ปี

สาเหตุของโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ Polycystic Ovarian Syndrome (PCOS)

กลไกการเกิด PCOS ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ในปัจจุบันพบว่าสตรีที่เป็นโรคนี้จะมีความผิดปกติของฮอร์โมนอยู่หลายตำแหน่ง รวมทั้งที่รังไข่ซึ่งจะสร้างฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติ อาจพบว่ามีระดับเอนไซม์อินซูลินในกระแสเลือดมากกว่าปกติด้วย

อาการ

1. ในสตรีบางคนอาจมีประจำเดือนมาไม่ปกติ มีรอบเดือนนานมากกว่า 35 วัน หรือมีเลือดออกมากผิดปกติ แต่ในสตรีบางคนอาจมีประจำเดือนขาดหายเป็นปี หรือมีประจำเดือนกะปริดกะปรอยเป็นเวลา 10-20 วัน หรือบางครั้งมาด้วยอาการปวดประจำเดือน

2. อ้วน น้ำหนักตัวเกิน ลักษณะเป็นอ้วนแบบลงพุง

3. มีอาการแสดงถึงภาวะฮอร์โมนเพศชายสูง เช่น มีศีรษะล้านแบบเพศชาย ใบหน้ามีสิว ผิวมัน มีขนดกขึ้นบริเวณแขน ขา ใบหน้า ร่องอก และท้องส่วนล่าง เป็นต้น

4. มีบุตรยาก เนื่องจากมีความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศ

การวินิจฉัย

1. การซักประวัติ เช่น ประวัติครอบครัว ประวัติโรคประจำตัว การมีประจำเดือน ประวัติการตั้งครรภ์ การใช้ยาโดยเฉพาะยาคุมกำเนิดและยาฮอร์โมน

2. การตรวจร่างกาย เช่น การวัดความดันโลหิต วัดส่วนสูง น้ำหนัก คำนวณค่า Body Mass Index (BMI) เพื่อดูภาวะอ้วน ตรวจลักษณะการกระจายของขน สิว ผิวมัน และลักษณะบุรุษเพศ การตรวจภายใน เช่น การทำอัลตราชาวน์ทางช่องคลอดเพื่อดูรังไข่ หรือการเจาะเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมน

3. ตรวจประเมินภาวะของโรคเบาหวานและไขมันในเลือด ซึ่งพบได้บ่อยในโรค

แนวทางการรักษา

1. แนะนำให้ลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกาย และควบคุมอาหารในกลุ่มที่มีน้ำหนักตัวเกิน

2. กลุ่มที่ไม่ต้องการมีบุตร รักษาโดยการใช้ยาฮอร์โมนซึ่งจะทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น ประจำเดือนจะมาสม่ำเสมอ ผลข้างเคียงของยาเหมือนยาเม็ดคุมกำเนิดทั่วไป เช่น มี คลื่นไส้ อาเจียนได้บ้าง

3. กลุ่มที่ต้องการมีบุตร

  • การรักษาด้วยยากระตุ้นการตกไข่
  • การรักษาด้วยการผ่าตัด ใช้ในกลุ่มสตรีที่มีบุตรยาก กรณีที่ไม่สามารถชักนำให้เกิดการตกไข่ด้วยยา ต้องทำการส่องกล้องผ่านทางหน้าท้องแล้วจี้ด้วยไฟฟ้าหรือด้วยเลเซอร์ที่ผิวรังไข่ให้เป็นจุดๆ (Ovarian dilling) 4-8 จุด เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตกไข่และการตั้งครรภ์

ผู้หญิงอ้วนลงพุง เสี่ยงถุงน้ำในรังไข่หลายใบ

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อมีภาวะ PCOS

เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการรุนแรงขึ้น หรือมีภาวะแทรกช้อน สิ่งที่ควรปฏิบัติ ได้แก่

1. ลดความอ้วน ควบคุมอาหาร การควบคุมน้ำหนักเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เพราะเมื่อผอมลง การทำงานของฮอร์โมนในร่างกายจะกลับมาใกล้เคียงปกติ ประจำเดือนจะมาสม่ำเสมอมากขึ้น

2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

3. ควรหลีกเลี่ยงความเครียดเพราะความเครียดจะทำให้ฮอร์โมนผิดปกติ

4.รับประทานยาฮอร์โมนตามแผนการรักษาของแพทย์อย่างต่อเนื่อง