posttoday

เช็กลิสต์กลุ่มโรคหน้าฝน ไม่ต้องทนป่วย

26 กรกฎาคม 2564

ต้อนรับสายฝนโปรยปราย ท่ามกลางอากาศเย็นสบายและความชื้นสูงขึ้น อาจเป็นปัจจัยให้โรคหลายชนิดแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว โดย 5 กลุ่มโรคในหน้าฝนที่พบมาก ได้แก่

กลุ่มโรคที่ 1 โรคติดต่อระบบทางเดินอาหาร

  • เกิดจากการกินอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลชีพที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร อาทิ ท้องเสีย โรคอุจจระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาจมีไข้ ปวดบิดในท้อง และหากติดเชื้อบิดอาจมีมูกหรือเลือดปนอุจจาระได้
  • เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอและบี ติดต่อจากการกินอาหารปนเปื้อนเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอและบี ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตับอักเสบ มีไข้ อ่อนเพลีย ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือดีซ่าน คลื่นไส้ อาเจียน

เช็กลิสต์กลุ่มโรคหน้าฝน ไม่ต้องทนป่วย

กลุ่มโรคที่ 2 โรคติดเชื้อทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง

  • โรคไข้ฉี่หนู หรือเลปโตสไปโรซิส ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ มักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง ตาแดง  ร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรง เช่น ดีซ่าน ไตวาย หรือช็อกได้
  • ผิวหนังอักเสบ น้ำฝนที่ขังตามพื้นถนนนานๆ จะเน่าเหม็นเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค หากสัมผัสผิวหนังก็มีโอกาสเสี่ยงต่อผิวหนังอักเสบได้ ยิ่งไปกว่านั้นน้ำสกปรกยังอาจทำให้แผลติดเชื้อ เกิดเชื้อรา คัน เกิดตุ่มหนองและฝีได้ ดังนั้น แนะนำให้ล้างมือล้างเท้าบ่อยๆ

กลุ่มโรคที่ 3 โรคระบบทางเดินหายใจ

  • โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม ปัจจุบันมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ H1 N1 และโรคไข้หวัดนก

กลุ่มโรคที่ 4 โรคติดต่อที่เกิดจากยุง

  • ไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะ  ในระยะแรกจะมีอาการเหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่วไป เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการปวดกระดูกมาก ไข้สูงประมาณ 2-7 วัน หลังจากนั้นไข้จะลดลง อาจมีเลือดออกผิดปกติ มือเท้าเย็น หรือช็อกได้
  • ไข้สมองอักเสบ มียุงรำคาญเป็นพาหะ  มักแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำตามทุ่งนา ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน หลังจากนั้นจะมีอาการซึมลงหรือชัก อาจเสียชีวิตหรือพิการหากไม่ได้รับการรักษา
  • ไข้มาลาเรีย มียุงก้นปล่องเป็นพาหะ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ซีดลง เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก หากเป็นชนิดรุนแรงอาจมีอาการไตวาย ตับอักเสบ ปอดผิดปกติ

เช็กลิสต์กลุ่มโรคหน้าฝน ไม่ต้องทนป่วย

กลุ่มโรคที่ 5 เยื่อบุตาอักเสบ หรือโรคตาแดง

เป็นการติดเชื้อไวรัสอย่างเฉียบพลัน ติดต่อด้วยการสัมผัสโดยตรงจากมือสู่ตาหรือทางอ้อมจากสระว่ายน้ำ พบผู้ป่วยจำนวนมากในประเทศไทยช่วงฤดูฝน และพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ อาการที่พบคือเริ่มแดงข้างใดข้างหนึ่งก่อนแล้วจึงลามไปอีกข้างหนึ่ง คันตา รู้สึกระคายเคืองคล้ายผงเข้าตา เจ็บตา อาจมีอาการหนังตาบวมร่วมด้วย มีขี้ตาตอนเช้า ต่อมน้ำเหลืองใกล้หูโตและกดเจ็บ

การป้องกันโรคที่มากับหน้าฝน สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงสวมเสื้อผ้าเพื่อรักษาร่างกายให้อบอุ่น ล้างมือ ล้างเท้าบ่อยๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดื่มน้ำสะอาด กินอาหารที่สุกใหม่ สะอาด และใช้ช้อนกลางทุกครั้ง