posttoday

ระวังการปนเปื้อนของสารเคมีในน้ำฝน

08 กรกฎาคม 2564

หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เตือนประชาชนระวังการปนเปื้อนของสารเคมีในน้ำฝน พร้อมให้คำแนะนำในการใช้น้ำทั้งอุปโภคหรือบริโภค

จากกรณีเกิดเหตุระเบิดภายในโรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติกในซอยกิ่งแก้ว ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ข้อมูลโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ เทพานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญในคณะอนุกรรมการเครือข่ายการติดตามตรวจสอบการตกสะสมของกรดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออก ระบุว่า

ระวังการปนเปื้อนของสารเคมีในน้ำฝน

ฝนพิษคืออะไร? / เกิดจากอะไร?

ในกรณีนี้คือการปนเปื้อนของสารเคมีที่ระบายจากเหตุการณ์ในน้ำฝนจากฝนที่ตกลงมาในขณะที่เกิดเหตุการณ์จนถึงหลังจากเหตุการณ์ผ่านพ้นไปในช่วงระยะเวลา 3-4 วัน ในทางวิทยาศาสตร์กระบวนการนี้เรียกว่า Wash out process คือจากการที่มีสิ่งปนเปื้อนแขวนลอยในอากาศบริเวณพื้นที่ โดยเมฆที่ก่อให้เกิดฝนเป็นเมฆสะอาด เมื่อเกิดเป็นฝนตกลงมาน้ำฝนนั้นจึงปนเปื้อนสารเคมี จากเหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการระบายสารมลพิษทางอากาศทั้งในรูปของฝุ่นละออง (particulate phase) และในรูปของก๊าซ (gaseous phase) โดนสารมลพิษทางอากาศในกลุ่มที่เป็นสารเคมีเหล่านี้สามารถรวมตัวกับน้ำฝนและก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ รวมถึงต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนผ่านการอุปโภคบริโภคได้ 

การสัมผัสหรือบริโภคฝนพิษมีความอันตรายต่อสุขภาพอย่างไร?

อันตรายโดยตรงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในรูปแบบของความเสี่ยงจากการได้รับสัมผัสผ่านทางการหายใจ (inhalation pathway) อย่างไรก็ตามเมื่อสารเคมีเหล่านี้ตกสะสม (deposition) ลงสู่สิ่งแวดล้อมจะก่อให้เกิดการปนเปื้อนใน media อื่น ๆ เช่น การปนเปื้อนในดิน ในแหล่งน้ำ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพจากการอุปโภค/บริโภค (ingestion pathway) รวมถึงในบางกรณีอาจพบผลกระทบอันเนื่องมาจากการได้รับสัมผัสทางผิวหนังโดยตรง (dermal exposure) 

ฝนพิษเมื่อไหลลงดินแม่น้ำลำคลองจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร?

ฝนซึ่งปนเปื้อนสารเคมีจะก่อให้เกิดการปนเปื้อน (contamination) ในสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดังกล่าว และเนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีโอกาสสูงที่จะก่อให้เกิดการระบายสารก่อมะเร็ง (carcinogenic substances) จึงทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการสะสม/การปนเปื้อนของสารเคมีและสารก่อมะเร็งดังกล่าวในสิ่งแวดล้อมซึ่งจะมีการไหลเวียนในระบบนิเวศรวมถึงในระบบห่วงโซ่อาหาร ทำให้อาจก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงคุณภาพต่อทั้งระบบนิเวศและสุขภาพอนามัยได้

เมื่อสัมผัสหรือดื่มน้ำฝนที่ปนเปื้อนสารพิษควรปฏิบัติตัวอย่างไร?

สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องทราบว่ามีการปนเปื้อนในน้ำฝนหรือไม่ โดยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีน้ำฝนโดยตรวจวัดในพารามิเตอร์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสารเคมีที่อาจเกิดจากเหตุการณ์และปนเปื้อนในน้ำฝน เช่น Styrene, Xylene, Benzene, Formaldehyde และ Polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) โดยหากสัมผัสน้ำฝนที่ปนเปื้อนควรทำความสะอาดบริเวณที่สัมผัสด้วยน้ำสะอาด (ในกรณีนี้คือน้ำประปา) ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นไปในแนวทางของการลดระดับความเข้มข้นของการได้รับสัมผัสโดยการเจือจาง (dilution)

หากดื่มน้ำฝนที่ปนเปื้อนเข้าไปแล้ว ให้สังเกตอาการ หากรู้สึกว่ามีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ อย่างไรก็ดีหากทราบว่าน้ำฝนมีการปนเปื้อน ควรงดกักเก็บและบริโภคน้ำฝนเป็นการชั่วคราวอย่างน้อย หรือหากจำเป็นต้องใช้ควรนำน้ำไปผ่านการกรองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกรองด้วยถ่านหรือถ่านกัมมันต์ (activated carbon) ในช่วงดังกล่าว

คำแนะนำในการใช้น้ำทั้งอุปโภคหรือบริโภคคืออะไร?

ควรเลี่ยงการใช้น้ำฝนรวมถึงการกักเก็บน้ำฝนเพื่อใช้ในการอุปโภค/บริโภคโดยตรงอย่างน้อย 1 สัปดาห์ภายหลังเหตุการณ์คลี่คลาย ในส่วนของน้ำประปา หน่วยงานที่ให้บริการควรตรวจสอบการปนเปื้อนโดยมีการวิเคราะห์เพิ่มเติมในส่วนของสารเคมีจากเหตุการณ์ที่อาจปนเปื้อนในแหล่งน้ำดิบเพิ่มเติมจากการตรวจวัดคุณภาพน้ำประปาโดยทั่วไป

ทั้งนี้ หากมีการปนเปื้อน ควรเพิ่มระยะเวลาในกระบวนการกรองเพิ่มเติมในกระบวนการผลิตน้ำประปา และในส่วนของการใช้น้ำประปาเพื่อการบริโภคของประชาชนทั่วไป ควรกรองน้ำด้วยระบบถ่านก่อนการบริโภค ในส่วนของการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคทั้งจากแหล่งน้ำโดยตรงและจากระบบน้ำประปา ผลกระทบจากเหตุการณ์อาจไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนทั่วไป หรือมีความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยในระดับต่ำจึงสามารถใช้อุปโภคได้ตามปกติ