posttoday

How to ดูแลผู้สูงอายุในบ้าน สังเกตอาการป้องกันโรคสมองเสื่อม

17 มิถุนายน 2564

แพทย์ชำนาญพิเศษด้านประสาทวิทยา ศูนย์สมองและระบบประสาท แนะวิธีสังเกตและป้องกันผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมผู้สูงอายุในบ้าน

โรคสมองเสื่อม หรือภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ คือโรคที่ผู้ป่วยมีความเสื่อมถอยของการทำงานของสมองในภาพรวมซึ่งเกิดจากการสูญเสียเซลล์สมองหลายส่วน ผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อมจะมีปัญหาในการทำงานของสมองขั้นสูง 6 ด้าน คือ

  • ด้านสมาธิ
  • ด้านการคิด ตัดสินใจ 
  • ด้านความจำ
  • ด้านการใช้ภาษา
  • ด้านมิติสัมพันธ์
  • ด้านการเข้าสังคม 

โรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุกำลังจะเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของไทย กรมสุขภาพจิตพบว่าผู้สูงวัยในไทยสมองเสื่อมกันมากถึง 8 แสนกว่ารายในปัจจุบัน ปู่ย่าตายายของเราที่อายุ 80 ขึ้นไป กว่าร้อยละ 50 มักมีอาการสมองเสื่อม ลูกหลานต้องช่วยกันดูแลอย่างเป็นพิเศษด้วยความใจเย็น  

How to ดูแลผู้สูงอายุในบ้าน สังเกตอาการป้องกันโรคสมองเสื่อม

แพทย์หญิงรุ่งทิพย์ ชัยธีรกิจ แพทย์ชำนาญพิเศษด้านประสาทวิทยา ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลนครธน เผยถึงวิธีการสังเกตเบื้องต้นว่าลูกหลานสามารถช่วยกันสังเกตผู้สูงอายุที่บ้านได้ว่าเข้าข่ายภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ อาทิ

-ผู้สูงอายุมีอาการหลงลืม สับสนเรื่องเวลาหรือสถานที่อาจลืมว่าตอนนี้ตนอยู่ที่ใดและเดินทางมายังสถานที่นั้นได้อย่างไร?

-ไม่สามารถรับรู้หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

-ใช้ภาษาผิดปกติ

-บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง เช่น ซึมเศร้า เฉื่อยชา โมโหฉุนเฉียวง่ายโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน

พฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนการเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมของผู้สูงอายุในครอบครัว ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมจะสูญเสียการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนไปและมีการสูญเสียความจำระยะสั้น ย้อนกลับไปถามคำถามเดิมซ้ำๆ ทั้งที่เพิ่งพูดคุยกันภายใน 5-10 นาทีที่ผ่านมา มากกว่านั้น เกิดหลงทางขึ้นมาแม้เป็นเส้นทางที่ตนคุ้นเคยมาทั้งชีวิต ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการทางจิตประสาท เช่น หูแว่ว ภาพหลอน เข้าใจว่ามีคนคิดจะมาทำร้ายตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นความอันตรายให้กับผู้สูงอายุในระดับนึง

How to ดูแลผู้สูงอายุในบ้าน สังเกตอาการป้องกันโรคสมองเสื่อม

หากผู้สูงอายุมีอาการดังกล่าว แม้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ลูกหลานควรดูแลและพาผู้สูงอายุมาพบพร้อมปรึกษาแพทย์ทันที ทั้งนี้ โรคสมองเสื่อมสามารถป้องกันได้โดยควรกระตุ้นสมองให้ทำงานทั้ง 6 ด้าน ด้วยการทำกิจกรรมฝึกสมองบ่อย ๆ เช่น

  • ทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
  • ดูแลสุขภาพจิตให้ดี
  • ร่วมกิจกรรมทางสังคมที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
  • ทำงานอาสาสมัคร เข้าร่วมชมรมต่างๆ
  • ออกกำลังกาย
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • เดินในที่อากาศปลอดโปร่ง

กิจกรรมเหล่านี้ก็สามารถช่วยให้ผู้สูงอายุห่างไกลจากโรคสมองเสื่อมได้

How to ดูแลผู้สูงอายุในบ้าน สังเกตอาการป้องกันโรคสมองเสื่อม

การรักษา 

แพทย์จากศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลนครธน จะทำการซักประวัติเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความถดถอยด้านการทำงานของสมอง ทดสอบสมองเพื่อวัดสมรรถภาพการทำงานประเมินความบกพร่องในการรับรู้เพื่อใช้วินิจฉัยโรค ร่วมกับการตรวจร่างกายและเลือกการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสม เพื่อให้การวินิจฉัยแยกโรคที่ถูกต้องว่าผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมหรือไม่ และมีสาเหตุจากอะไร โดยการตรวจในห้องปฏิบัติการจะประกอบไปด้วย การตรวจเลือด การตรวจภาพสมองด้วยเครื่อง Computed Tomography (CT) หรือ Magnetic Resonance Imaging (MRI) การรักษาจะประกอบด้วยการให้ยาที่ทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นและชะลอการดำเนินโรคให้ช้าลง ซึ่งมักจะได้ผลกับผู้ป่วยในระยะเริ่มแรก ร่วมกับการให้ยารักษาอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองด้วยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อนเพิ่มความจำและความสามารถของสมอง เป็นต้น  

การมีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการดูแลผู้ป่วย เพราะเป็นงานหนักที่เหนื่อยทั้งกายและใจ ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลนครธน พร้อมให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม พร้อมให้ความรู้แก่ลูกหลานที่ต้องดูแลผู้สูงอายุในบ้าน มุ่งเน้นให้บริการตามมาตรฐานและการดูแลด้วยความใส่ใจ เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาด้านสมองและระบบประสาทมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีขึ้นไปพร้อม ๆ กัน โดยทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพ ที่มีความชำนาญการในการรักษาเฉพาะทาง ตลอดจนและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวสมองและระบบประสาทโดยเฉพาะ