posttoday

วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแต่ละแบบ

06 มิถุนายน 2564

มะเร็งเต้านม : แพทย์หญิงพรพรหม ตั้งคติขจรกิจ รังสีแพทย์เฉพาะทางด้านรังสีวิทยาวินิจฉัยขั้นสูงด้านเต้านมและรังสีร่วมรักษาของเต้านม โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมมาตรฐาน และการทำแมมโมแกรมดิจิทัล 3 มิติ

ยังคงครองสถิติการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งในผู้หญิงไทยติดต่อกันหลายปี สำหรับโรคมะเร็งเต้านม การตรวจคัดกรองด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) ร่วมกับอัลตราซาวน์เต้านมด้วยเครื่องที่มีความคมชัดสูง จึงมีความสำคัญ ทำให้พบเจอโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และมีโอกาสรักษาหายขาด

วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแต่ละแบบ

แพทย์หญิงพรพรหม ตั้งคติขจรกิจ รังสีแพทย์เฉพาะทางด้านรังสีวิทยาวินิจฉัยขั้นสูงด้านเต้านมและรังสีร่วมรักษาของเต้านม โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เป็นมาตรฐาน มีดังนี้

1. การคลำเต้านมด้วยตัวเอง เดือนละ 1 ครั้ง หลังจากประจำเดือนมาวันแรก 5-10 วัน

2. การทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวน์ คัดกรองมะเร็งเต้านมปีละ 1 ครั้ง ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป

สำหรับการทำแมมโมแกรม เป็นการตรวจที่ช่วยทำให้เห็นหินปูนที่มีความผิดปกติในเนื้อเต้านมได้ ขนาดเล็กถึงระดับมิลลิเมตร ซึ่งไม่สามารถเจอได้จากการคลำหรืออัลตราซาวน์ ดังนั้นการทำแมมโมแกรมจะมีประโยชน์ในการเห็นมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก และลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมได้มากถึง 30 %

ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเครื่องดิจิทัลแมมโมแกรมให้เป็นแบบ 3 มิติ (Digital breast tomosynthesis) ใช้เวลาถ่ายภาพเอกซเรย์เพียง 3.7 วินาทีต่อท่า และสามารถแยกก้อนเนื้อออกมาจากการทับซ้อนกันของเนื้อเต้านมได้ โดยเฉพาะในคนไข้ที่มีเนื้อเต้านมที่แน่น (dense breast) ส่งผลให้เห็นก้อนเนื้อหรือหินปูนที่ผิดปกติได้ชัดเจนขึ้นและยังได้ภาพที่ละเอียดมากกว่าเดิม นอกจากนี้ยังสามารถพบมะเร็งเต้านมได้ดีกว่าเครื่องแมมโมแกรม 2 มิติ

ส่วนการทำอัลตราซาวน์ จะทำให้เห็นก้อนเนื้อหรือถุงน้ำในเต้านมได้ หากพบว่ามีก้อนเนื้อจะสามารถบอกขนาดและขอบเขตของก้อนเนื้อได้ว่าเรียบร้อยดี หรือค่อนไปทางมะเร็ง ซึ่งจะช่วยให้วินิจฉัยได้ละเอียดและแม่นยำยิ่งขึ้น

หากพบว่ามีความผิดปกติในเต้านม สามารถเจาะชื้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัยได้ทันที โดยการฉีดยาชา ไม่ต้องดมยาสลบ มีแผลขนาดเล็กเท่ากับเข็ม เจ็บตัวน้อย และไม่ต้องนอนโรงพยาบาล การเจาะชิ้นเนื้อด้วยเข็ม (Core Needle biopsy) ในเต้านมสามารถทำได้ 2 วิธี คือ

1. Ultrasound-guided core needle biopsy คือ การเจาะโดยสอดเข็มผ่านผิวหนัง เพื่อไปยังก้อนที่เต้านม โดยแพทย์มองเห็นเข็มและก้อนเนื้ออย่างชัดเจน ผ่านทางจอภาพอัลตราซาวน์ ทำให้มั่นใจได้ว่าเจาะตรงตำแหน่งก้อนที่ต้องการ

2. Stereotactic-guided vacuum-assisted core needle biopsy คือการเจาะความผิดปกติที่เห็น ได้จากแมมโมแกรม เช่น หินปูนขนาดเล็ก โดยใช้คอมพิวเตอร์กำหนดพิกัดแบบ 3 มิติ ทำให้ได้พิกัดที่แม่นยำสูง และใช้เครื่องมือเจาะดูดชิ้นเนื้อแบบสุญญากาศ

การวินิจฉัยมะเร็งเต้านมนั้น ถ้ารู้ไว ก็สามารถรักษาได้ไว การตรวจเต้านมที่ โรงพยาบาลเวชธานีนั้น สามารถรู้ผลตรวจได้ภายในวันที่ทำการตรวจ สามารถเจาะชิ้นเนื้อได้ทันที ทำให้สะดวก และลดความกังวลใจของคนไข้ได้

“มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทย ยังไม่มีวิธีการป้องกันเหมือนมะเร็งบางชนิด ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ” แพทย์หญิงพรพรหม กล่าว