posttoday

ซีอิ๊วขาว-น้ำปลา-เกลือ ความเค็ม 3 อย่างต่างปริมาณโซเดียม

08 มีนาคม 2564

ไขข้อข้องใจคนชอบกินรสเค็มจนเต็มไต การปรุงอาหารด้วยซีอิ๊วขาว ดีกว่าน้ำปลาและเกลือจริงหรือไม่?

การดำรงชีวิตอยู่โดยปราศจากโรคภัยเป็นลาภอันประเสริฐ สุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรตระหนัก ปัจจุบันหลายคนหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องอาหาร เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าหากรับประทานอาหารดี มีประโยชน์ ถูกสุขอนามัยย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับการเลือกรับประทานอาหารหนึ่งในนั้นคือ การรับประทานซีอิ๊วขาวดีกว่าน้ำปลา จริงหรือไม่

คำตอบคือ...ไม่จริง

เพราะซีอิ๊วขาวและน้ำปลาเป็นผลิตภัณฑ์ปรุงแต่งอาหารให้เกิดรสเค็ม เนื่องจากมีการใช้เกลือซึ่งมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูงเมื่อเทียบกับปริมาณโซเดียมที่แนะนำให้บริโภคต่อวันไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม (สำหรับผู้ใหญ่สุขภาพดี)

  • ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 960 – 1,420 มิลลิกรัม
  • นํ้าปลา  1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 1,160 – 1,420 มิลลิกรัม
  • เกลือ 1 ช้อนชา มีโซเดียม 2,000 มิลลิกรัม

ซีอิ๊วขาว-น้ำปลา-เกลือ ความเค็ม 3 อย่างต่างปริมาณโซเดียม

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ทั้งซีอิ๊วขาว และน้ำปลามีปริมาณเกลือโซเดียมใกล้เคียงกันความปลอดภัยไม่ต่างกัน

ดังนั้น สามารถเลือกรับประทานซีอิ๊วขาว และน้ำปลาได้ไม่ต่างกัน ที่สำคัญคือระวังการรับประทานซีอิ๊วขาว น้ำปลา และเกลือบริโภครวมกันไม่ให้ปริมาณโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน และแนะนำให้อ่านฉลากเพื่อพิจารณาปริมาณโซเดียมที่จะได้รับก่อนรับประทาน เพราะหากได้รับโซเดียมมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการกระหายน้ำ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง และโรคไตได้ นอกจากนี้ ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนซื้อทุกครั้ง โดยสังเกตเครื่องหมาย อย. บนฉลาก

ข้อมูลโดย รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เผยว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการบริโภคโซเดียมลงให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2568  เพื่อลดโรคความดันโลหิตสูง และภาวะแทรกซ้อน แต่เนื่องจากข้อมูลการบริโภคโซเดียมในประชากรไทยนั้นมีจำกัดจึงทำให้เกิดงานวิจัย ชื่อ Estimated dietary sodium intake in Thailand: A nation-wide population survey with 24-hour urine collections (J Clin Hypertens. 2021;00:1–11.) 

โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะสาธารณสุขในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การอนามัยโลก(WHO) ได้นำไปตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension โดยเก็บข้อมูลการบริโภคโซเดียมในประชากรไทยทั่วประเทศกว่า 2,388 คน ด้วยวิธีการตรวจเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมง นำมาวิเคราะห์ปริมาณโซเดียมทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นวิธีการที่น่าเชื่อถือและแม่นยำที่สุดในขณะนี้

โดยตัวเลขที่ได้จากห้องปฏิบัติการจะถูกคำนวณรวมกับปริมาณโซเดียมที่ขับออกทางอื่นนอกเหนือจากปัสสาวะอีกร้อยละ 10  โดยงานวิจัยชิ้นนี้ มีกลุ่มตัวอย่างอาสาสมัครที่ได้เก็บข้อมูลได้อย่างครบถ้วนและผ่านเกณฑ์การเข้าร่วมวิจัยทั้งหมด 1,599 คน โดยมีอายุเฉลี่ย 43 ปี เป็นเพศหญิงร้อยละ 53 และมีภาวะความดันโลหิตสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 30 โดยค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา ซึ่งผลการวิจัยพบปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยสูงที่สุดในประชากรภาคใต้จำนวน 4,108 มก./วัน รองลงมาคือภาคกลาง จำนวน 3,760 มก./วัน,  ภาคเหนือจำนวน 3,563 มก./วัน, กรุงเทพมหานครจำนวน 3,496 มก./วันและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน  3,316 มก./วัน ตามลำดับ

ซีอิ๊วขาว-น้ำปลา-เกลือ ความเค็ม 3 อย่างต่างปริมาณโซเดียม

วิธีการลดการบริโภคโซเดียมในชีวิตประจำวันได้อย่างไร

1. ชิมอาหารก่อนปรุงทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการเติมเครื่องปรุงรสเค็มเพิ่ม เช่น น้ำปลา ซีอิ้วขาว เกลือ ซอสต่าง ๆ

2. เลือกรับประทานอาหารสด หรืออาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด

3. ปรุงอาหารด้วยตนเอง ควรลดปริมาณเครื่องปรุงรสในอาหาร เช่น น้ำปลา ซอสปรุงรส ซีอิ้ว น้ำมันหอย ผงชูรส และควรตวงก่อนปรุงรสทุกครั้ง

4. ลดใช้เครื่องปรุงในอาหาร เช่น ผงปรุงรส น้ำปลา เกลือ ซีอิ้ว ซอสปรุงรส เต้าเจี้ยว

5. อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้ง เลือกอาหารที่มีโซเดียมน้อยที่สุด

6. หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

7. ใช้รสชาติอื่นทดแทน เช่น รสเปรี้ยว และรสเผ็ด

8. ใช้สมุนไพรเป็นเครื่องเทศ แต่งกลิ่นหอมของอาหาร

9. ระวังเกลือที่ซ่อนอยู่ในอาหาร อย่างเช่น ผงฟู ผงปรุงรส ผงชูรส