posttoday

Low fat - Low carb เลือกอย่างไหนดีกว่ากัน?

07 กุมภาพันธ์ 2564

“อาหารโลว์แฟต” ไขมันต่ำที่มีพืชผักเป็นหลัก (Low fat-plant based diet) หรือ “อาหารโลว์คาร์บ” แป้งต่ำมีเนื้อสัตว์เป็นหลัก (Low carb-animal based diet) เลือกอย่างไหนดีกว่ากัน?

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้เรื่องอาหารโลว์แฟตเทียบกับอาหารโลว์คาร์บ ใน Dr.Winai Dahlan ดังนี้  

ถกเถียงกันมานานว่าในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเบาหวานประเภทที่สอง ซึ่งมักมีปัญหาน้ำหนักตัวสูงมาก่อน จะเลือกใช้ “อาหารโลว์แฟต” หรืออาหารไขมันต่ำที่มีพืชผักเป็นหลัก (Low fat-plant based diet หรือ LFPB) หรือ “อาหารโลว์คาร์บ” แป้งต่ำมีเนื้อสัตว์เป็นหลัก (Low carb-animal based diet หรือ LCAB) อย่างไหนดีกว่ากัน

หากเป็นยุคก่อน ข้อแนะนำคือ ให้เลือกบริโภคอาหารไขมันต่ำเพื่อหาทางลดน้ำหนักตัวลง เพราะอาหารไขมันคือศัตรูตัวฉกาจของคนอ้วนลดไขมันลงแล้วทดแทนพลังงานที่ขาดไปด้วยอาหารที่เป็นพืชผักรวมทั้งธัญพืช ทำให้สัดส่วนของคาร์โบไฮเดรตที่มาจากธัญพืชเพิ่มขึ้น

มาถึงยุคใหม่ ข้อแนะนำเปลี่ยนแปลงไป โดยแนะนำให้ลดคาร์โบไฮเดรตหรืออาหารประเภทแป้งลง เพราะรู้ว่าอาหารประเภทแป้งเป็นตัวกระตุ้นฮอร์โมนอินสุลิน และอินสุลินคือปัญหาของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น อาหารที่แนะนำจึงเป็นอาหาร “โลว์คาร์บ” พลังงานจากแป้งที่ลดลงทดแทนด้วยเนื้อสัตว์ซึ่งมักมีไขมันและโปรตีนสูง อาหารประเภทนี้นิยมบริโภคกันมากในระยะหลัง อาหารทั้งสองประเภทนี้ต่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากอยากรู้ว่าอย่างไหนดีกว่ากันจำเป็นต้องทำการวิจัยทดลองทางคลินิก

ศ.นพ.เควิน ดี ฮอลล์ (Kevin D Hall) สถาบันแห่งชาติด้านเบาหวานและโรคระบบย่อยอาหารและไต (National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases) เมืองเบเธสดา รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และทีมงานทำการศึกษาเปรียบเทียบอาหารทั้งสองกลุ่มนี้จากนั้นนำผลงานออกมาตีพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine เดือนมกราคม ค.ศ.2021 ที่ผ่านมานี้เอง เราลองไปดูกัน

Low fat - Low carb เลือกอย่างไหนดีกว่ากัน?

อาหารไขมันต่ำ หรือ LFPB มีพลังงานจากไขมัน 10.3% ขณะที่พลังงานจากคาร์โบไฮเดรต 75.2% ส่วนอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ เนื้อสัตว์เป็นหลักหรือ LCAB ได้รับพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตเพียง 10% ในขณะที่พลังงานที่มาจากไขมันมีมากถึง 75.8% อาหารทั้งสองกลุ่มมีพลังงานจากโปรตีนเท่ากันคือ 14%

อาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองมีจำนวน 20 คนเป็นชาย 11 คน หญิง 9 คน ไม่มีปัญหาเบาหวาน ให้ทั้งสองกลุ่มเลือกกินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งนาน 2 สัปดาห์จากนั้นจึงสลับไปกินอาหารอีกชนิดหนึ่งนาน 2 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่าในช่วงกินอาหารไขมันต่ำหรือ LFPB คนกลุ่มนี้กินอาหารได้รับพลังงานต่ำกว่ากลุ่ม LCAB 550-700 กิโลแคลอรีต่อวัน โดยไม่ได้รู้สึกหิวมากขึ้น แต่แม้จะได้พลังงานน้อยกว่าทว่ามีระดับอินสุลินและน้ำตาลในเลือดสูงกว่า

ทั้งสองกลุ่มมีน้ำหนักตัวลดลง แต่กลุ่ม LCAB หรือโลว์คาร์บ มีการสะสมไขมันในร่างกายมากกว่า ทีมวิจัยไม่ได้ให้ข้อสรุปว่าอาหารกลุ่มไหนดีกว่ากลุ่มไหน แต่ดูจากผลการทดลอง ในกรณีผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องการลดน้ำตาลและอินสุลินในเลือดลง การเลือกอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ LCAB ให้ผลดีกว่า ทว่า ต้องระวังเรื่องการสะสมไขมันในร่างกายไว้หน่อย อาจใช้วิธีเพิ่มโปรตีนขึ้นจาก 14% เป็น 20% ซึ่งอาจช่วยให้การสะสมไขมันในร่างกายไม่สูงเกินไป น่าเสียดายที่งานทดลองนี้ไม่มีการศึกษาผลของอาหารโปรตีนสูงพร้อมกันไปด้วย