posttoday

ทำอย่างไรให้ห่างไกลโรคเส้นเลือดในสมองตีบ

02 พฤศจิกายน 2563

เคยเห็นไหมที่บางคนอยู่ๆ ก็แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก เดินไม่ได้ มุมปากตก พูดไม่ชัด ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่นาทียังทำทุกสิ่งอย่างได้ปกติอยู่เลย คิดแล้วก็น่ากลัว ถ้าเป็นกับตัวเองขึ้นมาจะทำอย่างไรดี

อาการเหล่านี้คือข้อบ่งชี้ว่าเป็นโรค “เส้นเลือดในสมอง” ข้อมูลโดย นายแพทย์กานต์ ศักดิ์ศรชัย อายุรแพทย์ระบบประสาทสมอง โรงพยาบาลพญาไท 2 เผยว่า เกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ทำให้สมองส่วนนั้นหยุดการทำงาน โดยจะมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นทันทีทันใด ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ ซึ่งพบว่าเกิดจากเส้นเลือดในสมองตีบ 70–80 เปอร์เซ็นต์ และเกิดจากเส้นเลือดสมองแตก 20–30 เปอร์เซ็นต์

โรคเส้นเลือดในสมองตีบเกิดได้กับใครบ้าง

โดยส่วนมากกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบคือกลุ่มผู้สูงวัย ยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสที่จะเป็นก็มากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ เฉลี่ยแล้วช่วงอายุที่พบโรคนี้บ่อยที่สุดในคนไทยคือ 65 ปี แต่ก็ใช่ว่าเด็ก วัยรุ่น และคนวัยทำงานจะไม่มีโอกาสเสี่ยงเลย เพราะจริงๆ แล้วเส้นเลือดในสมองตีบสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย โดยพบว่าตามสถิติ "เพศชาย" จะมีโอกาสเกิดโรคได้มากกว่า "เพศหญิง" รวมถึงถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง มีประวัติสูบบุหรี่ และนอนกรนก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบได้มากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ ยังพบว่าในคนที่มีภาวะเลือดแข็งตัวง่ายกว่าปกติก็มีโอกาสเกิดโรคมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ทำอย่างไรให้ห่างไกลโรคเส้นเลือดในสมองตีบ

อาการ

อย่างที่บอกว่าอาการที่ฟ้องว่าเส้นเลือดในสมองตีบมีหลากหลายอาการ ส่วนใหญ่คือปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ซึ่งมีทั้งแบบชั่วคราวคืออาการดังกล่าวหายไปได้เองภายใน 1 วัน และแบบถาวรคือเป็นแล้วเป็นเลย จนกลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ในที่สุด และหากอาการรุนแรงถึงขั้นเนื้อสมองบวมมาก ผู้ป่วยอาจจะซึมลงและเสียชีวิตได้ ซึ่งในประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดในสมองอยู่ที่ประมาณ 43.3 คนต่อประชากร 1 แสนคนต่อปี ดังนั้นหากมีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้น ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะหากชักช้าไม่รีบไปหาหมอ สมองของคุณจะถูกทำลายมากขึ้นในทุกวินาที

การรักษา

ถ้ามีอาการแล้วไปถึงโรงพยาบาลภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง แพทย์จะสามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อสลายลิ่มเลือดที่อุดตันให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น แต่หากไปถึงมือแพทย์ช้ากว่านั้นต้องวินิจฉัยและพิจารณาการรักษาตามสาเหตุและอาการ ซึ่งหลังการรักษา ในบางรายอาจจะหายเป็นปกติได้ แต่บางรายก็อาจจะเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาต ต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมองและร่างกายให้กลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติที่สุด

ทำอย่างไรให้ห่างไกลโรคเส้นเลือดในสมองตีบ

การป้องกัน

เมื่อรู้ถึงความน่ากลัวของโรคนี้แล้วไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง ก็ต้องดูแลและรักษาสุขภาพให้ดี โดยสามารถป้องกันเบื้องต้นได้ง่ายๆ ด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่กล่าวมา พยายามลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน งดสูบบุหรี่ และต้องดูแลตัวเองให้ดีทั้งในเรื่องของอาหารการกิน การพักผ่อน และการออกกำลังกาย

เรื่องอาหารคุณหมอแนะนำให้รับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเน้นอาหารที่มีกากใยสูงและไขมันต่ำ อย่างพวกผัก ผลไม้ ธัญพืช เนื้อปลา ฯลฯ ส่วนการพักผ่อนและออกกำลังกาย เพียงแค่ปฏิบัติให้พอดีและเหมาะสมต่อร่างกายแต่ละคนก็เพียงพอแล้ว ที่สำคัญคือควรตรวจสุขภาพทุกปี จะช่วยป้องกันความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง สำหรับการตรวจเฉพาะทางนั้นในผู้ที่มีความเสี่ยงของการเกิดโรคอาจตรวจคราบไขมันที่คอด้วยวิธีอัลตราซาวนด์ ซึ่งถ้าพบว่าคราบไขมันสะสมเยอะ โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นเส้นเลือดในสมองตีบก็มีมาก

ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องจำไว้ให้ดีว่า หากมีอาการแขนขาอ่อนแรง มุมปากตก ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด ต้องรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะชีวิตของคุณขึ้นอยู่กับระยะเวลาเหล่านั้น ยิ่งได้รับการรักษาเร็วก็จะยิ่งมีโอกาสหายเป็นปกติ ลดความเสี่ยงในการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และการเสียชีวิตได้มากขึ้นด้วย

ภาพ freepik.com