posttoday

เสี่ยงตายกะทันหัน หากเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดช้าแบบไม่รู้ตัว

25 ตุลาคม 2563

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด ระบุไม่ใช่เรื่องปกติ หากมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น หน้ามืด วูบ เป็นลม หมดสติบ่อยๆ เพราะเสี่ยงเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดช้า ปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตกะทันหันได้

หลายครั้งที่ผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะไม่รู้ตัวเองว่าเป็นโรคดังกล่าว และมาถึงมือแพทย์ด้วยอาการหมดสติหรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตแบบกะทันหัน

สำหรับหัวใจของคนปกติทั่วไปจะมีอัตราการเต้นอยู่ที่ 50–100 ครั้งต่อนาที หากมีอัตราการเต้นที่ช้าหรือเร็วกว่านี้ ถือว่าอยู่ในภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือชนิดเร็วและช้า ซึ่งชนิดช้ามีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูง

เสี่ยงตายกะทันหัน หากเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดช้าแบบไม่รู้ตัว

นายแพทย์ปริวัตร เพ็งแก้ว อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด เฉพาะทางด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดช้า (Sinus node disease และ Atrioventricular block : AV block หรือ Heart block) คือการที่หัวใจห้องบนไม่ทำงานหรือห้องบนและห้องล่างเต้นไม่สัมพันธ์กัน จนทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่า 50 ครั้งต่อนาที ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวมาก่อนว่าเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดช้า โดยมากจะพบจากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือมาพบแพทย์ด้วยอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น วูบ หน้ามืด เป็นลม หมดสติ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตแบบกะทันหัน

“การวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดช้าสามารถทำได้หลายวิธี แพทย์จะเริ่มตั้งแต่การซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram : EKG) ตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดพกพา 24-48 ชั่วโมง (24-48 hour Holter Monitoring) หรืออาจต้องใช้วิธีการตรวจหัวใจด้วยเตียงปรับระดับ (Title Table Test) หากมีภาวะเป็นลมหมดสติ ทั้งนี้วิธีการตรวจต่างๆ จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์และความรุนแรงของอาการที่ผู้ป่วยเป็น” นายแพทย์ปริวัตร กล่าว

ส่วนการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดช้านั้น แพทย์จะค้นหาสาเหตุของโรคก่อน ซึ่งสาเหตุส่วนมากคือผู้ป่วยมีประวัติการรับประทานยา โดยเฉพาะยารักษาโรคความดันโลหิต ยารักษาโรคหัวใจ รวมถึงสาเหตุจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วย ซึ่งแพทย์จะแก้ไขที่สาเหตุเพื่อให้หัวใจของผู้ป่วยกลับมาเต้นในอัตราปกติ นอกจากนี้โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดช้ายังสามารถเกิดได้โดยไม่มีสาเหตุ แพทย์จะรักษาด้วยการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker) ซึ่งจะช่วยให้หัวใจกลับมาเต้นในอัตราปกติ

ทั้งนี้ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดช้า หากตรวจพบช้าหรือผู้ป่วยปล่อยอาการทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้ง่าย ดังนั้น นอกจากควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งแล้ว ยังควรสังเกตอาการตัวเองอย่างสม่ำเสมอ หากมีความผิดปกติ ไม่ว่าจะเหนื่อยง่าย ใจสั่น หน้ามืด หรือเป็นลมบ่อย ก็ควรรีบมาพบแพทย์ทันที