posttoday

โรคอ้วนในเด็ก น่ารักแต่อันตราย

30 กันยายน 2563

ผศ.พญ.อรพร ดำรงวงศ์ศิริ สาขาวิชาโภชนวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ เผย “เด็กอ้วนคือเด็กน่ารัก แต่รู้หรือไม่ว่า โรคอ้วนในเด็กคือความน่ารักที่แฝงด้วยอันตราย”

ผู้ใหญ่หลายคนมักจะคิดว่า “เด็กอ้วน” คือเด็กน่ารัก น่ากอด แต่หารู้ไหมว่าความน่ารักที่มาจากความอ้วนนั้นอาจไม่เป็นผลดีเท่าไรนัก เพราะถ้าปล่อยให้เด็กอ้วนต่อไปเรื่อยๆ ในระยะยาวจะมีปัญหาสุขภาพมากมายตามมา จากสถิติพบว่ามีเด็กทั่วโลกเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น 2-3 เท่ามาตั้งแต่ปี 1980 และไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

โรคอ้วนในเด็ก น่ารักแต่อันตราย

ข้อมูลโดย ผศ.พญ.อรพร ดำรงวงศ์ศิริ สาขาวิชาโภชนวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยสาเหตุของโรคอ้วนในเด็กนั้นมีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน เช่น

  • การบริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยอาหารฟาสต์ฟู้ด มีพลังงานสูง
  • พฤติกรรมการออกกำลังกายไม่สมดุลกับพลังงานที่ได้รับในแต่ละวัน

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้ลูกของคุณห่างไกลจากโรคอ้วนในเด็กได้ ด้วยการดูแลอาหารการกินของลูกให้ถูกต้องตามโภชนาการ

อันตรายจากโรคอ้วนในเด็ก

โรคอ้วนในเด็กมีผลเสียต่อสุขภาพหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง โรคไขมันในเลือดสูง ซึ่งหลายคนอาจจะเข้าใจว่านี่คือโรคที่พบในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วโรคเหล่านี้สามารถพบได้ในคนอายุน้อยๆ ที่มีภาวะโรคอ้วนอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ในระบบทางเดินหายใจได้แก่ ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ ส่งผลเสียถึงการนอนที่ไม่เพียงพอและส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็กด้วยเช่นกัน ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่

รวมไปถึงเด็กๆ อาจมีผลกระทบทางด้านจิตใจ เช่น การถูกเพื่อนล้อ ถูกบูลลี่เรื่องรูปลักษณ์ จนทำให้เกิดความเครียดและอาจเป็นโรคทางจิตเวชได้

โรคอ้วนในเด็ก น่ารักแต่อันตราย

สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำเพื่อลูกน้อย

- ควบคุมปริมาณอาหารของลูก ให้รับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยเป็นประจำ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เช่น ของทอด ขนมหวาน ขนมขบเคี้ยวที่ไม่มีประโยชน์ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล น้ำอัดลม

- ให้ลูกทำกิจกรรมที่ได้ขยับร่างกายและออกกำลังกายไปในตัวอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ไม่ปล่อยให้อยู่หน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ ทีวี ไอแพด แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ เป็นเวลานาน โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุ 2-5 ขวบ ไม่ควรให้ดูเกินครึ่งชั่วโมงต่อวัน

- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของลูกให้มีการเคลื่อนไหวมากขึ้น เช่น ฝึกการเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ ฝึกทำงานบ้านง่าย ๆ

- พาลูกเข้านอนให้เป็นเวลาและนอนให้เพียงพอ เพราะการนอนดึกหรือนอนน้อยนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งของความอ้วน