posttoday

‘หมอมนูญ’ แนะคนเยี่ยม-คนเฝ้าไข้ ‘โรเบิร์ต สายควัน’ ตรวจวัณโรคปอด ระบุโรคนี้ติดต่อได้ง่าย

22 กันยายน 2563

นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ โพสต์แนะนำให้ผู้ที่เยี่ยมหรือเฝ้าไข้ “โรเบิร์ต สายควัน” ตรวจหาวัณโรคปอด เผยโรคนี้สามารถแพร่เชื้อได้ง่ายและไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย

สืบเนื่องจากกรณี นายไพฑูรย์ พุ่มรัตน์ หรือโรเบิร์ต สายควัน ดาวตลกชื่อดัง เสียชีวิตลงด้วยอาการป่วยเป็นโรควัณโรคปอด เพจ "หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC" นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจผู้ป่วยหนักและโรคผู้สูงอายุประจำที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์แนะนำให้ผู้ที่เยี่ยมหรือเฝ้าผู้ป่วยวัณโรคปอดหวั่นว่าจะติดเชื้อวัณโรคได้ โดยระบุว่า

‘หมอมนูญ’ แนะคนเยี่ยม-คนเฝ้าไข้ ‘โรเบิร์ต สายควัน’ ตรวจวัณโรคปอด ระบุโรคนี้ติดต่อได้ง่าย

..."ข่าวดาวตลกดัง โรเบิร์ต สายควัน ที่ป่วยเป็นมะเร็งปอดเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล แพทย์ตรวจไม่พบมะเร็งปอดแล้ว แต่พบเชื้อวัณโรคปอดแทน เสียชีวิต ทำให้คนที่ไปเยี่ยมศิลปินตลก วิตกกังวลว่าจะติดเชื้อวัณโรคหรือไม่ มีข้อมูลผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรคแต่ไม่ได้รับการรักษา จะกระจายให้ผู้อื่นอีก 10-15 คนต่อปี

วัณโรคส่วนใหญ่เป็นที่ปอด เชื้อวัณโรคในปอดแพร่กระจายออกมาในอากาศเวลาผู้ป่วยพูด ไอ จาม เชื้อลอยในอากาศ มีชีวิตหลายชั่วโมง การติดเชื้อไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เพียงแต่หายใจเอาอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อวัณโรคเข้าถุงลม แล้วเชื้อทะลุเข้าหลอดเลือด กระจายไปตามอวัยวะต่างๆ

วัณโรคติดต่อกันทางการหายใจ ไม่ติดต่อทางการสัมผัส ทางอาหาร ไม่จำเป็นต้องแยกจาน ภาชนะ

การจะรับเชื้อวัณโรคหรือไม่ขึ้นอยู่กับ

1. ผู้ป่วยวัณโรคอยู่ในระยะแพร่เชื้อหรือไม่ ถ้าพบเชื้อวัณโรคในเสมหะ โอกาสการแพร่เชื้อได้มาก

2. ผู้ป่วยได้รับยารักษาวัณโรคหรือไม่ ถ้าได้กินยารักษาวัณโรคติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์ โอกาสการแพร่เชื้อลดลง

3. อยู่ในสถานที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่ดี ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ทำให้เชื้อลอยอยู่ในอากาศนานหลายๆชั่วโมง โอกาสการแพร่เชื้อสูง

4. ผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่ ถ้าใส่โอกาสการแพร่เชื้อลดลงกว่าครึ่ง

5. คนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่ ถ้าใส่โอกาสการรับเชื้อลดลง

ถ้าหายใจรับเชื้อวัณโรคเข้าไป คนปกติอย่างมากร้อยละ 5 จะป่วยเป็นโรควัณโรค ซึ่งต้องใช้เวลานาน 1-2 ปี ที่เหลือจะมีวัณโรคแฝงอยู่ในตัวโดยร่างกายควบคุมเชื้อวัณโรคให้สงบในอวัยวะต่างๆโดยที่เชื้อยังไม่ตาย มีเพียงร้อยละ 5 เชื้อวัณโรคที่เคยสงบนิ่งอยู่ในร่างกาย จะกำเริบป่วยเป็นวัณโรคด้วยอัตราต่ำกว่า 0.3% ต่อปีในภายหลัง การตรวจสอบว่าเชื้อวัณโรคเข้าร่างกายหรือยัง ตรวจสอบได้โดย

1. การฉีดทูเบอร์คูลินเข้าใต้ผิวหนังและอ่านปฏิกิริยาของทูเบอร์คูลินภายใน 48 ถึง 72 ชั่วโมง การแปลผลลำบาก เพราะคนไทยเคยรับวัคซีนบีซีจี ป้องกันวัณโรคตอนแรกเกิด

2. เจาะเลือดตรวจหาวัณโรคแฝง ข้อจำกัดราคาแพง

ทั้ง 2 วิธี ต้องใช้เวลานานถึง 2-3 เดือน กว่าจะให้ผลบวก ไม่ใช่รับเชื้อวันนี้ อีก 1 สัปดาห์ให้ผลบวก 1 ใน 3 ของคนไทยประมาณ 20 ล้านคนมีวัณโรคแฝงอยู่ในตัวโดยไม่มีอาการ และไม่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ส่วนใหญ่แพทย์จะไม่ทำอะไร ยกเว้น คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยโรคเอดส์ คนในครอบครัวของผู้ป่วย เด็กเล็ก คนที่มีประวัติอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย แพทย์จะให้ยากินป้องกันเพื่อไม่ให้ป่วยเป็นวัณโรคในภายหลัง ก่อนให้ยาป้องกัน ต้องทำเอกซเรย์ปอด และแน่ใจว่าไม่ได้กำลังป่วยเป็นวัณโรค"

ที่มา :  https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1746330355533721&id=604030819763686