posttoday

6 โรคเสี่ยงเพียงเพราะปวดท้องประจำเดือนบ่อยๆ

16 สิงหาคม 2563

สูตินรีแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนรีเวช เผยปวดประจำเดือนรุนแรงหรือเรื้อรังนานๆ เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง พร้อมแนะวิธีแก้อาการปวดประจำเดือน

ข้อมูลโดย พญ.สุขุมาลย์ สว่างวารี สูตินรีแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนรีเวช รพ.พญาไท 1 ระบุ อาการปวดประจำเดือน เป็นอาการที่พบได้บ่อยในวัยเจริญพันธุ์ โดยแต่ละช่วงอายุก็พบมากน้อยต่างกันไปอยู่ที่ประมาณ 20-90 เปอร์เซ็นต์ ภาวะผิดปกติที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน โดยทั่วไปจะเริ่มตั้งแต่ปีแรกของการมีประจำเดือน ในกรณีที่ไม่มีโรคร่วมอย่างอื่นอาการปวดมักดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น หรือหลังการมีบุตร

โดยทั่วไปดังที่ได้กล่าวมาแล้ว อาการปวดประจำเดือนแบบปฐมภูมิอาการมักไม่รุนแรง ในกรณีที่มีอาการปวดรุนแรงหรือเรื้อรัง ส่วนใหญ่มักเป็นอาการปวดประจำเดือนทุติยภูมิ ซึ่งสาเหตุการเกิดได้แก่ 

6 โรคเสี่ยงเพียงเพราะปวดท้องประจำเดือนบ่อยๆ

1. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)

เป็นโรคหรือภาวะที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกเกิดขึ้นที่อวัยวะอื่นหรือบริเวณอื่นที่ไม่ใช่ภายในโพรงมดลูก โดยเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกจะมีการตอบสนองต่อฮอร์โมนในร่างกายตามรอบประจำเดือนเหมือนเซลล์ที่อยู่ในโพรงมดลูกที่จะมีประจำเดือนออกมาทุกรอบเดือน ดังนั้น หากมีเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ในตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะที่รังไข่ หรือเยื่อบุช่องท้องน้อย ก็จะทำให้มีเลือดคั่ง กลายเป็นถุงน้ำที่เรียกว่าถุงน้ำช็อกโกแลต (chocolate cyst) หรือ มีเลือดออกในช่องท้อง ก็จะมีอาการปวด ระคายเคืองในท้องน้อย ปวดท้องประจำเดือนมากขึ้น และเซลล์ดังกล่าวสามารถก่อให้เกิดพังผืดในช่องท้องได้ ทำให้มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง ปวดท้องน้อยขณะตรวจภายใน และปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ได้ นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยากในอนาคตด้วย

ในกรณีที่เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตเข้ากล้ามเนื้อมดลูก เรียกว่า Adenomyosis ยังทำให้เกิดมดลูกโต ประจำเดือนมามาก ปวดท้องน้อยมากขณะมีประจำเดือน บางรายมีอาการท้องโตขึ้นหรือบวมมากขึ้นก่อนมีประจำเดือน เนื่องจากมีเลือดออกในกล้ามเนื้อมดลูก 

2. เนื้องอกมดลูก โดยเฉพาะเนื้องอกมดลูกชนิดใต้เยื่อบุโพรงมดลูก (Submucous myoma)

เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายของมดลูกที่พบได้บ่อย จากการรายงานผลทางพยาธิวิทยาพบเนื้องอกในมดลูกที่ได้รับการผ่าตัดมากถึง ร้อยละ 80 แต่สำหรับเนื้องอกที่ก่อให้เกิดอาการพบประมาณ 12-25 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น โดยเนื้องอกชนิดใต้เยื่อบุโพรงมดลูกพบได้ร้อยละ 5-10 ของโรคนี้ เนื้องอกชนิดนี้จะทำให้มดลูกบีบตัวมากขึ้น เพื่อขจัดสิ่งที่ขัดขวางการหดรัดตัวภายในโพรงมดลูก จึงเป็นสาเหตุให้มีอาการปวดประจำเดือนมากขึ้น

3. ห่วงอนามัย

เนื่องจากห่วงอนามัยจำเป็นต้องใส่ไว้ภายในโพรงมดลูก จึงเป็นสาเหตุให้มดลูกบีบตัวมากขึ้น นอกจากนี้อาจทำให้เกิดพังผืดในมดลูกได้ด้วย

4. การมีพังผืดในช่องท้อง

พังผืดนี้อาจเกิดจากผลของการผ่าตัดคลอด หรือประวัติการผ่าตัดเข้าช่องท้องมาก่อน หรือการอักเสบในอุ้งเชิงกรานและช่องท้อง ก่อให้เกิดพังผืดที่มีการดึงรั้งมดลูก ขณะที่มดลูกบีบตัวในขณะมีประจำเดือน ก็ทำให้อาการปวดประจำเดือนเป็นมากขึ้น หรือบางครั้งอาจปวดท้องน้อยเรื้อรังโดยไม่สัมพันธ์กับประจำเดือนก็ได้

5. ปากมดลูกตีบ (Cervical stenosis)

เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เลือดประจำเดือนไหลออกจากโพรงมดลูกได้ไม่สะดวก ทำให้มดลูกบีบตัวมากขึ้น ทำให้ปวดประจำเดือนมากขึ้นได้

6. ความผิดปกติของโครงสร้างทางกายภาพในอวัยวะสืบพันธุ์ (Obstructive malformation of the genital tract)

โครงสร้างที่ผิดปกติอาจทำให้ประจำเดือนไหลออกมาไม่ได้ ทำให้ปวดประจำเดือนมากขึ้นได้

นอกจากนี้ ยังพบสาเหตุอื่นๆ ที่อาจทำให้มีอาการปวดประจำเดือนรุนแรงเรื้อรัง ได้แก่ ภาวะเนื้องอกรังไข่ Ovarian  neoplasm, ภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis), การตั้งครรภ์, เนื้องอกมดลูกชนิดต่างๆ, Adrenal Insufficency and Adrenal Crisis, การติดเชื้ัอในทางเดินปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะอักเสบ, ท้องนอกมดลูก ลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease, Irritable Bowel Syndrome), อุ้งเชิงกรานอักเสบ เป็นต้น

วิธีแก้อาการปวดประจำเดือน ทำอย่างไรได้บ้าง?

เมื่อปวดประจำเดือน มีวิธีการรักษาและดูแลผู้ป่วย 4 วิธี ดังนี้

  1. การรักษาโดยไม่ใช้ยา สำหรับผู้ที่มีอาการน้อย  ได้แก่ การออกกำลังกาย  การฝังเข็ม และการกระตุ้นเส้นประสาท หรือใช้การประคบร้อน
  2. การรักษาด้วยยา (Medical therapeutic options) การรักษาด้วยยาแบ่งเป็น ยากลุ่มที่ไม่ใช่ฮอร์โมน และยากลุ่มฮอร์โมน
  3. การรักษาด้วยการผ่าตัด
  4. การรักษาด้วยการแพทย์ผสมผสานและแพทย์ทางเลือก 

ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ปวดประจำเดือน

อาการปวดประจำเดือนเป็นภาวะที่พบได้บ่อยและเกิดขึ้นได้ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ทุกคน อาการมากบ้างน้อยบ้าง แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงหรือเรื้อรังอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่างๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเฉพาะ ดังนั้น สตรีที่มีอาการผิดปกติ ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางเพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป