posttoday

เบาหวานขึ้นตา ภาวะแทรกซ้อนที่ป้องกันได้

02 สิงหาคม 2563

โรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ภัยเงียบที่มากับโรคเบาหวาน ผู้เชี่ยวชาญแนะเป็นภาวะป้องกันได้แค่ตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ

ในประเทศไทย โรคเบาหวาน ถือเป็นอีกหนึ่งโรคยอดฮิตที่พบผู้ป่วยมากเป็นอันดับต้นๆ ครอบคลุมทุกเพศทุกวัย รวมถึงผู้ที่ละเลยการดูแลสุขภาพ  ประกอบกับภาวะตึงเครียดในการดำรงชีวิตอยู่เป็นประจำ  ยิ่งทำให้ร่างกายเหนื่อยล้ามากขึ้นจนร่างกายมีการหลั่งฮอร์โมนบางชนิดออกมาจนไปกระตุ้นให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน  

เบาหวานขึ้นตา ภาวะแทรกซ้อนที่ป้องกันได้

ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเบาหวานจำนวนมากถึงห้าล้านคนในประเทศไทย  และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง  นอกจากนี้ หากผู้ป่วยโรคเบาหวานดูแลตัวเองได้ไม่ดีพอ  มักจะส่งผลจนก่อให้เกิดภาวะโรคแทรกซ้อนตามระบบและอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้ก็คือ “ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา”  (Diabetic Retinopathy: DR) นั่นเอง  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบที่เกิดจากโรคเบาหวานที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย

เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มักจะละเลยการตรวจสายตาและการมองเห็นอย่างสม่ำเสมอ  และยิ่งเพิกเฉยเมื่อร่างกายยังไม่ได้แสดงอาการบกพร่องใดๆ โดยเฉพาะการมองเห็น  ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่นำไปสู่ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้  ดังนั้นผู้ป่วยและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดควรได้รับความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาวะเบาหวานขึ้นตา เพื่อเป็นการป้องกันและดูแลอย่างเหมาะสมก่อนที่จะเกิดอาการจนยากต่อการรักษา

เบาหวานขึ้นตา ภาวะแทรกซ้อนที่ป้องกันได้

รศ.พญ.โสมศิริ สุขะวัชรินทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจอประสาทตาและม่านตาอักเสบ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา หรือที่มักเรียกกันว่า ‘โรคเบาหวานขึ้นตา’ คือภาวะแทรกซ้อนทางตาที่เกิดจากโรคเบาหวานทำให้เกิดอาการตามัว และสามารถส่งผลร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้ เป็นผลจากการที่ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ โดยเกิดจากตับอ่อนสร้างอินซูลินได้ไม่เพียงพอ ซึ่งอินซูลินมีหน้าที่นำน้ำตาลกลูโคสจากกระแสเลือดเข้าสู่เซลล์ร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงาน เมื่อมีภาวะขาดอินซูลินทำให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลค้างอยู่ในกระแสเลือดเป็นจำนวนมาก ทำให้หลอดเลือดเกิดความผิดปกติ ส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายรวมถึงดวงตา โดยเฉพาะที่จอตา มีการรั่วซึมของเลือดและน้ำเหลืองออกจากหลอดเลือดกระจายทั่วในจอตา มีการอักเสบเกิดขึ้นตามมา จนมีภาวะอุดตันของหลอดเลือด ส่งผลให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ ทำให้เกิดภาวะจอตาขาดเลือด มีการตายของเซลล์จอตา  

ซึ่งจากสถิติผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศไทย พบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานตั้งแต่อายุน้อยช่วงอายุ 10-15 ปี หรือเบาหวานประเภทที่ 1 มีโอกาสมีภาวะเบาหวานขึ้นตาได้มากถึงร้อยละ 98 และผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป หรือเบาหวานประเภทที่ 2 มีโอกาสมีภาวะเบาหวานขึ้นตาได้มากถึงร้อยละ 60 โดยสามารถพบได้ทั้งเพศหญิงและเพศชายในอัตราเท่าๆกัน

อาการของโรคเบาหวานขึ้นตา

โดยทั่วไปในระยะแรกผู้ป่วยมักจะไม่แสดงอาการ หรืออาจเกิดความผิดปกติในการมองเห็นเพียงเล็กน้อยจึงทำให้ผู้ป่วยละเลยในการควบคุมระดับน้ำตาล  ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการและมาตรวจมักจะพบว่ามีภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาเข้าสู่ระยะที่เริ่มมีผลกระทบต่อการมองเห็นแล้ว  อันเป็นผลมาจากภาวะจอประสาทตาเสื่อม  ซึ่งอาการผิดปกติดังกล่าว ได้แก่ มองเห็นจุดหรือเส้นสีดำคล้ายหยากไย่ลอยไปมา มองเห็นภาพบิดเบี้ยว ตามัว  การมองเห็นแย่ลง สายตาไม่คงที่ แยกแยะสีได้ยากขึ้น ภาพที่มองเห็นมืดเป็นแถบๆ และหากผู้ป่วยได้รับการรักษาช้า จะยิ่งส่งผลร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้”

ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา (Diabetic Retinopathy: DR) แบ่งระยะความรุนแรงของโรคเป็น 2 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 เบาหวานขึ้นตาระยะเริ่มแรก หรือระยะที่ยังไม่มีเส้นเลือดเกิดใหม่ (Nonproliferative Diabetic Retinopathy: NPDR) เป็นระยะที่ผนังของเส้นเลือดที่จอตาไม่แข็งแรง  ส่งผลให้เส้นเลือดโป่งขึ้น  อาจทำให้เลือดหรือของเหลวรั่วออกมาในจอตา  และเส้นเลือดใหญ่ที่จอตาจะเริ่มขยายตัวใหญ่ขึ้นจนผิดปกติ  รวมถึงเส้นใยประสาทของจอตาและจุดภาพชัด (Macula) อาจเริ่มมีอาการบวม  ในระยะเริ่มแรกอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย  แต่หากมีการอุดตันของเส้นเลือดที่เพิ่มมากขึ้น  อาจทำให้อาการรุนแรงได้

ระยะที่ 2 เบาหวานขึ้นตาระยะก้าวหน้า หรือระยะที่มีเส้นเลือดเกิดใหม่ (Proliferative Diabetic Retinopathy: PDR) เป็นระยะที่เนื้อเยื่อของชั้นจอประสาทตาเริ่มขาดออกซิเจนและขาดสารอาหารไปเลี้ยง เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไม่ปกติ  ทำให้เกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทน  ซึ่งเส้นเลือดที่สร้างขึ้นใหม่เหล่านี้อาจไม่ได้พัฒนาอย่างเหมาะสม  ทำให้มีเลือดรั่วซึมออกมาที่บริเวณวุ้นตา (Vitreous) และอาจทำให้เกิดพังผืดเกิดการดึงรั้งจอตาซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดจอตาหลุดลอกออกจากด้านหลังของดวงตา  หรือในกรณีที่เส้นเลือดใหม่ที่เกิดขึ้นไปแทรกแซงการระบายน้ำออกจากลูกตา  จะส่งผลให้ความดันตาสูงขึ้น สร้างความเสียหายต่อเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ส่งภาพจากดวงตาไปยังสมอง และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต้อหินได้

การรักษาภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยควบคุมอาหารและรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ  หากเริ่มมีอาการทางจอประสาทตาจนถึงระยะที่สอง แพทย์จะรักษาด้วยการยิงเลเซอร์เพื่อกำจัดจอประสาทตาที่ตายแล้วและหลอดเลือดเกิดใหม่  เพื่อป้องกันไม่ให้อาการลุกลามมากขึ้น  ส่วนกรณีที่มีอาการเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตาหรือจอประสาทตาหลุดลอก  อาจจะต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด  ซึ่งผลของการรักษานั้นไม่แน่นอน  โดยหากผู้ป่วยที่ปล่อยให้มีอาการรุนแรงถึงขั้นนี้แล้ว  มักจะพบว่าสายตาได้รับความเสียหายไปมากแล้ว

“โรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตานับว่าเป็นภัยเงียบที่มากับโรคเบาหวานโดยแท้จริง  ซึ่งในระยะเริ่มแรกอาจไม่แสดงอาการใดๆ เลย  แต่ไม่ควรเพิกเฉยว่าไม่มีอะไรผิดปกติ  แม้แต่กรณีที่ผู้ป่วยพึ่งตรวจพบว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน  ก็ไม่ได้แสดงว่าพึ่งป่วยในระยะเริ่มต้น  เพราะอาจป่วยด้วยโรคเบาหวาน และ/หรือมีภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาร่วมด้วยมาระยะหนึ่งแล้วเพียงแค่ไม่แสดงอาการก็เป็นได้  นั่นหมายความว่าเบาหวานอาจเข้าสู่จอประสาทตาของผู้ป่วยไปเรียบร้อยแล้ว  ในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลผู้ป่วยด้านนี้จึงแนะนำให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ควรหมั่นตรวจคัดกรองหาภาวะเบาหวานขึ้นตาเป็นประจำทุกปี  อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง  เพื่อให้สามารถรับการวินิจฉัยโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของอาการ  ซึ่งมีโอกาสยับยั้งไม่ให้อาการลุกลามจนยากเกินจะรักษาได้” รศ.พญ.โสมศิริ สุขะวัชรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย

สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้ป่วยเบาหวานควรให้ความความใส่ใจคือ  เมื่อทราบว่าป่วยเป็นโรคเบาหวานแล้วควรเข้ารับการตรวจจอประสาทตาโดยเร็วที่สุด  โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคเบาหวาน  มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน  มีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) สูงกว่า 25  อยู่ในภาวะตั้งครรภ์และมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินค่าปกติ  ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา  นอกจากนี้  ภาวะความดันโลหิตสูงและระดับไขมันในเลือดสูงยังเป็นปัจจัยเร่งให้อาการของโรคแย่ลงเร็วขึ้นด้วย  การตรวจคัดกรองและพบความผิดปกติในระยะเริ่มแรกจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาการมองเห็นและดวงตาเอาไว้ได้  เพราะฉะนั้นจึงแนะนำให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรขอรับคำปรึกษาและรับการตรวจจอประสาทตาโดยจักษุแพทย์ที่ท่านไว้วางใจเพื่อท่านจะได้มีดวงตาที่มองเห็นได้ชัดเจนอีกยาวนาน