posttoday

คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย

15 กรกฎาคม 2563

เปลี่ยนแปลงไม่เปลี่ยนไป คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เกิดจากพลังใจและการให้ความจริง

“มะเร็งระยะสุดท้าย” หรือมะเร็งระยะลุกลาม เมื่อเกิดขึ้นกับใครหรือกับครอบครัวใดแล้ว ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะทำใจยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการตรวจครั้งแรกที่พบว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย

ณ สถานการณ์นั้นๆ การยอมรับความจริงก็คงต้องใช้เวลา หรือแม้ว่าจะตรวจเจอมะเร็งในระยะต้น ซึ่งมีโอกาสในการรักษาให้หายขาดสูง แต่การยอมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็ยังคงต้องใช้เวลาเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ความเอาใจใส่ ความเข้าใจ และการให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคและให้ความจริงด้านสัจธรรมของชีวิต รวมทั้งการดำเนินตามบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยความรู้สึกตัว ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทั้งผู้ป่วยและญาติควรตระหนักและใส่ใจ

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศข้อมติให้ประเทศสมาชิกบูรณาการการดูแลแบบประคับประคองเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยตลอดช่วงชีวิต ด้วยการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ครอบคลุมทั้งร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ โดยให้ผู้ป่วยและครอบครัวเป็นศูนย์กลางในการบรรเทาความทุกข์ทรมานจากอาการปวดและอาการรบกวนต่างๆ การดูแลช่วยเหลือค้ำจุนผู้ป่วยและครอบครัว ส่งเสริมให้ผู้ป่วยปรับตัวได้อย่างเหมาะสมกับสภาวะของโรค โดยผู้ป่วยมะเร็งควรได้รับการเริ่มดูแลแบบประคับประคองภายใน 8 สัปดาห์หลังได้รับการวินิจฉัยจนถึงระยะสุดท้ายของชีวิตในรูปแบบที่แตกต่างกันตามระยะของโรค

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย มักจะมีอาการที่พบบ่อยๆ ได้แก่ อาการเหนื่อย หอบ เนื่องจากมะเร็งลุกลามมาที่ปอดหรือเยื่อหุ้มปอด หรือจากการมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด ซึ่งต้องให้ออกซิเจนหรือทำการเจาะระบายน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดออก อาการแน่นท้องจากภาวะท้องมาน หรือมีน้ำในช่องท้อง ทั้งจากการที่เซลล์มะเร็งลุกลามไปช่องท้องหรือลุกลามไปที่ตับ หรือการที่ผู้ป่วยมีภาวะตับแข็งร่วมด้วย ส่งผลให้การสร้างโปรตีนอัลบูมินหรือโปรตีนไข่ขาวจากตับลดลง ทำให้น้ำไหลออกจากหลอดเลือดและเกิดภาวะท้องมานขึ้น ซึ่งแพทย์ต้องเจาะระบายน้ำในช่องท้องออกเป็นครั้งคราวเพื่อลดอาการแน่นท้อง

คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย

สำหรับอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการซีด เลือดจาง เลือดออกง่าย ทั้งจากเซลล์มะเร็งลุกลามไปที่ไขกระดูก ทำให้ไขกระดูกที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดงบกพร่อง หรือจากความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดออกง่าย หรือจากการที่มะเร็งลุกลามไปที่ตับ ทำให้ตับไม่สามารถสร้างโปรตีนหรือสร้างปัจจัยสำคัญในการแข็งตัวของเลือดได้ ซึ่งต้องให้เลือดหรือส่วนประกอบของเลือดทดแทน

นอกจากนี้ การขาดสารอาหารก็เป็นอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายเช่นกัน โดยในส่วนนี้แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาให้สารอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการให้น้ำเกลือหรือให้สารอาหารผ่านสายในทางเดินอาหาร และอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายอีกอาการหนึ่ง คือ อาการปวด ซึ่งในส่วนนี้ทุกโรงพยาบาลจะมีคลินิกระงับปวด มีการออกเยี่ยมติดตามผู้ป่วยและให้คำแนะนำถึงบ้าน รวมทั้งบางแห่งมีการจัดกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายและการดูแลด้านจิตวิญญาณ รวมทั้งการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้กำลังใจระหว่างกัน อาทิ กิจกรรมการนวดเพื่อผ่อนคลาย กิจกรรมทางศาสนา หรือการขออโหสิกรรมเพื่อให้ผู้ป่วยได้จากไปอย่างสงบ