posttoday

โลหิตจาง โรคที่อาการไม่น่าวางใจ

07 กรกฎาคม 2563

แพทย์ระบุภาวะโลหิตจางเกิดจากหลายสาเหตุ จับพิรุธสังเกตอาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น หน้ามืด เป็นลมง่าย ซ้ำร้ายอาจมีหัวใจโต และเกิดภาวะหัวใจวาย

ภาวะโลหิตจางคืออะไร

ภาวะโลหิตจางหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าภาวะซีด เป็นภาวะที่เกิดจากร่างกายมีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ  ภาวะนี้พบได้บ่อยในประชากรทั่วไป การจะบอกว่าใครมีภาวะโลหิตจางหรือไม่นั้นอาจดูได้จากอาการที่เกิดขึ้น เนื่องจากเม็ดเลือดแดงมีหน้าที่ในการส่งออกซิเจนไปให้เซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกาย การที่เม็ดเลือดแดงลดลงจึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติได้หลากหลาย

อาการแรกเริ่ม มีตั้งแต่เหนื่อยง่ายขึ้นกว่าเดิม บางคนอาจรู้สึกว่าเมื่อออกแรงทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งแล้วเหนื่อยมากขึ้น เช่น เดิมขึ้นบันไดสองสามชั้นไม่เหนื่อย ต่อมากลับเหนื่อยมากขึ้น หรือบางคนอยู่เฉยๆ ก็อาจรู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลียก็ได้ บางคนอาจมีความรู้สึกหงุดหงิด ความคิดความอ่านไม่แจ่มใส

หากเป็นโลหิตจางรุนแรง อาจกระทบการทำงานของหัวใจ เกิดภาวะหัวใจทำงานมากขึ้นจนถึงขั้นหัวใจล้มเหลวได้ หรือกระทบกับการทำงานของสมอง ทำให้มีอาการวูบหรือหมดสติ อาการต่างๆ อาจเกิดมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับระดับของเม็ดเลือดแดงในร่างกายและความสามารถในการปรับตัวต่อภาวะโลหิตจาง ในทางเวชปฏิบัติส่วนใหญ่แล้วเราสามารถตรวจพบภาวะโลหิตจางได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ เช่น พบจากการตรวจเลือดเวลาไปบริจาคเลือด หรือตรวจสุขภาพประจำปี

โลหิตจาง โรคที่อาการไม่น่าวางใจ

ภาวะโลหิตจางเกิดจากอะไร

การเจอว่าผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางมักจะเป็นผลตามมาจากสาเหตุบางประการ  บางครั้งอาจจะเป็นอาการนำของโรคร้ายแรงก็ได้ ดังนั้น การเจอภาวะโลหิตจางทุกครั้งต้องมีการหาสาเหตุด้วยเสมอเพื่อจะได้วางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม  สาเหตุของภาวะโลหิตจางแบ่งตามกลไกการเกิดได้เป็น 3 สาเหตุใหญ่ๆ ได้แก่

1.การสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง  ซึ่งเป็นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งที่สำคัญ ได้แก่ ธาตุเหล็ก, วิตามินบี 12, กรดโฟลิค
  • โรคไตวายเรื้อรัง ทำให้ขาดปัจจัยในการกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
  • โรคของไขกระดูก เช่น ไขกระดูกฝ่อ มะเร็งในไขกระดูก การติดเชื้อในไขกระดูก เป็นต้น
  • โรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

2.การทำลายเม็ดเลือดแดงมากขึ้นในร่างกาย  โรคกลุ่มนี้จะเป็นสาเหตุให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ  ผู้ป่วยมักจะมีอาการตัวและตาเหลือง (ดีซ่าน) ร่วมด้วย  สาเหตุที่พบบ่อยในประเทศไทย เช่น

  • โรคธาลัสซีเมีย  เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ที่พบบ่อย  ผู้ป่วยโรคนี้มีอาการได้หลากหลาย  อาจมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือมีโลหิตจางรวดเร็วเมื่อเวลามีไข้  บางรายอาจมีภาวะโลหิตจางร่วมกับเหลือง ตับม้ามโต เป็นตั้งแต่อายุน้อยๆ
  • โรคเม็ดเลือดแดงแตกง่ายจากการขาดเอนไซม์ G-6PD  เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ มักพบในเพศชาย  ในภาวะปกติผู้ป่วยมักไม่มีอาการ  หากมีการติดเชื้อหรือได้รับยาบางชนิด จะเกิดการกระตุ้นให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายขึ้นจนเกิดอาการโลหิตจางรวดเร็ว ดีซ่าน ปัสสาวะสีน้ำปลา
  • โรคเม็ดเลือดแดงแตกง่ายจากภูมิคุ้มกันของตนเองทำลายเม็ดเลือดแดง  เป็นโรคที่พบมากในเพศหญิงวัยเจริญพันธุ์  อาจพบร่วมกับโรคของระบบภูมิคุ้มกันอื่นๆ
  • การติดเชื้อบางชนิด  เช่น มาลาเรีย, คลอสติเดียม, มัยโคพลาสมา เป็นต้น

3.การเสียเลือด อาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เช่น การเกิดอุบัติเหตุ การตกเลือด หรืออาจค่อยๆ เสียเลือดเรื้อรัง เช่น เสียเลือดทางประจำเดือนในผู้หญิง เสียเลือดในทางเดินอาหารในผู้ชายและผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ผู้ป่วยที่เสียเลือดเรื้อรังก็มักจะมีการขาดธาตุเหล็กตามมาด้วย

โลหิตจาง โรคที่อาการไม่น่าวางใจ

ทำอย่างไรเมื่อสงสัยว่ามีภาวะโลหิตจาง?

หากมีคนทักว่าซีดลง ตัวเหลือง หรือเคยมีปัญหาตรวจเลือดแล้วพบว่าเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ ควรจะไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจว่าอาการดังกล่าวเกิดจากโลหิตจางจริงหรือไม่ และเกิดจากสาเหตุใด โดยทั่วไปแพทย์จะทำการซักถามประวัติอย่างละเอียด รวมถึงตรวจร่างกายเพื่อเป็นแนวทางในการวินิจฉัยและเลือกการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสมเพื่อหาสาเหตุต่อไป

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า ภาวะโลหิตจางพบได้บ่อยในประชากรทั่วไปเป็นภาวะร่างกายมีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติหรือพบว่าปริมาณเม็ดเลือดแดงในเลือดน้อยกว่าปกติทำให้ความสามารถในการนำออกซิเจนไปสู่อวัยวะต่างๆของร่างกายมีประสิทธิภาพลดลง

อาการของโลหิตจางเริ่มตั้งแต่ไม่มีอาการ ถ้าโลหิตจางน้อยๆ จะไม่มีผลต่อสุขภาพ ถ้าบังเอิญเกิดเหตุที่ทำให้เสียเลือดกระทันหัน เช่น อุบัติเหตุรถชนหรือมีการตกเลือดจากเหตุทางโรคภัย เช่น แท้งลูก ท้องนอกมดลูกจะทนทานการเสียเลือดได้ไม่ดี แต่ถ้าโลหิตจางมากมีผลต่อร่างกาย คือทำให้อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น หน้ามืด เป็นลมง่าย เพราะถ้ามีโลหิตจางมาก ๆ หัวใจต้องทำงานมากขึ้น เพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี่ยงร่างกายให้มากขึ้น อาจมีหัวใจโต เกิดภาวะหัวใจวายได้ หลักการสำคัญในการรักษาโลหิตจาง คือรักษาที่สาเหตุของโลหิตจางให้พบโดยควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคก่อน เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมตามสาเหตุของโรคที่แท้จริง

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า การป้องกันภาวะโลหิตจาง ได้แก่ 

  • การรับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่โดยเฉพาะโปรตีนและอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ไข่ ตับ ไต เนื้อสัตว์ เมล็ดธัญพืช เช่น ถั่ว งา เมล็ดฟักทอง ลูกเดือย เป็นต้น
  • ละเว้นการรับประทานอาหารที่ขัดขวางการดูดซึมของธาตุเหล็ก เช่น ชา กาแฟ โอเลี้ยง เป็นต้น
  • ไม่ควรรับประทานยาชุดแก้ปวดเมื่อย แก้อักเสบ ยาหม้อ ยาลูกกลอน เนื่องจากจะทำให้เกิดการระคายกระเพาะอาหารส่งผลให้มีอาการปวดเสียดท้อง ท้องอืด เลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารทะลุได้
  • หากมีอาการปวดเสียดแน่นท้องขับถ่ายอุจจาระผิดปกติไปจากเดิม ถ่ายดำ หรือมีเลือดปนเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาออกเรื้อรัง มีจ้ำเลือดออกตามตัว ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป