posttoday

ไข้เลือดออก เช็กอาการ-ดูแลคนในบ้านอย่างไร?

05 กรกฎาคม 2563

ทุบสถิติทะลุสองหมื่นราย Dengue Fever โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายหน้าฝนอันตรายของคนทุกวัย แพทย์แนะสังเกต 9 สัญญาณอันตรายต้องรีบไปหาหมอ แล้วถ้ามีคนในครอบครัวเป็นโรคไข้เลือดออก เราจะดูแลอย่างไร?

ในฤดูฝนมีโรคร้ายที่เราต้องเผชิญอีกหนึ่งโรคคือ “โรคไข้เลือดออก” จากสถานการณ์ไข้เลือดออก เดือนมกราคม–สิ้นเดือนมิถุนายน ปี 2563 โดยกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร สรุปตัวเลขรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยสะสมมากถึง 22,639 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 12 ราย และมีแนวโน้มที่จะมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำลายจากสถิติผู้ป่วยและเสียชีวิตจากปี 2557-2560 ปี ที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือในปี 2558 จำนวน 21,232 ราย

สำหรับกรุงเทพมหานคร มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 1,560 ราย อัตราผู้ป่วยตตามกลุ่มอายุที่พบสูงสุดในกรุงเทพมหานคร 3 ลำดับแรกคือ

  1. กลุ่มอายุ 5 -14 ปี (57.26 ต่อประชากรแสนคน)
  2. กลุ่มอายุ 15 -34 ปี (45.63 ต่อประชากรแสนคน)
  3. กลุ่มอายุ 0 - 4 ปี (29.50 ต่อประชากรแสนคน)

ไข้เลือดออก เช็กอาการ-ดูแลคนในบ้านอย่างไร?

การดำเนินโรคของโรคไข้เลือดออกเดงกี แบ่งได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่

  • ระยะไข้ 

ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส บางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชักมาก่อน ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง (flushed face) ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรืออาการไอ เบื่ออาหาร อาเจียน และไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน อาจพบมีผื่นแบบ erythema หรือ maculopapular ซึ่งมีลักษณะคล้ายผื่น rubella ได้ อาการเลือดออกที่พบบ่อยคือ ที่ผิวหนัง การทำ tourniquet test ให้ผลบวกได้ตั้งแต่ 2-3 วันแรกของโรค ร่วมกับมีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena) ส่วนใหญ่จะคลำตับ โต ได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย ในระยะที่ยังมีไข้อยู่ ตับจะนุ่มและกดเจ็บ

  • ระยะวิกฤติ/ช็อก

ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี จะมีอาการรุนแรง มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค (ถ้ามีไข้ 2 วัน) หรือเกิดวันที่ 8 ของโรค (ถ้ามีไข้ 7 วัน) ภาวะช็อกที่เกิดขึ้นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง และจะเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมง หลังเริ่มมีภาวะช็อก

  • ระยะฟื้นตัว

ระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยค่อนข้างเร็ว ในผู้ป่วยที่ไม่ช็อกเมื่อไข้ลดส่วนใหญ่ก็จะดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยช็อกถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ระยะฟื้นตัวมีช่วงเวลาประมาณ 2-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน

ในปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี จึงให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ แพทย์ผู้รักษาจะต้องเข้าใจธรรมชาติของโรค และให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด จะต้องมีการดูแลรักษาพยาบาลที่ดีตลอดระยะวิกฤต คือ ช่วง 24-48 ชั่วโมง ที่มีการรั่วของพลาสมา หลักในการรักษามีดังนี้

ในระยะไข้สูง บางรายอาจมีอาการชักได้ถ้าไข้สูงมาก ให้ยาลดไข้ ควรใช้ยาพวกพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาพวกแอสไพริน, ibrupophen, steroid เพราะจะทำให้เกล็ดเลือดเสียการทำงาน จะระคายกระเพาะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้นให้ผู้ป่วยได้สารน้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ทำให้ขาดน้ำและเกลือโซเดียม ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำผลไม้หรือสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ติดตามดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ตรวจพบและป้องกันภาวะช็อกได้ทันเวลาดูการเปลี่ยนแปลงของเกล็ดเลือดและ hematocrit เป็นระยะๆ เพราะถ้าปริมาณเกล็ดเลือดเริ่มลดลง และ hematocrit เริ่มสูงขึ้น เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าน้ำเหลืองรั่วออกจากเส้นเลือดและอาจจะช็อกได้ จำเป็นต้องให้สารน้ำชดเชยสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกหรือเลือดออก แพทย์จะต้องให้การรักษาเพื่อแก้ไขสภาวะดังกล่าว ด้วย สารน้ำ พลาสมา หรือสาร colloid อย่างระมัดระวัง เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยและป้องกันโรคแทรกซ้อน

ไข้เลือดออก เช็กอาการ-ดูแลคนในบ้านอย่างไร?

9 สัญญาณอันตรายของโรคไข้เลือดออก

นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระบุรี แนะนำ 9 สัญญาณอันตรายที่จะบ่งบอกว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ถ้ามีอาการต่อไปนี้ ต้องไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ได้แก่

  1. ไข้ลดลง แต่ยังไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ อาทิเช่น เบื่ออาหาร ไม่ค่อยเล่นและอ่อนเพลีย
  2. คลื่นไส้ อาเจียน ตลอดเวลา 
  3. ปวดท้องมาก
  4. มีเลือดออกมาก เช่น เลือดกำเดาไหลอาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ
  5. พฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไปจากปกติ 
  6. กระหายน้ำตลอดเวลา 
  7. ร้องกวนมากในเด็กเล็ก
  8. ตัวเย็นชื้น สีผิวคล้ำลง หรือตัวเป็นลายๆ
  9. ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะนานเกิน 4-5 ชั่วโมง

ถ้ามีคนในครอบครัวเป็นโรคไข้เลือดออก เราจะดูแลอย่างไร?

การดูแลผู้ป่วยที่บ้านนั้นก็สำคัญมากการดูแลก็สามารถใช้วิธีปฏิบัติง่ายๆ คือ

  • การเช็ดตัวให้ผู้ป่วยไม่ให้ตัวร้อนจัด
  • ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนและอาหารที่ทำให้ร่างกายสดชื่น เช่น น้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้ และพักผ่อนมากๆ
  • รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง หรือหากจำเป็นต้องซื้อเอง ห้ามรับประทานยาแอสไพรินโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เลือดออกตามอวัยวะภายใน อันตรายถึงแก่ชีวิตได้ 
  • เฝ้าสังเกตอาการที่เปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยอยู่เสมอ หากพบว่าผู้ป่วยซึมลง อ่อนเพลียมาก กินและดื่มไม่ได้ กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ปวดท้องกะทันหัน หรืออาเจียนเป็นเลือด แสดงว่าเข้าสู่ภาวะช็อก ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับไปพบแพทย์อีกครั้งโดยเร็วที่สุด 

มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรคจากกรมควบคุมโรค

  1. เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
  2. เก็บขยะ ที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
  3. เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่

ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ

  1. โรคไข้เลือดออก
  2. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา
  3. โรคไข้ปวดข้อยุงลาย