posttoday

เช็กลิสต์ญาติสายตรงเพื่อคัดกรองโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

04 มิถุนายน 2563

รู้ลึกถึงแก่นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร พร้อมเช็กลิสต์ญาติสายตรงที่อาจเป็นข้อบ่งชี้ของการเกิดโรคมะเร็งได้

โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ถ้าพูดถึงโรคกระเพาะอาหารหลายๆคนคงคิดว่าแค่กินยาสักอาทิตย์หรือปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตเช่นงดอาหารบางอย่างหรือกินอาหารให้ตรงเวลาก็จะทำให้อาการต่างๆ หายไปแต่ถ้าพูดถึงมะเร็งความคิดหรือความกังวลก็จะเกิดขึ้นมาทันทีแตกต่างจากการคิดถึงโรคกระเพาะทั่วๆ ไป

เช็กลิสต์ญาติสายตรงเพื่อคัดกรองโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

ข้อมูลโดย ผศ.นพ.ไชยรัตน์ ทรัพย์สมุทรชัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าในความเป็นจริงมะเร็งกระเพาะอาหารในประเทศไทยนั้นพบได้ไม่มากเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆเช่นมะเร็งเต้านมมะเร็งปอดมะเร็งตับมะเร็งลำไส้ใหญ่ปกติมะเร็งกระเพาะอาหารแบ่งได้หลายชนิดเช่นมะเร็งเยื่อบุผิวกระเพาะมะเร็งจีสเป็นต้นหากกล่าวขึ้นทั่วๆ ไปมักหมายถึงมะเร็งเยื่อบุกระเพาะอาหาร

หลายคนคิดว่าถ้ามะเร็งก็คงรักษาด้วยการผ่าตัด ฉายแสง หรือให้ยาเคมี แต่ในความจริงนั้นพบว่าค่อนข้างมีความยากลำบากในการรักษา เพราะไม่ว่าผู้ป่วยจะเป็นมะเร็งชนิดไหนหรือจะรักษาด้วยวิธีใดๆ ก็ตามสิ่งแรกที่จะมีผลต่อการรักษาก็คือความแข็งแรงของผู้ป่วยว่ามีความแข็งแรงมากพอที่จะทนต่อการรักษารูปแบบต่างๆ จนครบตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ซึ่งกระเพาะเป็นอวัยวะที่รองรับอาหารอวัยวะแรกของร่างกายที่ย่อยอาหารส่งพลังงานไปยังส่วนต่างๆ นั่นก็คือถ้ากระเพาะเสียไปไม่สามารถทำงานได้ ผู้ป่วยก็จะขาดอาหาร ทำให้ไม่สามารถทนกับการรักษาแบบต่างๆ ได้จนครบ และทำให้ผลการรักษาแย่ลง  นอกจากนี้ ผู้ป่วยส่วนมากที่มาตรวจก็มักจะมาพบแพทย์ในตอนที่ตนเองมีอาการเยอะมากแล้ว นั่นคือ กินไม่ได้มีอาเจียนหลังกิน เป็นต้น

เช็กลิสต์ญาติสายตรงเพื่อคัดกรองโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

สาเหตุการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร

สำหรับการเกิดมะเร็งกระเพาะ นั้นเกิดได้จากสองกระบวนการหลักๆ อย่างแรกคือ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามกระบวนการอักเสบของกระเพาะอาหารแล้วเรื้อรังจนเยื่อบุกระเพาะกลายเป็นมะเร็ง ซึ่งกระบวนการนี้จะมีเชื้อแบคทีเรียตัวหนึ่งที่ชื่อว่า Helicobacter pylori (H. Pylori, เอชไพโลไร) เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้กระบวนการอักเสบไม่หายและนำไปสู่การเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารดังนั้นการรักษาการอักเสบเรื้อรังร่วมกับกำจัดเชื้อโรคตัวนี้จึงอาจมีผลป้องกันการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้ในอนาคต

อาหารที่กระตุ้นการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร มีอาหารบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบเรื้อรังได้เช่นอาหารที่ถูกเก็บรักษาไว้ด้วยเกลือหรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆว่าอาหารที่ดองเกลืออาหารที่ผ่านการรมควันเป็นต้นก็อาจจะเป็นตัวการที่กระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้

ความผิดปกติทางพันธุกรรมกับมะเร็งกระเพาะอาหาร กลไกการเกิดอีกแบบคือ เกิดจากการที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติทางพันธุกรรมตั้งแต่กำเนิดแล้วทำให้กระบวนการเกิดมะเร็งเกิดได้เร็วขึ้นกว่าปกติ ซึ่งแม้ว่าเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะป้องกันได้ แต่เราก็สามารถจะเฝ้าระวังได้ มะเร็งกระเพาะอาหารจะพัฒนาและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่สำคัญการตอบสนองต่อยาเคมีไม่ค่อยดี ซึ่งถ้าตรวจพบผู้ป่วยในระยะท้ายๆ ผู้ป่วยอาจจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานนักแม้ว่าจะได้รับการรักษาอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่ถ้าหากตรวจพบในระยะแรกการรักษาก็สามารถหวังผลให้หายขาดได้ 

ในประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศที่พบมะเร็งกระเพาะอาหารมากจะแนะนำให้ประชาชนทุกคนเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหารตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ไม่ว่าคนนั้นจะมีหรือไม่มีอาการทางกระเพาะอาหารก็ตาม ที่ผ่านมา แม้ว่าประเทศไทยไม่ได้พบมะเร็งชนิดนี้และผู้ป่วยส่วนมากมาตรวจตอนที่มีอาการแล้วทำให้ผลการรักษาไม่ดี ซึ่งโดยทั่วไปการตรวจทางเดินอาหารมักจะตรวจแค่เพื่อรักษาอาการของโรคแผลในกระเพาะเป็นหลัก ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญของการคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหาร 

เช็กญาติสายตรงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร

นอกเหนือจากข้อบ่งชี้ของการตรวจกระเพาะอาหารที่เป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางตามสื่อต่างๆ ทั่วไปแล้วสิ่งที่มักจะถูกมองข้ามคือ ต้องทำการตรวจในรายที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารดังนี้ คือ

  • มีญาติสายตรงอย่างน้อย 1 คนเป็นตอนอายุน้อยกว่า 40 ปี 
  • มีญาติสายตรงชั้นเดียวกันหรือชั้นรองอย่างน้อย 2 คน เป็นตอนอายุน้อยกว่า 50 ปี
  • มีญาติสายตรงชั้นเดียวกันหรือชั้นรองเป็น อย่างน้อย 3 คนไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม
  • มีญาติสายตรงชั้นเดียวกันหรือชั้นรองเป็น มะเร็งเต้านมและกระเพาะอาหารในคนเดียวกันตอนอายุน้อยกว่า 50 ปี
  • มีญาติสายตรงมะเร็งกระเพาะอาหาร และมีญาติสายตรงชั้นเดียวกันหรือชั้นรอง คนอื่นเป็นมะเร็งเต้านมที่อายุน้อยกว่า 50ปี
  • นอกจากนี้ ยังรวมถึงคนที่ตรวจพบว่ามีความผิดปกติของพันธุกรรมที่ก่อให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหารรวมถึงมะเร็งอื่นๆ ด้วย

การรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร 

โรคมะเร็งกระเพาะอาหารมีหลายรูปแบบ ทั้งการให้ยาเคมี การให้รังสีรักษา และ การผ่าตัดซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ขึ้นกับระยะของโรค ตำแหน่งของมะเร็งว่าอยู่ส่วนไหนของกระเพาะอาหาร ความแข็งแรงของผู้ป่วย โดยหลักการสำคัญจะมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตที่นานที่สุด โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้น ถ้าหากตรวจพบในระยะต้นที่ยังไม่มีการแพร่กระจายการรักษาจะหวังผลเพื่อให้หายขาดจากโรคยังคงต้องใช้การผ่าตัดเป็นหลัก 

สำหรับการผ่าตัดรักษานอกจากจะต้องตัดเนื้อกระเพาะอาหารให้หมดจากมะเร็งแล้วยังจำเป็นต้องตัดต่อมน้ำเหลืองโดยรอบที่คาดว่ามะเร็งจะกระจายตัวออกไปทั้งหมดจึงจะได้ผลการรักษาที่ดีซึ่งวิธีการผ่าตัดจะมีรายละเอียดและความแตกต่างจากการตัดกระเพาะทั่วๆไปในโรคที่ไม่ใช่มะเร็งชัดเจนทั้งนี้จากที่กล่าวมาข้างต้นว่ามะเร็งของกระเพาะอาหารนั้นพบได้ไม่บ่อยนัก 

ดังนั้น ศัลยแพทย์ที่จะทำการผ่าตัดมะเร็งกระเพาะอาหารให้ได้ผลรับที่ดีจะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์สูงในการผ่าตัดรักษามะเร็งกระเพาะอาหารมาก่อน ซึ่งผลการรักษาที่ภาควิชาศัลยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่าอัตราการอยู่รอดและผลการรักษาได้รายงาน ไว้โดย รศ.นพ. จักรพันธ์ เอื้อนรเศรษฐ์ ใน J Med Assoc Thai Vol. 90 No. 2 2007 ซึ่งมีอัตราการอยู่รอดที่ 5 ปีของมะเร็งกระเพาะอาหารที่ทำการผ่าตัดทุกระยะที่ยังไม่มีการแพร่กระจายอยู่ที่ 59% ซึ่งมากว่าทางประเทศตะวันตกที่ส่วนใหญ่จะเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 14-37% แม้ว่ายังน้อยกว่าประเทศญี่ปุ่นที่เป็นต้นแบบของการผ่าตัดมะเร็งกระอาหารอยู่บ้างเล็กน้อยก็ตาม (อาจเนื่องจากมีการแบ่งระยะของโรคที่แตกต่างกันกับประเทศญี่ปุ่น) และมีภาวะแทรกซ้อนโดยรวมอยู่ที่17% ซึ่งหากตรวจพบมะเร็งชนิดนี้ควรได้รับการผ่าตัดจากศัลยแพทย์ที่ชำนาญด้านมะเร็งกระเพาะอาหาร

ทั้งนี้ ถ้าหากพบว่าเป็นมะเร็งระยะแรกๆ ก็จะสามารถทำการผ่าตัดแบบแผลเล็กหรือผ่าตัดผ่านกล้องได้อีกด้วย ซึ่งหลังจากการผ่าตัดรักษาบางคนจะไม่มีการเพาะบางคนก็อาจจะมีน้อยลง ก็คงต้องปรับตัวเรื่องการกินอาหาร เนื่องจากการที่ไม่มีกระเพาะจะทำให้การดูดซึมแร่ธาติและวิตามินบางชนิดแย่ลง จึงต้องได้รับคำแนะนำต่างๆ จากศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดว่าควรจะปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดอย่างไร และต้องได้รับการตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ

ที่มา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล