posttoday

เลือดกำเดาไหลในเด็ก สัญญาณบอกความผิดปกติเรื่องใด

12 พฤษภาคม 2563

ช่วงอากาศร้อน ลูกน้อยอาจมีเลือดกำเดาไหล เช็กอาการอย่าปล่อยผ่าน เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณอันตรายแรกเริ่ม มาดูวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการป้องกันเส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกแตก

อาการเลือดกำเดาไหล หรือ Epistaxis หมายถึง การที่มีเลือดออกจากโพรงจมูก ทางด้านหน้าหรือด้านหลังโพรงจมูก อาจออกข้างเดียว หรือสองข้างก็ได้ สามารถพบได้ทุกเพศและทุกวัย มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

ตำแหน่งที่พบเลือดกำเดาไหล

  1. เลือดออกจากด้านหน้าของโพรงจมูก ซึ่งพบได้ร้อยละ 90 ของเลือดกำเดาไหลทั้งหมด มักพบในเด็ก และวัยรุ่นที่มีประวัติแคะจมูก หรือมีเยื่อบุจมูกอักเสบ ส่วนมากเลือดมักออกจากบริเวณผนังกั้นช่องจมูกด้านหน้า ซึ่งเป็นบริเวณที่มีหลอดเลือดหลายแขนงรวมกัน ตำแหน่งนี้สามารถมองเห็นได้ง่าย จากการตรวจโพรงจมูกทางด้านหน้า
  2. เลือดออกจากด้านหลังของโพรงจมูก คือมีเลือดไหลลงคอ ซึ่งมักจะมีอาการรุนแรงกว่า และพบได้ในผู้ป่วยสูงอายุที่มีความดันโลหิตสูง ซึ่งมีภาวะหลอดเลือดแข็งร่วมด้วย หรือพบในผู้ป่วยที่มีเนื้องอกบริเวณโพรงหลังจมูกที่มีเลือดมาเลี้ยงมาก (nasopharyngeal angiofibroma) เป็นต้น โดยเลือดมักออกจากแขนงหลอดเลือดใหญ่ทางด้านหลังโพรงจมูก ตำแหน่งนี้สามารถมองเห็นได้จากการส่องกล้องตรวจในโพรงจมูก
  3. เลือดออกจากด้านบนของโพรงจมูก เลือดออกจากตำแหน่งนี้มักพบได้น้อยกว่า 2 ชนิดแรก โดยอาจเกิดจากการผ่าตัดไซนัส อุบัติเหตุบริเวณศีรษะ หรือเนื้องอกบางชนิด เป็นต้น

เลือดกำเดาไหลในเด็ก สัญญาณบอกความผิดปกติเรื่องใด

ทำไมเลือดกำเดาถึงไหล?

  • เลือดกำเดาไหลเพราะภาวะโรคในจมูก คืออาจเกิดจากการที่ “มีก้อนในจมูก” หรือ “ก้อนเนื้องอกบริเวณหลังโพรงจมูก” รวมถึงการติดเชื้อต่างๆ ที่ทำให้มีแรงดันขึ้นไปทำให้เกิดอาการคัดจมูกหรือจาม จนเส้นเลือดฝอยแตก และเกิดเป็นเลือดกำเดาไหลออกมา หรืออาจเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุ ถูกกระแทกจนกระดูกหัก ผนังจมูกคด ก็ทำให้เลือดกำเดาไหลได้ รวมถึงการใช้ยาพ่นสเตียรอยด์รักษาภูมิแพ้ ถ้าพ่นไม่ถูกวิธี ก็อาจทำให้ผนังจมูกบาง และเป็นเหตุให้เลือดออกได้เช่นกัน
  • เลือดกำเดาไหลเพราะความผิดปกติของร่างกาย ได้แก่ คนที่มีโรคประจำตัว เป็นโรคเลือดที่ทำให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เลือดออกง่าย หยุดยาก โดยมักจะเป็นตามเยื่อบุต่างๆ เช่น เยื่อบุจมูก หรือว่าไรฟัน รวมถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง คนที่เป็นโรคตับหรือคนที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือดต่างๆ ก็มีโอกาสเลือดกำเดาออกได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไปทั้งนี้ เส้นเลือดฝอยในจมูกแตกจนเลือดกำเดาไหลนั้น ถือเป็นปลายเหตุที่เกิดจากความผิดปกติในร่างกาย ที่ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกและเลือดออก ซึ่งสาเหตุก็อาจเป็นได้ทั้งมีก้อนที่จมูก หรือมีปัญหาโรคเลือดก็ได้ ซึ่งจำเป็นต้องหาสาเหตุให้พบ เพราะปกติเส้นเลือดคนเรานั้นจะไม่แตกง่ายๆ ยกเว้นแต่มีสาเหตุกระตุ้นให้แตก เช่นไปกระแทก เกิดอุบัติเหตุ หรือขาดวิตามินต่างๆ อย่างวิตามินเค ซึ่งจะทำให้เส้นเลือดแตกได้ง่าย

เลือดกำเดาไหลในเด็ก สัญญาณบอกความผิดปกติเรื่องใด

เลือดกำเดาไหลในเด็ก

สาเหตุ เลือดกำเดาไหลเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก แต่ส่วนมากมักจะมีอาการเลือดออกที่ไม่รุนแรง และเลือดมักจะหยุดเองได้ภายใน 10-15 นาที ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากเส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกแตก เนื่องจากอากาศแห้ง โดยเฉพาะวันที่ร้อนจัดหรือหนาวจัด ร่างกายขาดวิตามินซี เกิดจากการกระทบกระเทือน หรืออุบัติเหตุ และความผิดปกติของร่างกาย อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่พบว่าลูกเลือดกำเดาไหลบ่อยก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะการที่ลูกเลือดกำเดาไหลบ่อย ก็อาจเป็นอาการของโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

อาการแบบไหนต้องรีบพาลูกไปพบแพทย์

ข้อมูลจากสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย โดย รศ.พญ.ดารินทร์ ซอโสตถิกุล ฝ่ายเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้ปกครองควรทราบในกรณีที่ลูกเลือดกำเดาไหลบ่อยว่า หากลูกมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ให้รีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์

  1. เลือดกำเดาไหลนาน ร่วมกับที่ผิวหนังมีรอยเลือดออก เช่น มีจ้ำเขียว มีจุดแดง หรือจุดเลือดออกตามตัวร่วมด้วย
  2. มีเลือดออกตามไรฟัน หรือลิ้นร่วมด้วย
  3. มีปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อ หรืออุจจาระสีดำคล้ายยางมะตอย หรืออุจจาระของลูกมีเลือดปนมาด้วย
  4. ลูกมีไข้สูง
  5. ลูกมีอาการอาการเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่กระฉับกระเฉง หรือผิวหนังมีสีซีดลง

สัญญาณของโรค

การที่ลูกเลือกกำเดาไหลบ่อยอาจเป็นสัญญาณของโรคต่างๆ ได้แก่

โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ เช่น โรควอนวิลล์แบรนด์ (von Willebrand disease – VWD) ซึ่งอาจมีประวัติเลือดออกง่ายหยุดยากในครอบครัวร่วมด้วย

โรคที่เกิดขึ้นภายหลัง ทำให้เกล็ดเลือดมีปริมาณต่ำลง เช่น

  • โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิต้านทานตนเอง (immune thrombocytopenia – ITP) ซึ่งเป็นภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่พบบ่อยในเด็ก
  • โรคไขกระดูกฝ่อ ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดทุกชนิดได้อย่างพอเพียง ทำให้มีโลหิตจาง ติดเชื้อง่ายเนื่องจากมีเม็ดเล็ดขาวต่ำลง และเกล็ดเลือดต่ำทำให้เลือดออกง่าย
  • โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ที่มีเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวแทรกซึมอยู่ในไขกระดูก ทำให้สร้างเม็ดเลือดที่ปกติได้ลดลง
  • ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก หากลูกเลือดกำเดาไหลบ่อยและเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้เด็กเกิดภาวะซีดจากการสูญเสียเลือดเรื้อรัง จนเกิดภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของลูกอยู่เสมอ หากเด็กมีอาการเวียนศีรษะ เป็นลมง่าย เหนื่อยง่าย หรือมีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้น ก็ควรพาลูกไปพบแพทย์โดยเร็ว

ไม่อยากให้ลูกเลือดกำเดาไหลบ่อยทำอย่างไรดีวิธีป้องกันไม่ให้ลูกน้อยเลือดกำเดาไหลง่ายนั้น เบื้องต้นมีวิธีการดังนี้

  1. พยายามไม่ให้จมูกของลูกแห้ง โดยอาจจะใช้น้ำเกลือหยอดจมูก หรือทาวาสลินเคลือบในรูจมูกก่อนนอน
  2. ปรับอุณภูมิในห้องนอนของลูก ไม่ให้อากาศแห้งเกินไป
  3. ให้ลูกกินผักและผลไม้ที่มีวิตามินซี เพื่อช่วยให้หลอดเลือดฝอยในจมูกแข็งแรง

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

  1. ให้เด็กนั่งตัวเอียงไปด้านหน้า
  2. ก้มศีรษะลงเล็กน้อย เพื่อให้เลือดไหลออกทางจมูกแทนที่จะไหลลงคอ ซึ่งอาจทำให้เด็กอาเจียนออกมาเป็นเลือดจากที่กลืนเข้าไป
  3. ใช้มือบีบบริเวณปีกจมูกข้างที่มีเลือดกำเดาไหลเบาๆ ประมาณ 10 นาที
  4. หากเลือดยังไม่หยุดไหลนานเกิน 30 นาที ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์