posttoday

อยากเลิกกาแฟ แต่ไม่ดื่มแล้ว ‘ปวดหัว’ เป็นเพราะอะไร?

10 พฤษภาคม 2563

ดื่มกาแฟมาหลายปีแล้วอยากเลิก แต่กลับต้อง “ปวดหัว” เป็นเพราะอะไร? อาการปวดหัวมาจากการที่เราไม่ได้ดื่มกาแฟ หรือมาจากสาเหตุอื่นกันแน่ มาดูกัน

สำหรับคอกาแฟ ไม่ว่าจะเช้า สาย หรือบ่ายแก่ๆ กาแฟก็คือส่วนหนึ่งในความอภิรมย์ระหว่างวัน ซึ่งหลายคนอาจน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ก็เพราะน้ำตาล นม และครีมเทียมที่เติมลงไปในเครื่องดื่มแก้วโปรด

อยากเลิกกาแฟ แต่ไม่ดื่มแล้ว ‘ปวดหัว’ เป็นเพราะอะไร?

แม้ในระยะหลังกระแสรักสุขภาพจะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนคำนึงถึงมากขึ้น แต่ “กาแฟ” ก็ยังเป็นอะไรที่เราขาดไม่ได้ หลายคนปรับการดื่มจากกาแฟผสมนม เติมไซรัป เพิ่มวิปครีม มาเป็นกาแฟสดแบบอเมริกาโน่ ลดน้ำตาล หรือไม่เติมความหวานเลยก็มี แต่อีกหลายคนก็เลือกที่จะ “เลิกดื่มกาแฟ”เหตุเพราะการแชร์ข้อเสียของการติดกาเฟอีนที่เห็นกันในโลกออนไลน์

อยากเลิกกาแฟ แต่ไม่ดื่มแล้ว ‘ปวดหัว’ เป็นเพราะอะไร?

“กาแฟ” จัดเป็นเครื่องดื่มที่แพร่หลายและเป็นที่นิยมในเกือบทุกประเทศทั่วโลก เพราะทำให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า จนเมื่อดื่มเป็นประจำจะทำให้เกิดภาวะติดกาแฟ เมื่ออยากจะเลิกกาแฟกลับพบปัญหาว่าไม่สามารถเลิกได้ เนื่องจากจะมีอาการปวดหัวจากอาการถอนกาเฟอีน หรือ Caffeine withdrawal

ทั้งนี้ เพราะกาเฟอีนเป็นสารเคมีหลักในกาแฟที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ทำให้สมองแจ่มใส กระชุ่มกระชวย กระฉับกระเฉง ไม่ง่วงเหงาหาวนอน  และยังมีฤทธิ์เสพติดด้วยซึ่งอาการถอนกาเฟอีนที่ว่านั้นประกอบไปด้วยอาการปวดหัวซึ่งพบได้มากที่สุด และมีความรุนแรงแตกต่างกันในแต่ละคน ทั้งปวดบีบๆ ปวดตุ้บๆ รวมทั้งมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่ตื่นตัวกระฉับกระเฉง ง่วงซึมเซา มึนงง สมองไม่โปร่ง รู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีอาการซึมเศร้า หดหู่ ไม่มีสมาธิ รวมทั้งมีอาการหงุดหงิด และคลื่นไส้อาเจียน 

อยากเลิกกาแฟ แต่ไม่ดื่มแล้ว ‘ปวดหัว’ เป็นเพราะอะไร?

ความรุนแรงของอาการนั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณกาเฟอีนที่ดื่มในแต่ละวัน ยิ่งดื่มมากอาการก็จะยิ่งรุนแรงหากไม่ได้ดื่ม และสามารถเกิดอาการขึ้นได้แม้คุณจะดื่มเพียงแค่วันละ 1 แก้ว (ปริมาณกาเฟอีน 100 มิลลิกรัม) หรือเพิ่งเริ่มหัดดื่มกาแฟแค่ 3  วันเท่านั้น 

โดยอาการจะเกิดขึ้นใน 12-24 ชั่วโมงหลังหยุดดื่มกาแฟ โดยอาการจะเกิดขึ้นต่อเนื่องได้ใน 2-7 วัน แต่จะมีอาการรุนแรงภายใน 1-2 วันแรก หากร่างกายได้รับกาเฟอีนเข้าไปอาการก็จะดีขึ้นทันทีในครึ่งชั่วโมง

ดังนั้น เมื่อเริ่มรู้สึกว่ามีปัญหาในการดื่มกาแฟ แล้วต้องการลดการดื่มลง แนะนำให้ค่อยๆ ลดปริมาณการดื่มลดลงเรื่อยๆ ทีละน้อยในแต่ละวัน อย่าหยุดหรือลดกะทันหัน เพราะจะเกิดอาการดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้ บรรดาคอกาแฟทั้งหลายคงต้องสำรวจตัวเองกันแล้วว่า มีอาการเข้าข่ายดังกล่าวหรือไม่ ถ้าใช่แล้วละก็ ควรลดการดื่มกาแฟลง แต่อย่าลืมว่ากาเฟอีนมีอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ อีกด้วย อาทิ ชา โกโก้ น้ำอัดลม ไอศกรีมรสกาแฟ ช็อกโกแลต เครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬา ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากเราติดที่ต้องบริโภคทุกวันเพื่อให้ร่างกายสดชื่น ก็มีสิทธิ์เกิดภาวะอาการถอนกาเฟอีนได้เหมือนกัน