posttoday

คุณหมอไขข้อข้องใจการนำ 'พลาสมา' มาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19

19 เมษายน 2563

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ แชร์ความรู้ไขข้อสงสัยวิธีการนำ “พลาสมา” จากผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายแล้วมาใช้รักษาผู้ป่วยรายอื่น พร้อมอธิบายการบริจาคพลาสมา

ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายความรู้เกี่ยวกับการนำพลาสมาของผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว มาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 รายอื่นอย่างไร ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan โดยมีเนื้อความว่า

...โควิด-19 พลาสมาเพื่อใช้รักษา หลายคนสงสัยในกระบวนการ ผู้ที่หายแล้วจะมีภูมิต้านทานสูงมาก ประมาณ 4-6 อาทิตย์ หลังจากเริ่มมีอาการ ภูมินั้นก็จะยังคงอยู่สูงในระยะ 2-3 เดือนแรก แล้วจะค่อยๆ ลดลงจนถึง 6 เดือน

ดังนั้น ผู้บริจาคเราจะใช้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ที่มีระดับภูมิต้านทานสูงอยู่ เมื่อผู้บริจาคมาติดต่อทางศูนย์บริการโลหิตจะให้ลงทะเบียนออนไลน์ แล้วจะเรียกมาทำการตรวจเลือด ป้ายคอหรือจมูก ว่าไม่มีเชื้อโควิดเหลืออยู่ ตรวจระดับภูมิต้านทาน ตรวจไวรัส อื่นๆ เช่นเดียวกับการบริจาคเลือดทั่วไป 

การบริจาคพลาสมา จะทำด้วยเครื่องคัดแยกเอาเฉพาะน้ำพลาสมา หรือน้ำเหลืองออกมา และคืนส่วนที่เป็นเม็ดโลหิตแดง โลหิตขาวและเกล็ดเลือด กลับคืนเข้าร่างกายผู้บริจาค พลาสมาที่แยกออกมา ในการบริจาค แต่ละครั้ง ปริมาณที่ได้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้บริจาค ในผู้ที่มีร่างกายตัวโต สามารถบริจาคได้ถึง 500 ml และจะถูกแบ่งแยกเป็น 2 ถุง ถุงละประมาณ 250 ml แต่ผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อย ปริมาณที่ได้ก็จะลดน้อยลง

ผู้บริจาคสามารถบริจาคได้ทุก 2-4 สัปดาห์ ดังนั้น ผู้ที่หายจากโรคสามารถบริจาคได้ถึง 6 ครั้ง ถ้าภูมิต้านทานอยู่ในระดับสูง

ผู้ป่วยที่รับ Plasma รักษา จะต้องมีการเปรียบเทียบกรุ๊ปเลือดกันว่าเข้ากันได้หรือไม่ และในการรักษาผู้ป่วย 1 ราย อาจจำเป็นต้องใช้ 1 ครั้ง หรือให้มากกว่า 1 ครั้ง เช่น 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง ก็ได้ขึ้นอยู่กับอาการของโรคและปริมาณไวรัสในตัวผู้ป่วย เป็นดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

โดยผู้รับ ผู้ป่วย จะได้รับครั้งหนึ่งประมาณ 5 ml ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น ผู้ป่วยหนัก 50 กิโลกรัม จะได้รับประมาณ 250 ml แต่ทั้งนี้ ยังขึ้นอยู่กับระดับภูมิต้านทานในพลาสมาด้วย ถ้ามีภูมิต้านทานยิ่งสูงเท่าไหร่ก็ยิ่งดี

ข้อมูลทั้งหมดก็น่าจะเพิ่มความกระจ่างให้กับผู้สงสัยได้บ้าง

...

คุณหมอไขข้อข้องใจการนำ 'พลาสมา' มาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19

นอกจากนี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ยังได้โพสต์เชิญชวนคนหายป่วยโควิด-19 บริจาคพลาสมา โดยระบุว่า โควิด-19 การใช้พลาสมาผู้ที่หายจากโรค มารักษา โควิด 19 เป็นโรคใหม่ที่เกิดจากไวรัส จึงไม่มียารักษาจำเพาะ มีการยืมยารักษามาลาเรีย รักษาHIV และไข้หวัดใหญ่ มาใช้ โดยใช้หลักการทางทฤษฎี จึงยังไม่มียา ที่เป็นยาจำเพาะในการรักษา มีการใช้ Remdesivir ที่เป็นยาพัฒนาใหม่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย และมีข่าวออกมา ว่าการรักษาได้ผลดี ทำให้หุ้นขึ้น อย่างไรก็ตามยานี้อยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย อย่างเป็นระบบในหลายๆประเทศ ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในประเทศใด เพราะเป็นยาใหม่ ต้องให้เข้าเส้นเลือด และใช้ระยะเวลารักษา 10 วัน คงต้องรออีกสักระยะหนึ่ง

หลายประเทศทั่วโลก มีการใช้ Plasma ผู้หายจากโรค เป็นยาที่ได้จากธรรมชาติ มีการรายงานผลการศึกษา ในวารสารทางวิชาการมากขึ้นเรื่อยๆ เตรียมการผลิต โดยธนาคารเลือด ที่มีขั้นตอนตามระบบความปลอดภัยของการให้เลือด และพลาสมาในยามปกติอยู่แล้ว พลาสม่าผู้ที่หายจากโรคแล้วจะมีภูมิต้านทานที่จะใช้ ต้านไวรัสได้

ขณะนี้อยากจะเชิญชวน ให้ผู้ที่หายจากโรคแล้ว อย่างน้อย 14 วัน ต้องการจะช่วยเพื่อนที่ป่วย ลงทะเบียนที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติทางออนไลน์ เพื่อที่ทางศูนย์จะนัดแนะ มาตรวจกรอง ว่าไม่มีเชื้อ โควิด 19 ทั้งในทางเดินหายใจและในโลหิต รวมทั้งตรวจระดับของภูมิต้านทานในโลหิต แล้วจึงนัดแนะให้มาบริจาค Plasma เพื่อเก็บเอาไว้ พร้อมที่จะ นำไปรักษาผู้ป่วย ผู้ป่วยที่จะใช้ได้จะต้องมีการเปรียบเทียบกลุ่มเลือด ตามกฎเกณฑ์ผู้ที่จะบริจาคจะต้องมีน้ำหนักตัวมากกว่า 50 กิโลกรัม อายุระหว่าง 17 ถึง 65 ปี ท่านที่หายจากโรคแล้วจะได้มีโอกาสช่วยเหลือเพื่อนของท่านที่กำลังป่วยอยู่ คนไทยเราจะไม่ทิ้งกัน

ที่มา : เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan