posttoday

หน้ากากอนามัยใส่เกิน 2 ชม.ได้ปลอดภัย ไม่ต้องถอดพัก!!

10 เมษายน 2563

เรื่องจริงจากแพทย์ หน้ากากอนามัยใส่เกิน 2 ชม.ได้ แต่ n95 ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเกิน 1 ชม. พร้อมย้ำการถอดหน้ากากเข้า-ออก เสี่ยงการปนเปื้อนของมือที่สัมผัสหน้ากากและใบหน้า

ก่อนหน้านี้มีข้อมูลที่ถูกส่งต่อกันเป็นล้านครั้ง ทั้งยังมีปรากฏในสื่อต่างๆ กรณีเรื่องการสวมใส่หน้ากากอนามัยแล้วจะทำให้เลือดเป็นกรด ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง

โดยเรื่องนี้ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยว่า การใส่หน้ากากอนามัยไม่ได้ทำให้เลือดเป็นกรด  แต่อาจมีคาร์บอนไดออกไซด์คั่งค้าง เพราะเวลาเราใส่หน้ากากนานๆ ลมหายใจส่วนหนึ่งจะถูกกักไว้ ซึ่งก็เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ จึงเป็นที่มาว่า หากอยู่คนเดียวก็ไม่ต้องใส่ แต่หากไปในที่ชุมชนไม่ต้องใส่ ดังนั้น เลือดเป็นกรด ไม่จริง แต่เพลียบ้างอาจมีและทำให้เกิดอาการปวดหัวตามมา จนหลายคนมีความกังวล และแชร์ข้อมูลนี้กันไปจำนวนมาก หลังจากมีสำนักข่าวบางสำนักได้นำเสนอข้อมูลเรื่องนี้ไปก่อนหน้านี้

หน้ากากอนามัยใส่เกิน 2 ชม.ได้ปลอดภัย ไม่ต้องถอดพัก!!

ทางด้าน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ว่า

...

"การใส่หน้ากากอนามัยนานๆ ไม่น่าจะทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด สืบเนื่องจากมีการส่งต่อข้อความกัน ทำนองว่า "ใส่หน้ากากนานๆ ระวังเกิดอาการภาวะเลือดเป็นกรด เนื่องจากได้รับคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปปะปน ทำให้ได้รับออกซิเจนน้อยเกินไป ใส่เป็นประจำ โดยไม่พัก อาจทำให้เสียชีวิตได้"  

ข้อเท็จจริง คือ  เรื่องนี้ มีทั้งส่วนจริงและส่วนไม่จริงปนกันครับ คือการใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานานๆ อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ ! แต่ไม่น่าจะใช่เรื่อง "ภาวะเลือดเป็นกรด"  เนื่องจากเลือดเป็นกรด (Acidosis) คือ ภาวะความผิดปกติของเลือดในร่างกาย ที่มีค่าพีเอช (pH) ต่ำกว่าปรกติ ที่ควรอยู่ในช่วง 7.35-7.45 ซึ่งถ้าภาวะกรดนี้เกิดจากระบบหายใจ ก็จะเกิดขึ้นเมื่อปอดไม่สามารถขจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกทางการหายใจได้เพียงพอ จึงเกิดการสะสมของก๊าซภายในร่างกายเป็นจำนวนมาก จนทำให้เลือดมีความเป็นกรดมากกว่าปกติ

ภาวะเลือดเป็นกรดจากระบบหายใจ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง , การบาดเจ็บบริเวณหน้าอก , ภาวะหรือโรคอ้วนซึ่งอาจทำให้หายใจลำบาก , การใช้ยาที่มีฤทธิ์กดประสาทอย่างไม่เหมาะสมทำให้การหายใจลดลง , การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินปริมาณที่พอดี , ปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท , โครงสร้างของหน้าอกผิดรูปร่าง เช่น หลังค่อม , กล้ามเนื้อหน้าอกที่เกี่ยวข้องกับการหายใจไม่แข็งแรง

จะเห็นได้ว่า การใส่หน้ากากอนามัยนั้น โดยรวมแล้ว ไม่ได้เกิดผลเสียจากการขจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกาย แต่อาจเกิดอาการ "ขาดออกซิเจน" มากกว่า

ในกรณีของ “หน้ากาก  N95” ถูกออกแบบมาให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ในห้องปฏิบัติการเชื้อโรค โดยจะแนบสนิทกับใบหน้า ไม่มีลมรั่วเข้าด้านข้างเลย และจะต้องออกแรงหายใจเข้ามากขึ้น ทำให้เมื่อใส่เป็นเวลานานๆ อาจทำให้ผู้สวมใส่ขาดออกซิเจน จนถึงขั้นหมดสติได้ .... จึงไม่ควรใส่ต่อเนื่องนานเกิน 1 ชั่วโมง  

ส่วน “หน้ากากอนามัยธรรมดา”  ทั้งแบบหน้ากากทางการแพทย์และหน้ากากผ้า จะมีช่องให้ลมเข้าออกทางด้านข้างของใบหน้าได้ ผู้สามใส่จึงไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาออกซิเจน เหมือนหน้ากากแบบ n95

แต่กระนั้น ถ้าใส่เป็นเวลานานหลายชั่วโมง ก็อาจจะเกิดกลิ่นอับและคราบเหงื่อไคลขึ้นได้ โดยเฉพาะตามรอยขอบหน้ากากหรือสายคล้องหู และอาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือคันขึ้นได้  ยิ่งถ้าเกิดมีการไอจามในขณะสวมใส่ ก็จะมีการสะสมเชื้อเพิ่มขึ้นในหน้ากาก จึงควรเปลี่ยนทิ้งเมื่อใช้ติดต่อกันนานหลายชั่วโมงแล้วเริ่มเก่าแล้ว (หรือนำไปซัก ในกรณีของหน้ากากผ้า) 

สรุปว่า หน้ากาก n95 ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเกิน 1 ชั่วโมงจริง ไม่เช่นนั้นจะเกิดอาการขาดออกซิเจน ... ส่วนหน้ากากอนามัยแบบธรรมดา สามารถใช้ต่อเนื่องได้หลายชั่วโมง เพียงแต่ต้องรักษาความสะอาดและใช้ให้เหมาะสม

หน้ากากอนามัยใส่เกิน 2 ชม.ได้ปลอดภัย ไม่ต้องถอดพัก!!

นอกจากนี้ นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรมโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก Jiraruj Praise เนื้อความว่า

...

#หน้ากากอนามัยใส่เกิน2ชม.ได้ปลอดภัย ไม่ต้องถอดพัก...!!!

ผมได้ทำการทดสอบกับตนเอง ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย และปิดด้วยเทปเพื่อป้องกันการเล็ดลอดของละอองฝอย เสมือนเวลาทำงานจริง ตามภาพ 3 ชม.ต่อเนื่อง

เริ่มต้นผมได้วัดความเข้มข้นออกซิเจนในเลือดด้วยเครื่องวัดปลายนิ้ว และ "#เจาะเลือดตนเอง" (capillary blood gas) เพื่อตรวจค่าความเป็นกรดเป็นด่างของเลือด (pH) และระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด (PCO2) ก่อนใส่หน้ากาก เปรียบเทียบ กับหลังใส่หน้ากาก 3 ชั่วโมง

ผลที่ออกมาคือ ความเข้มข้นของออกซิเจนจากปลายนิ้ว ไม่เปลี่ยนแปลงคือ 98%

ค่าความเป็นกรดด่างของเลือด มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ไม่มีนัยยะสำคัญ ไม่มีภาวะกรดคั่งในเลือด

ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด มีค่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่มีนัยยะสำคัญ และไม่เกินกว่าค่าปกติ และไม่มีผลต่อระบบไหลเวียน ไม่มีผลต่อการทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่นปวดศีรษะ

หากใส่หน้ากากแบบประชาชนทั่วไป ไม่ได้มีการปิดเทป แบบผมในภาพ ยิ่งไม่ควรมีการคั่งของก๊าซใดๆ ทั้งนั้น และน่าจะปลอดภัยยิ่งกว่า การใส่แบบผมอีก

การถอดหน้ากากเข้าๆ ออกๆ เพื่อพักหรือเพื่ออะไรก็ตาม โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่หน้างาน สุ่มเสี่ยงจะทำให้เกิดการปนเปื้อน ของมือที่สัมผัสหน้ากาก และสัมผัสใบหน้า

ส่วนหน้ากากชนิด n95 ผมยังไม่ได้ทำการทดลอง แต่โดยทั่วไป เราไม่ได้แนะนำให้ประชาชนทั่วไปใส่อยู่แล้ว คู่มือการใช้งานของหน้ากากก็ไม่แนะนำให้ใส่เป็นเวลานานๆ แพทย์พยาบาลเจ้าหน้าที่ที่ต้องดูแลผู้ป่วย หากต้องใส่ n95 นาน เช่นต้องเกินกว่าครึ่งชั่วโมง เราก็จะหลบไปใช้ ชุดป้องกันที่มีอากาศหมุนเวียน หรือมีอากาศป้อนเข้ามาในชุด( PAPR)

ดังนั้นหน้ากากอนามัย ใส่ยาวๆได้เลยครับ ปลอดภัย แม้จะใส่แบบในภาพก็ตาม

แต่หากเปียกหรือปนเปื้อน ควรเปลี่ยนนะครับ

การทดลองนี้ทำในผู้มีสุขภาพปกตินะครับ ผู้มีโรคประจำตัว โรคปอดเรื้องรัง โรคหัวใจ เด็กเล็ก ไม่สามารถอ้างอิงได้นะครับหน้ากากที่ทดลองเป็นหน้ากากอนามัยมาตรฐานที่ใช้ในรพ.นะครับ ไม่รวมหน้ากากผ้า และชนิดอื่นๆ

หากผู้เชี่ยวชาญท่านใดทำการทดลองแล้วได้ผลเป็นอย่างอื่น สามารถแสดงความเห็นได้เลยนะครับ

สำนักข่าวใด ที่เคยลงข่าวประมาณว่า ควรถอดพักทุก 2 ชั่วโมง รบกวนนำข้อมูลอีกด้านไปเสนอด้วยนะครับ เพื่อความเข้าใจอย่างรอบด้าน

ด้วยความปรารถนาดี

#หมอจิรรุจน์กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ