posttoday

Work From Home อย่างไร ไม่ให้เสี่ยงออฟฟิศซินโดรม

10 เมษายน 2563

คุณหมอเป็นห่วงคน Work From Home ชวนเช็กตัวเองว่ามีพฤติกรรมที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง "ออฟฟิศซินโดรม" หรือไม่

ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวเมื่อย่างก้าวเข้าเดือนเมษายน บวกกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ก็ยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน หลายหน่วยงานพร้อมใจลดความเสี่ยงด้วยการให้พนักงาน “Work From Home อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”  ถึงเราจะไม่ได้เข้าไปนั่งทำงานในออฟฟิศ แต่ก็อย่าละเลยความเสี่ยงในการนั่งทำงานที่บ้าน  เพราะหากปฏิบัติตนไม่ถูกต้องก็อาจจะส่งผลให้เราป่วยเป็น "โรคออฟฟิศซินโดรม" ได้โดยไม่รู้ตัว

Work From Home อย่างไร ไม่ให้เสี่ยงออฟฟิศซินโดรม

แม้ว่าออฟฟิศซินโดรมจะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง กระทบต่อประสิทธิภาพและความสุขในการทำงานได้  ซึ่งในเรื่องนี้ นายแพทย์เฉลิมพล ชีวีวัฒน์ เเพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ประจำศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า  

ออฟฟิศซินโดรม  เป็นกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด พบได้บ่อยในผู้ที่นั่งทำงานในออฟฟิศ เกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นท่าทางการทำงาน ท่านั่งทำงาน การวางมือ ข้อศอกบนโต๊ะทำงานที่ไม่ถูกต้อง การใช้ข้อมือซ้ำๆ ทำให้เกิดการอักเสบของเอ็นบริเวณข้อมือ หรือพังผืดเส้นประสาทบริเวณข้อมือได้  รวมไปถึงการจัดสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น ลักษณะโต๊ะทำงาน หน้าจอคอมพิวเตอร์ แสงสว่างในห้องทำงาน เป็นต้น 

อาการบ่งชี้เสี่ยงเป็นออฟฟิศซินโดรม

อาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด โดยเฉพาะบริเวณคอ บ่า สะบัก การอักเสบของเส้นเอ็นบริเวณข้อศอก ข้อมือ นิ้วมือ เช่น การอักเสบของเอ็นโค่นนิ้วโป้ง นิ้วล็อค  การกดทับปลายประสาท ทำให้เกิดอาการชา รวมถึงอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ 

เช็กลิสต์คุณเข้าข่ายป่วยออฟฟิศซินโดรมหรือไม่ ด้วยแบบประเมินตนเองอย่างง่ายๆ เพื่อดูความเสี่ยง

  • คุณเป็นคนที่นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวันหรือไม่?
  • ระหว่างทำงาน คุณมักจะรู้สึกปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ ไหล่ หลัง เอว อยู่เสมอหรือไม่?
  • ระหว่างทำงาน คุณรู้สึกปวดเมื่อยจนบางครั้งต้องกินยาแก้ปวด หรือไปนวดเพื่อให้หายปวดหรือไม่?
  • คุณรู้สึกตาพร่ามัว อ่านหน้าจอไม่ชัด ระหว่างทำงานเป็นบางครั้งหรือไม่?

หากคำตอบส่วนใหญ่คือ  “ใช่”  แสดงว่าคุณเริ่มมีความเสี่ยงกับโรคนี้ เบื้องต้นควรรีบปรับพฤติกรรม หรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว 

Work From Home อย่างไร ไม่ให้เสี่ยงออฟฟิศซินโดรม

ปรับท่าทาง จัดสิ่งแวดล้อมให้ดี สร้างสุขในการทำงาน

ปรับท่าทางในการทำงานให้ถูกต้อง  ด้วยการนั่งหลังตรง ฝ่าเท้าสองข้างแนบสนิทพื้น ไหล่ผ่อนคลาย ศอก สะโพก และเข่า งอประมาณ 90 องศา ข้อมือควรอยู่ในท่าตรง ไม่กระดก หรืองอมากเกินไป ในระหว่างทำงานควรมีการยืดกล้ามเนื้อ พักสายตาอย่างน้อยทุกชั่วโมง

ปรับสิ่งแวดล้อมและอุปกรณ์ในการทำงานที่เหมาะสม โต๊ะทำงานควรมีลิ้นชักแยกไว้วางคีย์บอร์ด เก้าอี้นั่งต้องมั่นคง ปรับระดับสูงต่ำได้ จอคอมพิวเตอร์ขอบบนจออยู่ระดับสายตา

ในเบื้องต้นหากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและจัดสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมแล้วยังคงมีอาการปวดรุนแรงอยู่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคและพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม