posttoday

กินอาหารเป็นยา : หอมใหญ่ หอมเล็ก กระเทียม 3 เซียนต้าน COVID-19

05 เมษายน 2563

เมื่อเชื้อไวรัส ไม่มียาฆ่า ตัวที่ฆ่าคือภูมิคุ้มกันของเรา มาเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วยของใกล้ตัวจาก “หอมใหญ่ หอมเล็ก กระเทียม” 3 เซียนกับเมนูบ้านๆ ที่ช่วยต้าน COVID-19 กันดีกว่า

กินอาหารเป็นยา

กินอาหารเป็นยา : หอมใหญ่ หอมเล็ก กระเทียม  3 เซียนต้าน COVID-19

หอมใหญ่ หอมเล็ก ในหัวหอมมีสารเคอร์ซิติน (Quercetin) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยบรรเทาอาการหวัดคัดจมูก ช่วยต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่แบบไม่ต้องสงสัย และยังมีฤทธิ์ต้านฮีสตามีน ช่วยขยายหลอดลม หอมสดจะมีน้ำมันหอมระเหยมากกว่าหอมที่ผ่านความร้อน และใช้แก้อาการหวัดได้ดี ทั้งยังมีสารฟลาโวนอล (Flavonols) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี ช่วยลดการอักเสบ ผู้ที่รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยฟลาโวนอลเป็นประจำ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจลดลง

กินอาหารเป็นยา : หอมใหญ่ หอมเล็ก กระเทียม  3 เซียนต้าน COVID-19

กระเทียม ในกระเทียมมีสารอัลลิซิน ( Alliicin) ซึ่งช่วยต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ การรับประทานกระเทียมสดไม่ได้แค่ช่วยลดความดันโลหิตสูงอย่างที่ใครหลายคนเชื่อถือกันเท่านั้น แต่ยังสามารถป้องกันและลดระยะเวลาการเป็นหวัดได้ด้วย ยิ่งเป็นกระเทียมดอง หรือกระเทียมบ่มสกัด (AGE) จะมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และมีประสิทธิผลในการป้องกันหวัดได้ดีเทียบเท่ากับวัคซีนทีเดียว

กินอาหารเป็นยา

กินอาหารเป็นยา : หอมใหญ่ หอมเล็ก กระเทียม  3 เซียนต้าน COVID-19

เมนูต้มยำ

เมนูสมุนไพรภูมิปัญญาไทย ซดร้อนๆ ได้รสชาติเด็ดจัดจ้าน เต็มไปด้วยสมุนไพรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น "ข่า" ช่วยบำรุงระบบไหลเวียนโลหิต "ตะไคร้" ช่วยบรรเทาอาการหวัด "ใบมะกรูด" ช่วยแก้ลม หน้ามืด วิงเวียนศีรษะฯ

บีบ "น้ำมะนาว" เพิ่มความเปรี้ยว อุดมด้วยวิตามินซีที่ดีต่อร่างกาย มีส่วนช่วยในรักษาโรคและอาการต่างๆ เช่น ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ ช่วยแก้อาเจียนอันเนื่องมาจากความผิดปกติของธาตุในร่างกาย  ช่วยบรรเทาอาการไข้ โดยรวมแล้วต้มยำจึงช่วยบำรุงระบบหายใจ และทำให้หายคัดจมูกได้เป็นอย่างดี

เทคนิคการทำต้มยำให้อร่อยของหลายร้านจะใส่ "หอมแดง" ทุบเบาๆ ลงไปด้วย เพื่อให้ได้น้ำซุปที่หอมหวานกลมกล่อมกว่าเดิม แถมยังให้รสชาติหวานเมื่อหัวหอมผ่านความร้อน อร่อยได้ประโยชน์แบบนี้ต้องมีในมื้อต่อไปแล้วละ 

กินอาหารเป็นยา : หอมใหญ่ หอมเล็ก กระเทียม  3 เซียนต้าน COVID-19

เมนูต้มซุปไก่

งานวิจัยโดย ดร.สตีเฟน เรนนาร์ด หัวหน้าแผนกโรคปอด แห่งมหาวิทยาลัยเนบราสกา พบว่า ซุปไก่มีฤทธิ์ยับยั้งการเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดขาวชนิดที่เรียกว่า นิวโทรฟิลด์ ไปยังเนื้อเยื่อปอด ซึ่งจะช่วยลดขบวนการอักเสบในปอด และลดอาการไอได้ ตำรับซุปไก่ดังกล่าวเรียกกันว่า ซุปของคุณยาย (Grandma’s soup) ซึ่งประกอบด้วยไก่ มะเขือเทศ หัวหอมใหญ่ มันฝรั่ง ก้านขึ้นฉ่าย ผักชี แครอท หัวผักกาด เกลือ และพริกไทย

เมื่อพิจารณาถึงส่วนผสมแต่ละชนิดที่นำมาประกอบเป็นเมนูซุปไก่แล้ว จะเห็นได้ว่าเราก็จะได้รับคุณประโยชน์จากส่วนผสมนั้นๆ ต่อร่างกายอีกอาทิ  "เนื้อไก่" แหล่งของโปรตีนและกรดอะมิโนที่มีคุณภาพสูง ทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก มีไขมันและแคลอรี่ต่ำ ย่อยง่าย และที่สำคัญที่สุดคือเป็นแหล่งของวิตามินบี 12 ซึ่งมีส่วนช่วยในการทำงานของระบบประสาทและสมอง ช่วยในการบำรุงสุขภาพเส้นประสาทและเซลล์อื่ๆ ช่วยให้การส่งสัญญาณประสาทได้เร็ว เด็กๆ ยังต้องได้รับวิตามินบี12 เพื่อการเจริญเติบโตด้วย 

"หอมใหญ่" อุดมไปด้วยแร่ธาตุและสารประกอบที่จำเป็นต่อร่างกาย อาทิ แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม กรดโฟลิก  ช่วยให้เจริญอาหาร เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน หอมใหญ่มีสารฟลาโวนอล (Flavonols) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี ช่วยลดการอักเสบ ผู้ที่รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยฟลาโวนอลเป็นประจำ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจลดลง

"แครอท" บำรุงสุขภาพตา อุดมไปด้วยโปรวิตามินเอ ทั้งยังเป็นแหล่งรวมของเบต้าแคโรทีนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีมีเส้นใยอาหารดีต่อระบบย่อยและขับถ่าย

"มะเขือเทศ" อาหารต้านมะเร็งที่ดี แหล่งของวิตามินนานาชนิดทั้งโปรวิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี และสารต้านอนุมูลอิสระเลื่องชื่ออย่างไลโคพีนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีที่สุดในบรรดากลุ่มแคโรทีนอยด์ที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร และลดความเสี่ยงของโรคหัวใจเฉียบพลัน ช่วยเสริมความจำ และป้องกันอาการหลงลืมได้เป็นอย่างดี มะเขือเทศยังช่วยบำรุงผิวพรรณให้สดใส เนียนนุ่ม ไม่แห้งกร้าน ช่วยบำรุงสายตา ช่วยป้องกันหลอดเลือดแข็งตัว

กินอาหารเป็นยา : หอมใหญ่ หอมเล็ก กระเทียม  3 เซียนต้าน COVID-19

เมนูหมูทอดกระเทียม

"เนื้อหมู" อุดมด้วยโปรตีน กรดไขมัน กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และคอเลสเตอรอล ซึ่งเนื้อหมูจะมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของเนื้อเยื้อ อวัยวะต่างๆ ในร่างกาย วิธีการเลือกเนื้อหมู เนื้อต้องเป็นสีชมพู ไม่ออกแดงมากเกินไป เพราะอาจมีส่วนผสมของสีผสมอาหาร หรือสารปนเปื้อน ต้องไม่มีสีเขียว หรือรอยช้ำ เพราะบ่งบอกถึงลักษณะของเนื้อหมูค้างคืน ไม่สดใหม่

"กระเทียม" ปรับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด มีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จึงเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน บำรุงเลือด ป้องกันอาการโลหิตจาง เพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ป้องกันโรคหัวใจ ลดอาการท้องผูก ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น ช่วยขับลม แก้อาการจุดเสียดแน่นท้อง ป้องกันไข้หวัด ยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา มีสารต้านอนุมูลอิสระ บำรุงผิวพรรณ และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง ทั้งนี้ สารอัลลิซินในกระเทียมจะต้องผ่านการหั่น สับ ทุบ หรือบด ก่อนนำมาปรุงอาหาร 5-10 นาที โดยสารอัลลิซินนี้จะไม่สลายหายไปเมื่อถูกความร้อน เพราะฉะนั้นจะทานสดหรือจะปรุงอาหารในน้ำมันก็ไม่เป็นไร