posttoday

เรียนรู้ อยู่อย่างเข้าใจ กับโรคเบาหวาน

25 มกราคม 2563

อยู่กับโรคเบาหวานอย่างไรให้มีความสุข ไม่ใช่ว่าจะต้องห้ามทานอาหารทุกๆ อย่าง แต่ต้องรู้ว่าควรกินได้ในปริมาณเท่าไหร่จึงไม่ก่ออันตราย

อยู่กับโรคเบาหวานอย่างไรให้มีความสุข ไม่ใช่ว่าจะต้องห้ามทานอาหารทุกๆ อย่าง แต่ต้องรู้ว่าควรกินได้ในปริมาณเท่าไหร่จึงไม่ก่ออันตราย

“โรคเบาหวาน” ถ้าเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีคนเป็นโรคเบาหวานมากขึ้นถึงสองเท่าตัว บ้างก็ว่าเป็นเพราะการตรวจคัดกรองที่ดีขึ้น และส่วนหนึ่งมาจากที่คนมีอายุยืนยาวมากขึ้น พออายุมากร่างกายก็เสื่อมถอย โอกาสเป็นเบาหวานจึงมากขึ้นตาม แต่ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือ ปัจจุบันพบว่าคนเป็นโรคเบาหวานมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ 30 เศษๆ ก็เป็นกันแล้ว

คนที่เป็นตั้งแต่อายุยังน้อยต้องอยู่กับเบาหวานไปตลอดชีวิตเลยทีเดียว คิดดูว่าถ้าเริ่มเป็นเบาหวานตั้งแต่อายุ 30 ปี แล้วเราต้องอยู่ไปจนถึงอายุ 80 ปี เท่ากับเราต้องอยู่กับเบาหวานนานถึง 50 ปี นี่มันครึ่งชีวิตเลยทีเดียวนะ และยิ่งต้องอยู่กับเบาหวานนานมากเท่าไหร่ โรคแทรกซ้อนย่อมตามมามากขึ้นเท่านั้น โดยเฉลี่ยของคนที่เป็นโรคเบาหวานเกิน 10 ปี ขึ้นไป จะเริ่มมีโรคแทรกซ้อนตามมา ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ ความดันโลหิต ไขมันในเส้นเลือด โรคไต และอื่นๆ ตามมาอีกเป็นแถว

เรียนรู้ อยู่อย่างเข้าใจ กับโรคเบาหวาน

เรียนรู้และเข้าใจในเบาหวาน

คนที่เป็นเบาหวานส่วนใหญ่มักได้รับมรดกมาจากพ่อแม่ ตามสถิติพบว่าคนที่เป็นเบาหวานมากกว่าครึ่งมีคนใดคนหนึ่งในครอบครัวเป็นด้วย เพราะฉะนั้นโรคเบาหวานส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม ถ้าพ่อหรือแม่เป็นเบาหวานเรามีโอกาสเป็นมากกว่าคนอื่น 1 เท่า แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นเบาหวาน เรามีโอกาสเป็นเบาหวานมากกว่าคนอื่นถึง 2 เท่า แต่จะเป็นเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตของเรา ว่ารู้จักกิน รู้จักออกกำลังกาย รู้จักปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตหรือไม่ ถ้าไม่เบาหวานก็มาหาเร็วหน่อย ที่สำคัญเบาหวานเป็นอะไรที่ค่อยเป็นค่อยไปกว่าจะมีอาการให้เห็น นั่นหมายความว่าคุณอาจเป็นมานานแล้ว เช่น หิวน้ำบ่อย คอแห้ง กินจุแต่ผอมลงๆ ซึ่งถ้าเราย้อนดูประวัติเขากลับไปซัก 5-10 ปี จะเห็นว่าน้ำตาลมันค่อยๆ ขึ้นมานานแล้ว แต่ไม่ได้สนใจ ปล่อยให้ระดับน้ำตาลมันค่อยๆ ไต่ จนกระทั่งสูงถึงขั้นฟันธงว่าเป็นเบาหวานแน่ๆ ซึ่งถ้าเราย้อนกลับไปคุมน้ำตาลตั้งแต่วันนั้น เราก็อาจไม่เป็นเบาหวานเลยในวันนี้

เบาหวานแบ่งได้เป็น 4 ชนิด

  • ชนิดที่ 1 คือเบาหวานในเด็ก สำหรับบ้านเราพบได้น้อย มีเพียงประมาณ 5% แต่เด็กในแถบสแกนดิเนเวียเป็นกันมากถึง 30% และเนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เลยตั้งแต่เด็ก ดังนั้นเด็กน้อยจึงต้องอยู่กับเบาหวานไปตลอดชีวิต
  • ชนิดที่ 2 คือ เบาหวานในผู้ใหญ่ ในคนทั่วไปที่เรารู้จักกันดี มีความสัมพันธ์กับเรื่องของอายุ พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมในการใช้ชีวิต
  • ชนิดที่ 3 คือ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ปัจจุบันพบว่า 1 ใน 4 ของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เป็นเบาหวาน เนื่องจากผู้หญิงในปัจจุบันตั้งครรภ์กันตอนอายุมาก เหตุผลเพราะรอให้มีความพร้อมทางฐานะการเงินก่อน เมื่อฐานะทางการเงินพร้อม เบาหวานก็พร้อมมาด้วยเช่นกัน และจากการติดตามคนที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ไปเรื่อยๆ พบว่ามีโอกาสที่จะเป็นเบาหวานจริงๆ ได้ในอนาคต
  • ชนิดที่ 4 คือ เบาหวานที่เกิดจากโรคบางอย่าง เช่น กินเหล้าจนตับอ่อนไม่สามารถทำงานได้ เบาหวานที่เกิดจากการทานยาบางชนิด หรือเนื้องอกบางชนิดทำให้เป็นเบาหวานแต่พบได้น้อยมากสำหรับเบาหวานชนิดนี้

เรียนรู้ อยู่อย่างเข้าใจ กับโรคเบาหวาน

ทำอย่างไรเมื่อเบาหวานมาเยือน

การมุ่งแต่รักษาโรคเบาหวานเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ เราไม่สามารถหยุดอายุไว้ได้ เราไม่สามารถกลับไปแก้ไขพันธุกรรมได้ แต่เราสามารถควบคุมแก้ไขสิ่งแวดล้อมของตัวเราเองได้ ถ้าเราสามารถตรวจเจอเบาหวานตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วรีบป้องกัน ควบคุมให้ดีๆ ตั้งแต่แรกเริ่มที่น้ำตาลยังไม่สูง จะสามารถควบคุมได้ง่าย และอาจไม่มีโรคแทรกซ้อนเลยก็เป็นได้

การคุม คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เบาหวานคุมได้หรือไม่อยู่ที่พฤติกรรมการกินการอยู่ ใครบอกว่าเป็นเบาหวานแล้วกินไม่ได้ กินได้ทุกอย่าง ทุเรียนยังกินได้เลย แค่เราจะกินเหมือนคนที่ไม่เป็นเบาหวานไม่ได้ ต้องรู้ว่าอะไรกินได้แค่ไหน บางอย่างต้องกินน้อยลง เช่น ข้าว แป้ง บางอย่างต้องกินมากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ร่างกายต้องการ ใครที่ยังไม่เป็นเบาหวานถ้าป้องกันและควบคุมตัวเองได้ก็มีโอกาสไม่เป็นเบาหวานเลย แต่ถ้าใครที่เป็นก็มีโอกาสที่จะรอดพ้นจากภาวะแทรกซ้อน

เรียนรู้ อยู่อย่างเข้าใจ กับโรคเบาหวาน

กลวิธีปราบเบาหวาน

เบาหวานเป็นอะไรที่ไม่หายขาด เบาหวานไม่ต้องรอการรักษาด้วยการผ่าตัด แต่เบาหวานต้องการการเรียนรู้ ปัจจุบันจะพึ่งหมออย่างเดียวไม่ได้ คนที่เป็นต้องพึ่งตัวเอง โดยคุณหมอจะมีคลาสสอนเรื่องเบาหวานให้กับคนไข้ เพื่อที่จะได้เรียนรู้ว่าจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร อาหารการกินต้องกินอย่างไร ต้องรู้จักฉลาดซื้อ ฉลาดเลือก พลิกหน้าพลิกหลังดูฉลากอาหารก่อนซื้อ ว่ามีแคลลอรี่เท่าไหร่ น้ำตาลเท่าไหร่ ควรกินได้ในปริมาณเท่าไหร่

ที่สำคัญคนที่เป็นเบาหวานต้องรู้จักน้ำตาลของตนเอง สามารถตรวจเบาหวานที่ปลายนิ้วเองได้ที่บ้าน ซึ่งจะสามารถช่วยให้การควบคุมน้ำตาลเป็นไปได้อย่างดี เพราะในแต่ละมื้อคนไข้จะทราบเลยว่าถ้ากินแบบนี้แล้วน้ำตาลขึ้น มื้อต่อไปต้องลดหรือเปลี่ยนการกิน มีคนไข้รายหนึ่งชอบกินทุเรียนมาก มื้อแรกกินไป 1 พลู ผลการเจาะน้ำตาลพุ่งกระฉูด มื้อที่สองจึงลดลงมาเหลือ 3 เม็ด น้ำตาลก็ลดแต่ยังไม่พ้นขีดอันตราย มื้อที่สามจึงลองใหม่คราวนี้กินเม็ดเดียวพอ ผลน้ำตาลออกมาเป็นที่น่าพอใจ คนไข้จึงเรียนรู้ด้วยตัวเองว่า อ๋อ…ฉันก็กินทุเรียนได้ แต่กินได้แค่ครั้งละ 1 เม็ด แบบนี้ก็ไม่ต้องอดอีกต่อไป ชีวิตก็แฮปปี้มีความสุข จะเห็นว่าเบาหวานไม่ใช่ว่าจะต้องห้ามทานอาหารทุกๆ อย่าง แต่ต้องรู้ว่าควรกินได้ในปริมาณเท่าไหร่ จึงไม่ก่ออันตราย

 

ภาพ freepik