posttoday

10 วิธีนอนถูกหลักอนามัย Sleep Hygiene นอนอย่างไรกัน

15 มกราคม 2563

10 วิธีที่ช่วยให้การนอนมีประสิทธิภาพ เพื่อการนอนที่ถูกหลักอนามัย (Sleep Hygiene) พร้อมเลิกเข้าใจผิดเรื่องกินนมอุ่น จิบชาคาโมมายด์ หรือออกกำลังกายให้เหนื่อยจะช่วยให้หลับง่าย

10 วิธีที่ช่วยให้การนอนมีประสิทธิภาพ เพื่อการนอนที่ถูกหลักอนามัย (Sleep Hygiene) พร้อมเลิกเข้าใจผิดเรื่องกินนมอุ่น จิบชาคาโมมายด์ หรือออกกำลังกายให้เหนื่อยจะช่วยให้หลับง่าย

สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สสส.) ชวนคนไทยใส่ใจการนอนในงานเสวนา “Why We Sleep: นอนเปลี่ยนชีวิต” ภายใต้โครงการขับเคลื่อนความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและครอบครัว และการพัฒนาศักยภาพเยาวชน

10 วิธีนอนถูกหลักอนามัย Sleep Hygiene นอนอย่างไรกัน

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผอ.สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า การนอนพักผ่อนที่เพียงพอเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้มีสุขภาพที่แข็งแรงและคุณภาพชีวิตที่ดี ข้อมูลวิชาการชี้ชัดว่า หากนอนไม่มีคุณภาพจะส่งผลกระทบทางสุขภาพและสังคม ทั้งก่อให้เกิดโรคภัยต่างๆ การด้อยประสิทธิภาพการทำงาน หรือการเกิดอุบัติเหตุ

10 วิธีนอนถูกหลักอนามัย Sleep Hygiene นอนอย่างไรกัน

สำหรับการนอนที่ถูกหลักอนามัย (sleep hygiene) สำหรับผู้ใหญ่มีข้อปฏิบัติ 10 ประการ ดังนี้

  1. ควรเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาเป็นประจำทุกวัน ทั้งวันทำงานและวันหยุด
  2. ไม่ควรงีบในเวลากลางวัน ถ้านอนกลางวันเป็นประจำ ไม่ควรงีบเกิน 30 นาที และไม่ควรงีบหลังบ่าย 15.00 น.
  3. หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนนอน
  4. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และอาหารมื้อหนัก รสจัด เผ็ด หรืออาหารหวานอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน
  5. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนนอน
  6. เตียงนอนควรเป็นเตียงที่นอนแล้วสบาย มีอุณหภูมิที่เหมาะสม ระบายอากาศดี ไม่ควรมีแสงเล็ดลอดเข้ามา และไม่ควรมีเสียงดัง
  7. ควรผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวล ไม่ควรดูภาพยนตร์ตื่นเต้นสยองขวัญก่อนนอน
  8. ควรใช้ห้องนอนเพื่อการนอนและกิจกรรมทางเพศเท่านั้น อย่าใช้ห้องนอนและเตียงนอนเป็นที่ทำงาน เล่นโทรศัพท์มือถือ ดูโทรทัศน์
  9. หากนอนไม่หลับภายใน 30 นาที ควรลุกจากที่นอนทำกิจกรรมเบาๆ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลงเบา ๆ แล้วกลับมานอนใหม่อีกครั้งเมื่อง่วง
  10. รับแสงแดดให้เพียงพอในตอนเช้าอย่างน้อย 30 นาทีทุกวัน เนื่องจากแสงแดดเป็นตัวควบคุมนาฬิกาชีวิตที่สำคัญ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำติดต่อกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ จะช่วยให้หลับได้ดี มีความตื่นตัวในเวลากลางวัน ทำงานได้ดีขึ้น และสุขภาพทางกาย-ใจดีขึ้น

10 วิธีนอนถูกหลักอนามัย Sleep Hygiene นอนอย่างไรกัน

ทางด้าน นพ.ณัฐพงษ์ เจียมจริยธรรม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าศูนย์นิทราเวชโรงพบาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า คนไข้ส่วนใหญ่ที่มารักษาที่ศูนย์นิทราเวช 80% มาด้วยปัญหาการนอนกรน แล้วมีภาวะหยุดหายใจตอนนอน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การนอนไม่เพียงพอ หรือนอนไม่มีคุณภาพ นอกจากนั้น อีก 20% เป็นการนอนไม่หลับ ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ เช่น มาจากอาการป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดัน ต้องตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ตอนกลางคืน ทำให้หลับยาก หรือมีอาการหลับๆ ตื่นๆ หรือการหยุดหายใจระหว่างหลับ ซึ่งเมื่อคนมีอาการนอนไม่หลับไปพบแพทย์ สิ่งที่มักจะได้กลับมาคือ ยานอนหลับ แต่ความจริงคือ การกินยานอนหลับไม่ได้ช่วยรักษาโรคนอนไม่หลับให้หายขาดได้ แถมตื่นขึ้นมาเขาจะรู้สึกว่าไม่สดชื่น เพลีย เพราะไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อความเข้าใจผิดๆ เช่น การดื่มนมอุ่นๆ จิบชาคาโมมายล์ ก่อนนอน ออกกำลังกายให้เหนื่อยแล้วจะนอนหลับ ซึ่งแพทย์จะไม่แนะนำให้ออกกำลังกายช่วง 4-6 ชม. ก่อนนอน หรือแม้แต่อาการเครียด ทำให้นอนไม่หลับแท้จริงแล้ว อาจเป็นสาเหตุให้นอนไม่หลับในครั้งแรก แต่เมื่อสถานการณ์กดดันต่างๆ หายไป แต่ยังนอนไม่หลับจึงเกิดจากการฝึกให้ตัวเองไม่หลับมาเรื่อยๆ จนเคยชิน ซึ่งวิธีการรักษาอาการนอนไม่หลับที่ได้ผลดี 60-70% หายแต่อาจต้องใช้เวลา คือ การปรับพฤติกรรมและความคิด โดยต้องไม่เครียดหรือตั้งใจจนเกินไป ลองปฏิบัติตามหลักสุขลักษณะการนอนที่ดี

 

 

ภาพ สสส. / freepik