posttoday

"Jinta Homemade Icecream" ไอศกรีมกินเป็นยา

14 พฤศจิกายน 2562

รู้จัก "Jinta Homemade Icecream" แบรนด์ไอศกรีมที่ทำจากผักและผลไม้ ด้วยหวังให้คนกินมีสุขภาพที่ดี

รู้จัก "Jinta Homemade Icecream" แบรนด์ไอศกรีมที่ทำจากผักและผลไม้ ด้วยหวังให้คนกินมีสุขภาพที่ดี

***********************************

โดย...รัชพล ธนศุทธิสกุล

ของหวานๆ เย็นๆ ไม่มีพ่อคนไหนอยากให้คนรักทานในปริมาณที่มากเกิน

แต่ถ้าเป็น ‘Jinta Homemade Icecream’ แบรนด์ไอศกรีมที่นำเอาผักและผลไม้มาผสมจนได้รสชาติที่ถูกลิ้นพร้อมกับสารวิตามินและแร่ธาตุ ‘หนุ่ม เมธวัจน์ เกียรติกีรติสกุล’ เซลล์แมนด้านโลจิสติกส์เป็นคนที่คุณจะต้องรู้จัก

“เราป่วยเป็นมะเร็ง เราหาสาเหตุไม่เจอมาจากการที่เรากินสารเคมีสะสมๆ ซึ่งถ้าเราหรือคนรอบข้างไม่ป่วย เราก็มักจะไม่ใส่ใจ” เขากล่าวก่อนจะพาเราไปสัมผัสยารสหวานทานง่ายกับไอศกรีม ‘Jinta Homemade Icecream’

"Jinta Homemade Icecream" ไอศกรีมกินเป็นยา

จุดประกายจากลูกสาว

นอกจากความชอบในการทานไอศกรีมตั้งแต่เด็กจนโต สิ่งที่ทำให้พนักงานเซลล์ด้านโลจิสติกส์ลุกขึ้นมาสร้างแบรนด์ไอศกรีมเพราะลูกสาวตัวน้อยที่กำลังจะลืมตาดูโลก

“ภรรยาตั้งท้องลูกคนแรก ก็เลยคิดที่จะหารายได้เสริม แรกๆ ก็มองว่าจะทำกาแฟหรือเบเกอรี่แต่คนก็ทำกันเยอะแล้ว ไอศกรีมก็น่าจะเข้าทางและเราก็ชอบอยู่แล้วด้วยเวลาเหนื่อยๆ เครียดๆ ช่วยให้ผ่อนคลาย”

ไม่นานหนุ่มตัดสินใจเข้าคอร์สลงเรียนการทำไอศกรีม 2 วัน ได้ความรู้พื้นฐานในการทำและทำไอศกรีมออกมาเป็นรสชาติในตลาดอย่างรสมิ้นต์ รสวนิลา รสสตอเบอร์รี่ ฯลฯ ซึ่งหลังจากนั้นหนุ่มใช้ระยะเวลาเกือบปีทำให้ครอบครัวกินก่อนจะเริ่มทำขายในชื่อแบรนด์  ‘Jinta Homemade Icecream’ ทางออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก

“พ่อค้าใหม่แรกๆ ลูกค้าแรกก็ญาติๆ เพื่อนๆ ช่วยกัน เพราะเราไม่มีความรู้เรื่องการออกบูท การจัดร้าน แต่หลังค้าขายได้สักระยะก็มีคนแนะนำไปออกตลาดออกบูท จากนั้นก็เลยไปออกบูทเรื่อยๆ” เซลล์แมนหนุ่มวัย 40 เล่าด้วยรอยยิ้ม เพราะแม้การค้าจะไม่ปังดังเปรี้ยงแต่ก็พอที่จะพยุงสร้างรายได้ตามจุดประสงค์

“คนซื้อก็คนมาเดินตลาดแล้วร้อนก็ซื้อ แต่ไม่มีการกลับมาซื้อซ้ำเพราะมันก็มีรสชาติทั่วไปที่หาทานได้ทุกตลาด”

"Jinta Homemade Icecream" ไอศกรีมกินเป็นยา

"Jinta Homemade Icecream" ไอศกรีมกินเป็นยา

หวานรักษาสุขภาพ

เมื่อลงสนามขายมากขึ้น ยิ่งทำให้หนุ่มได้รับองค์ความรู้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับการออกบูทตลาดออร์แกนิกทำให้หนุ่มเปลี่ยนแปลงแนวคิดการทำไอศกรีมแบบตลาดทั่วไปมาเป็น ‘ไอศกรีมสุขภาพ’

“ประมาณปีที่ 4 ของการขายก็มาออกบูทออร์แกนิก เจอกับเพื่อนๆ พี่ๆ ที่เชี่ยวชาญด้านอาหารสุขภาพเขาก็มาแนะนำทำไมเราไม่ทำไอศกรีมที่มาจากผลไม้ จริงๆ เรากลัวว่าเราไม่ได้เป็นพ่อค้าแม่ค้าผลไม้มาทำกลัวว่าบูดแล้วเราไม่รู้ ก็ไม่กล้าเล่น แต่ก็ได้รับคำแนะนำผลไม้ที่เสียยากๆ อย่าง เสาวรส และพอมาทำปรากฏว่าลูกค้าชอบมาก”   

และนอกจากหนุ่มเริ่มติดใจทดลองลองเอาผลไม้ทั้งที่นิยมและไม่นิยม เช่นตะลิงปลิง มะเกี๋ยง มะยม มาทำลิสต์รายการตัวต่อมาหมุนเวียนกันไปตามฤดูกาลนั้นๆ อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้มุ่งเต็มตัวทางด้านนี้ก็เพราะใช้ชื่อลูกตั้งเป็นชื่อแบรนด์ หนุ่มจึงยึดหลักทำให้ครอบครัวกินมาตลอดฉะนั้นเมื่อรู้ว่าการที่ใส่สีแต่งหรือการปรุงรสหนักๆ จะเกิดการสะสมส่งผลก่อโรคกับร่างกายได้ เขาจึงไม่เพียงทำไอศกรีมจากผลไม้ปลอดสารพิษแต่ยังได้ปรับลดสารให้ความคงตัวที่ให้ไอศกรีมอยู่ได้นานอีกด้วย

“เราใช้ชื่อลูกตั้งเป็นชื่อแบรนด์เรา เราก็พยายามทำออกมาให้ดีที่สุด แต่คำว่าดีที่สุดสมัยก่อนเราไม่เข้าใจ เราไม่รู้เห็นคนอื่นเขาใส่กินได้เราก็ใส่ แต่พอออกบูทออร์แกนิก มีการเสวนาได้ฟังวิชาการ เราป่วยเป็นมะเร็ง เราหาสาเหตุไม่เจอมาจากการที่เรากินสารเคมีสะสมๆ ไปเรื่อยๆ

“ผมเลยเปลี่ยนทั้งลดสารให้ความคงตัวลงครึ่งๆ ไอศกรีมเราอยู่ได้ 4 เดือน จากปกติที่เขาทำขายกันที 1 ปี และก็ก่อนใส่เมนูผลไม้ เราก็จะชิมว่าหวานเกินไปหรือไม่ถ้าหวานก็จะลดน้ำตาล คือเนื่องจากว่าลูกเราก็ทาน ผมไม่รู้ว่าลูกจะกินถ้วยไหน ฉะนั้นทุกถ้วยตั้งใจทำให้ออกมาดีที่สุด”

"Jinta Homemade Icecream" ไอศกรีมกินเป็นยา

ทำไอศกรีมเป็นยา

หลังมองเห็นว่าในงานออกบูธออร์แกนิกไม่มีเพียงแค่ผลไม้เท่านั้นแต่ยังมีผักที่ปลูกแบบไร้สารพิษ หนุ่มจึงไม่รอช้าที่จะหยิบจับมาเป็นส่วนผสม

โดยเริ่มจากรส ‘ผักขม-ฟักทอง’ ทำออกมาแล้วได้สีเหลืองกับเขียวเป็นริ้วๆ ในเนื้อไอศกรีมที่นอกจากสวยงามแล้วยังเต็มไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ และถัดมาเป็นรส ‘คะน้า-สาระแน่’ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่ซ้ำใครดึงดูดให้ผู้คนสนใจ ซึ่งล่าสุดมีรสชาติของ ‘มะระชีสเค้ก’ และ ‘ผักชี’ เพิ่มเป็นทั้งหมด 4 เมนูไอศกรีม

“เราเริ่มชัดเจนในคำว่าอาหารเป็นยามากขึ้น วันนั้นที่คิดไอเดียไอศกรีมกินเป็นยาก็เพราะเจอคุณหมอเรียนด้านพฤกษศาสตร์นั่งคุยถกกันเรื่องการนำสมุนไพรมาเป็นอาหาร เราอยู่ในวงด้วยก็เลยปรึกษามาทำเป็นไอศกรีมมันสามารถกินเป็นยาได้หรือเปล่า เขาก็บอกว่ามันสามารถทำได้”

ไอครีมแบรนด์ Jinta Homemade Icecream  พัฒนาเรื่อยๆ มาและเมื่อลูกสาวคนที่ 2 เกิด เขาได้ต่อยอดเพิ่มผลิตภัณฑ์ชื่อ “ณีวา” เป็นไอติมแท่ง ‘รสงาดำ-ชาร์โคล’ เพื่อเสริมสร้างแคลเซียม และ ‘รสขิง-ขมิ้น’ ช่วยในการเคลือบกระเพาะและขับลม

“อร่อยอย่างเดียวไม่ได้ ไอศกรีมมันเป็นของที่คนเราทุกข์ เบื่อๆ เซ็งๆ  มันเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้บูสขึ้นมาได้ แต่บูสจิตใจอย่างเดียวไม่บูสร่างกายมันก็ไม่โอเคเท่าไหร่ คือถ้าไม่มีคนใกล้ตัวหรือตัวเราไม่ป่วยขึ้นมาเราจะไม่คิดถึง”   

"Jinta Homemade Icecream" ไอศกรีมกินเป็นยา

สุขร่วมเสพ ส่งสิ่งดีแค่ยิ้มก็สุขใจ

ความต้องการที่นอกจากเรื่องสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้นอันเป็นหลักยึดของ ‘Jinta Homemade Icecream’ หนุ่มยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

“บรรจุภัณฑ์มันเป็นอัตโนมัติพอใส่ใจเรื่องสุขภาพสิ่งแวดล้อมมันตามมาเองเพราะเราคลุกคลีกับคนในกลุ่มตลาดออร์แกนิกที่เขาทำเรื่อง zero waste การลดขยะและปลูกฝังให้ทุกคนช่วยกัน เราก็ได้แนวคิดนี้มาใช้และนำกระทงกับกาบหมากมาใส่ไอศกรีมของเรา”

เมื่อถามถึงโรดแมปต่อไปในอนาคต หนุ่มเผยว่าตอนนี้ก็วางแพลนไว้ว่ามองหน้าหาร้านเล็กๆ สักที่1 เพื่อรันธุรกิจไปเรื่อยๆ เพราะอยากให้ทุกๆ คนใส่ใจในเรื่องสุขภาพ

“มันเป็นคล้ายๆ กุศโลบายเล็กๆ ให้คนไม่กินผักได้กินผัก ซึ่งตอนแรกเรามองจะให้เด็ก แต่เราเจอผู้ใหญ่ไม่กินผักเยอะมาก เขามาลองกินและกินได้ สุขภาพเขาดี ชีวิตดี มันก็ช่วยให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นตามมา ผมก็เลยยิ่งต้องการทำไปเรื่อยๆ”

คุณพ่อลูก 2 กล่าวทิ้งท้ายพร้อมกับบอกว่าในวันนี้ธุรกิจแม้จะยังอยู่ในช่วงไต่ขึ้นภูเขา แต่ความสำเร็จของเขาไม่ใช่ที่ยอดขายเยอะๆ หากแต่เป็นทุกๆ ลูกไอศกรีมที่ส่งออกไปสามารถสร้างรอยยิ้มให้ผู้รับนั้นก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

"Jinta Homemade Icecream" ไอศกรีมกินเป็นยา

"Jinta Homemade Icecream" ไอศกรีมกินเป็นยา