posttoday

สูตินรีแพทย์ไขข้อข้องใจ เมื่อไหร่ควรวางแผนมีบุตร

08 พฤศจิกายน 2562

จะมีลูกทั้งทีต้องมีการวางแผน สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ แนะนำการวางแผนครอบครัว พร้อมการเตรียมตัวหากอยากมีบุตร

จะมีลูกทั้งทีต้องมีการวางแผน สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ แนะนำการวางแผนครอบครัว พร้อมการเตรียมตัวหากอยากมีบุตร

เชื่อกันว่าการมีบุตรจะทำให้ครอบครัวสมบูรณ์ แต่ก็มีบางครอบครัวที่มีบุตรในขณะที่ยังไม่พร้อม ยังไม่รวมปัญหาอื่นๆ ทั้งปัญหาด้านสุขภาพและการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นภายหลังการคลอดบุตร ปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ทั้งในหญิงที่ไม่พร้อมและการตั้งครรภ์ในหญิงวัยรุ่นหรือวัยเรียน และอีกหลากหลายปัญหาที่พบเห็นได้บ่อยๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่าทำไมเราจึงต้องมีการวางแผนการมีบุตร

เมื่อใดจึงเริ่มวางแผนการมีบุตร

สูตินรีแพทย์ไขข้อข้องใจ เมื่อไหร่ควรวางแผนมีบุตร

นายแพทย์ธีธัช อดทน สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด กล่าวถึงการเตรียมตัวก่อนมีบุตรว่าถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากมีการเตรียมตัวดี หรือมีการวางแผนการมีบุตรในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับสภาพความสมบูรณ์ของร่างกาย การตั้งครรภ์นั้นจะทำให้คุณแม่แข็งแรง คุณลูกปลอดภัย ซึ่งการวางแผนการมีบุตรนั้น สามารถทำได้ทั้งก่อนแต่งงานหรือหลังแต่งงานแล้ว โดยต้องวางแผนร่วมกันทั้งฝ่ายหญิงและชาย และควรเริ่มวางแผนก่อนจะมีบุตรจริงอย่างน้อย 1-3 เดือน

การวางแผนการมีบุตรทำได้โดยการเข้าพบสูติแพทย์ โดยต้องพบแพทย์ทั้งสองฝ่าย เพื่อดูความพร้อมในการมีบุตร ซึ่งแพทย์จะมีการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด เก็บประวัติการใช้ยา โรคประจำตัว และอื่นๆ ที่จะใช้ในการดูแลสุขภาพตนเองเพื่อวางแผนการมีบุตร การฝากครรภ์ รวมถึงการดูแลสุขภาพกายและใจหลังคลอด

ต้องทำอะไรบ้างสำหรับการวางแผนการมีบุตร

แพทย์จะทำการตรวจร่างกายของทั้งสองฝ่าย โดย "ฝ่ายชาย" จะตรวจความเข้มข้นของเลือด โรคโลหิตจาง หรือความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดต่างๆ โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรคเอชไอวี โรคซิฟิลิส โรคไวรัสตับอักเสบบี หมู่เลือด รวมไปถึงโรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อยในคนไทย เช่น โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย

ส่วน "ฝ่ายหญิง" จะมีการตรวจเหมือนกับฝ่ายชาย แต่จะมีการตรวจเพิ่มเติมในกลุ่มของภูมิคุ้มกันโรคหัดเยอรมัน หากยังไม่มีภูมิคุ้มกัน แพทย์จะแนะนำให้รับวัคซีนก่อนที่จะเริ่มการตั้งครรภ์ เพราะหากมีการติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงที่จะทำให้บุตรพิการแต่กำเนิดได้ แต่หากมีภูมิคุ้มกันแล้ว แม้จะได้รับเชื้อมา ความรุนแรงหรือความผิดปกติของทารกในครรภ์ก็จะน้อยกว่าผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน โดยเมื่อรับวัคซีนโรคหัดเยอรมันแล้ว แนะนำให้คุมกำเนิดอย่างน้อย 1 เดือนหลังฉีดวัคซีน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในช่วงแรกของการตั้งครรภ์

สูตินรีแพทย์ไขข้อข้องใจ เมื่อไหร่ควรวางแผนมีบุตร

สุขภาพแข็งแรงดี จำเป็นต้องตรวจร่างกายหรือไม่

ไม่ว่าสุขภาพจะแข็งแรงเพียงไร ก็ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อวางแผนการมีบุตร เพราะโรคทางพันธุกรรมและโรคทางเพศสัมพันธ์บางอย่างไม่แสดงอาการให้เห็น แต่จะทราบได้จากการตรวจเลือดและซักประวัติ เพื่อตรวจหาความเสี่ยง หากตรวจพบก่อนอาการแสดงออกให้เห็น เข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยป้องกันการติดเชื้อระหว่างคู่ และยังช่วยป้องกันการส่งผลเสียไปยังลูกด้วย

คำแนะนำจากคุณหมอสำหรับผู้ที่ต้องการมีบุตร

นายแพทย์ธีธัช ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ประสงค์ตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์ เพราะการตรวจเช็คบางอย่างจะทำให้สามารถรู้ และวางแผนการรักษาอาการหรือความผิดปกติที่ไม่แสดงออกได้ดีกว่ารอจนมีอาการหรือความผิดปกติ และสำหรับผู้ที่มีโรคทางพันธุกรรม โดยเฉพาะโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย ซึ่งในคนไทยเป็นพาหะทางพันธุกรรมที่พบค่อนข้างบ่อย หากตรวจพบว่าเป็นพาหะทั้งคู่ ถือเป็นคู่เสี่ยงที่จะเป็นโรคเลือดจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ซึ่งคุณหมอจะได้ใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการมีบุตรได้อย่างถูกต้อง

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพและการวางแผนการมีบุตร หรือคำถามด้านสุขภาพอื่นๆ สามารถขอคำปรึกษาได้จากทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด และสามารถติดตามสาระดีๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่เฟซบุ๊ก: Principal Healthcare Company