posttoday

Pink Alert 2019 มะเร็งเต้านมหายขาดได้ แค่รู้ไวก็หายทัน

22 ตุลาคม 2562

"มะเร็งเต้านม" เรื่องใกล้ตัวที่ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยง แต่ในขณะเดียวกัน มะเร็งเต้านมก็ยังเป็นโรคที่ทุกคนสามารถประเมินความเสี่ยงของตนเองได้ และรักษาให้หายขาดได้มากที่สุดในบรรดาโรคมะเร็งทั้งหมด 

"มะเร็งเต้านม" เรื่องใกล้ตัวที่ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยง แต่ในขณะเดียวกัน มะเร็งเต้านมก็ยังเป็นโรคที่ทุกคนสามารถประเมินความเสี่ยงของตนเองได้ และรักษาให้หายขาดได้มากที่สุดในบรรดาโรคมะเร็งทั้งหมด 
 
ในเดือนตุลาคมของทุกปี ทั่วโลกจะร่วมกันรณรงค์ต่อต้าน "มะเร็งเต้านม" ซึ่งเป็นโรคร้ายที่มีอุบัติการณ์สูงเป็นอันดับหนึ่งสำหรับเพศหญิงต่อเนื่องมานานหลายปี ลองมาเช็กกันหน่อยซิว่า คุณเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่!!

คุณมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่?

  • มีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุน้อยกว่า 12 ปี หรือหมดประจำเดือนตอนมีอายุมากกว่า 55 ปี
  • ไม่เคยมีบุตร หรือตั้งครรภ์ครั้งแรกเมื่อมีอายุมากกว่า 30 ปี
  • ใช้ยาคุมกำเนิดนานกว่า 5 ปี หรือได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนหลังหมดประจําเดือนเป็นระยะเวลานานกว่า 2 ปี
  • เคยเป็นมะเร็งเต้านมหนึ่งข้าง หรือเคยตรวจพบความเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อเต้านมบางชนิด
  • มีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม
  • มีประวัติเคยได้รับรังสีบริเวณหน้าอก เมื่ออายุยังน้อย
  • มีพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง หรือปิ้งย่าง
  • ขาดการออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • มีภาวะอ้วนหลังหมดประจำเดือน หรือ น้ำหนักเกิน
สิ่งเหล่านี้แหละที่บ่งบอกว่าคุณมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม!!!

Pink Alert 2019 มะเร็งเต้านมหายขาดได้ แค่รู้ไวก็หายทัน เมย์-พิชญ์นาฏ สาขากร แชร์ประสบการณ์คุณแม่ตรวจพบมะเร็งเต้านม ในระยะแรก และสามารถรักษาอาการให้หายขาดได้ โดยไม่ต้องทำเคมีบำบัด

 
ช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นเดือนที่ประเทศไทยและทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ต่อต้านมะเร็งเต้านม ซึ่งถือเป็นโรคร้ายที่มีอุบัติการณ์สูงเป็นอันดับหนึ่งสำหรับเพศหญิงต่อเนื่องมานานหลายปี ในโอกาสนี้ มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ได้เห็นความสำคัญของโรคมะเร็งเต้านม จึงต่อยอดจัดงาน Pink Alert เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมให้แก่ประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้ ได้จัดงานภายใต้ชื่อ "Pink Alert 2019 : รู้ไว หายทัน" โดยเน้นการให้ความรู้ถึงเทคโนโลยีการแพทย์ยุคใหม่ ที่มอบตัวเลือกการรักษาให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้มากขึ้น พร้อมแก้ไขความเข้าใจผิดๆ ของโรคมะเร็งเต้านม เพื่อสร้างความตื่นตัวในการตรวจคัดกรองให้แก่ผู้หญิงไทยทุกคน
 
โรคมะเร็งเต้านม ถือเป็นโรคมะเร็งที่ผู้หญิงไทยตรวจพบเป็นอันดับหนึ่ง และมีแนวโน้มที่จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั่วโลก โดยเมื่อปี 2561 มีการคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยใหม่ของโรคมะเร็งเต้านมถึงสองล้านรายทั่วโลก ถือเป็นหนึ่งในสองโรคมะเร็ง (มะเร็งเต้านม และมะเร็งปอด) ที่คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยใหม่มากที่สุดในโลก
 
จากรายการศึกษาของสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society) ในปี 2560 เผยว่า จำนวนของผู้หญิงที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมลดลงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่ามีผู้หญิงประมาณ 322,000 คนที่ได้รับการรักษาจนสามารถรอดชีวิต  จากการที่มีเทคโนโลยีการแพทย์ที่มีความก้าวหน้า ประกอบกับการรณรงค์ให้ผู้หญิงมีการตรวจคัดกรองด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเมื่อผู้ป่วยสามารถตรวจสัญญาณของโรคมะเร็งเต้านมได้เร็วเท่าใด ก็จะยิ่งมีโอกาสหายขาดได้สูงขึ้นเท่านั้น 

Pink Alert 2019 มะเร็งเต้านมหายขาดได้ แค่รู้ไวก็หายทัน

 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงเอื้อมแข สุขประเสริฐ กรรมการมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า เราพบเคสโรคมะเร็งเต้านมใหม่ ประมาณ 30 รายต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตโดยเฉลี่ย 10 คนต่อวัน โดยมีสัดส่วนของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในไทยอยู่ที่ 30 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้ หากมีการตรวจเจอในระยะเริ่มต้น เช่น ระยะ 0 ซึ่งเป็นระยะก่อนมะเร็ง จะมีโอกาสในการรักษาให้หายขาดสูงถึง 95-100 เปอร์เซ็นต์ หากเจอในระยะที่หนึ่ง ซึ่งยังไม่มีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง โอกาสหายจะเหลือ 90 เปอร์เซ็นต์ ระยะที่ 2 จะอยู่ที่ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่หากตรวจเจอในระยะที่ 3 ที่มีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง จะมีโอกาสหายขาดที่ 60-70 เปอร์เซ็นต์
 
เนื่องจากการค้นพบมะเร็งเต้านมในขั้นต้น เพิ่มโอกาสหายขาดได้ ทำให้ Pink Alert ในปีนี้ กลับมาอีกครั้งในคอนเซ็ปต์ "รู้ไว หายทัน" เพื่อเน้นให้ผู้หญิงไทยทุกคนตระหนักในความสำคัญของการตรวจคัดกรองด้วยตัวเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง หรือพบแพทย์ตามกำหนด
 
โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมมะเร็งเต้านม เช่น มะเร็งรังไข่ และมะเร็งต่อมลูกหมาก การตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมแนะนำให้ทำเพื่อเป็นการคัดกรองปีละครั้งในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และอาจจะพิจารณาทำสองถึงสามปีครั้งในผู้หญิงที่อายุ 40–50 ปี เพราะผู้หญิงที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ทุกช่วงอายุมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้ทุกคน และจะพบมากขึ้นในช่วงกลุ่มอายุที่มากกว่า 40 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ โครงการ Pink Alert ยังอยากให้ผู้หญิงทุกคนได้รับรู้ถึงโอกาสของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นโอกาสที่จะสามารถหายขาดจากมะเร็งเต้านมได้ถ้าเจอตั้งแต่ระยะต้น โอกาสที่จะมีชีวิตที่ยืนยาว พร้อมกับมีคุณภาพชีวิตที่ดีและโอกาสที่จะได้รับการรักษาที่ดียิ่งขึ้นด้วยการรักษาแบบมาตรฐานในปัจจุบัน และนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางการแพทย์ที่เป็นการเลือกการรักษาให้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละบุคคล
 
การรักษาจำเพาะสำหรับแต่ละบุคคล หรือ personalized treatment เป็นแนวทางการรักษาที่เริ่มต้นจากการใช้ข้อมูลในระดับยีนที่มีความจำเพาะซึ่งมีความแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน เพื่อมาเลือกการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยนั้น ๆ ทำให้เกิดการรักษาที่เรียกว่ายาพุ่งเป้า (targeted therapy) ซึ่งเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสูงและส่งผลข้างเคียงน้อย นอกจากยาเคมีบำบัด ยาพุ่งเป้าแล้ว ยังมียากลุ่มนวัติกรรมใหม่คือการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) ซึ่งวิธีการรักษาทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนั้นได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์ว่ามีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานและได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยาแห่งประเทศไทย ผศ.ดร. เอื้อมแข กล่าวเสริม

Pink Alert 2019 มะเร็งเต้านมหายขาดได้ แค่รู้ไวก็หายทัน

 
มะเร็งเต้านม ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยง แต่ในขณะเดียวกัน มะเร็งเต้านมยังเป็นโรคที่ผู้ป่วยสามารถรักษาให้หายขาดได้มากที่สุดในบรรดาโรคมะเร็งทั้งหมด ผู้หญิงไทยทุกคนจึงควรมีความเข้าใจในโรคมะเร็งเต้านมที่ถูกต้อง แนวทางการรักษา รวมไปถึงการหมั่นตรวจเช็คร่างกายของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ โดยสามารถดาวน์โหลดเอกสารความรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านมได้ที่ qrco.de/bbHrKa หรือ qrco.de/bbHrKw พร้อมร่วมให้กำลังใจ และสานต่อความหวังดีจากผู้หญิงถึงผู้หญิงยุคใหม่ ผ่านอินสตาแกรมได้ที่ #pinkalert2019 #รู้ไวหายทัน