posttoday

'เท้าผิดรูป' ภัยใกล้ตัวของสาวที่ชอบใส่รองเท้าหัวแหลม

20 ตุลาคม 2562

แพทย์เตือนภัยสาวๆ ที่ชอบใส่รองเท้าหัวแหลม ระวังนิ้วเท้าเก เท้าผิดรูป พร้อมแนะนำเลือกรองเท้าให้เหมาะกับรูปเท้าเพื่อลดการบาดเจ็บจากอาการเท้าผิดรูป

แพทย์เตือนภัยสาวๆ ที่ชอบใส่รองเท้าหัวแหลม ระวังนิ้วเท้าเก เท้าผิดรูป พร้อมแนะนำเลือกรองเท้าให้เหมาะกับรูปเท้าเพื่อลดการบาดเจ็บจากอาการเท้าผิดรูป

"เท้า" เป็นอวัยวะที่รองรับน้ำหนักทั้งหมดของร่างกาย โดยขณะยืนน้ำหนักตัวประมาณ 60% จะกดลงที่ส้นเท้า อีก 40% กดลงที่เท้าส่วนหน้า ขณะเดินเท้ารับน้ำหนัก 120% ของน้ำหนักตัว และขณะวิ่งเท้ารับน้ำหนักมากถึง 275% ของน้ำหนักตัว ทำให้พบปัญหาเกี่ยวกับเท้าได้บ่อยและอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น ปวดเข่า ปวดสะโพก และปวดหลัง

'เท้าผิดรูป' ภัยใกล้ตัวของสาวที่ชอบใส่รองเท้าหัวแหลม

ความผิดปกติและอาการปวดเท้าและข้อเท้า เกิดได้จาก 2 ปัจจัยหลัก คือ

1. ปัจจัยภายนอก เช่น การสวมใส่รองเท้าไม่เหมาะสมกับกิจกรรม ส่งผลให้เกิดอาการปวดและบาดเจ็บได้ง่าย

2. ปัจจัยภายใน เช่น เท้าหรือข้อเท้าผิดรูป ข้อเท้าเอียง อุ้งเท้าแบนหรือนูนเกินไป ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บที่เท้าและข้อเท้าได้

นพ.กฤษฏิ์ พฤกษะวัน ศัลยแพทย์ด้านกระดูกและข้อเท้า โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า เท้าของคนเราประกอบด้วยกระดูกหลายชิ้นต่อกัน ทำให้มีความยืดหยุ่นหลายทิศทาง มีความนุ่มนวลเวลาเดิน และแรงกระทบต่างๆ จะกระจายได้สม่ำเสมอทั่วทั้งเท้า ไม่เกิดจุดกดเจ็บ แต่หากเท้าและข้อเท้ามีข้อยึด หรือเท้าผิดรูป อาจเกิดอาการบาดเจ็บและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถแบ่งอาการเท้าผิดรูปออกเป็นกว้างๆ ได้ดังนี้

1. นิ้วหัวแม่เท้าเกหรือเอียง มักพบในผู้หญิง โดยมีความสัมพันธ์กับการใส่รองเท้าส้นสูง หัวแหลม รวมทั้งสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ โดยทั่วไปนิ้วจะงอเอียงมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุที่มากขึ้น ทำให้มีปัญหาจากการปวดและเจ็บเวลาเดิน รวมถึงใส่รองเท้าลำบาก ซึ่งอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

2. เท้าแบน เป็นภาวะที่อุ้งเท้าด้านในต่ำหรือไม่มีเลย อาจเป็นแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งเท้าแบนในผู้ใหญ่ส่วนมากเกิดในผู้หญิงวัย 45-65 ปี เนื่องจากเอ็นประคองอุ้งเท้าหย่อนหรือสูญเสียหน้าที่ มักเป็นข้างเดียว โดยจะปวดบริเวณอุ้งเท้าและข้อเท้าด้านใน หรืออาจปวดใต้ตาตุ่มกร่วมด้วย อาการจะกำเริบเมื่อใช้งานหนักหรือเดินมาก ถ้าเป็นมากขึ้นอาจเขย่งปลายเท้าไม่ได้ เท้าผิดรูป และข้อติด การรักษาเบื้องต้นอาจใส่แผ่นรองเสริมอุ้งเท้า (Insole) หากไม่ดีขึ้นจำเป็นต้องผ่าตัดแก้ไขความผิดรูป

3. โรคเท้าโค้งหรืออุ้งเท้าสูง เกิดจากส่วนครึ่งหน้าของเท้าโค้งเข้า เมื่อมองเท้าจากด้านฝ่าเท้าจะเห็นขอบข้างของเท้าโค้ง มักมีอาการปวดเส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้าได้ง่าย ปวดเมื่อยเท้าเพราะความยืดหยุ่นของเท้าจะเสียไปเช่นเดียวกับโรคเท้าแบน เบื้องต้นรักษาด้วยการใส่แผ่นรองเท้า

“จะเห็นว่าโรคของเท้ามีหลายแบบ เกิดได้ทุกช่วงวัยและไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดทำให้ป้องกันได้ยาก แต่ส่วนใหญ่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นหรือรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แต่ข้อสำคัญคือควรเริ่มการรักษาตั้งแต่อายุยังน้อย นอกจากนี้ ควรเลือกใส่รองเท้าส้นเตี้ย พื้นนุ่ม มีหน้ากว้างเพียงพอ เหมาะกับรูปเท้า รวมถึงควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม เพิ่มความระมัดระวังในการเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรม และหากพบอาการผิดปกติที่เท้าหรือข้อเท้า แม้เพียงเล็กน้อยก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด” นพ.กฤษฏิ์กล่าว

สำหรับการรักษาอาการเท้าผิดรูป สามารถทำกายภาพบำบัด ฝึกการบริหารให้เท้าและข้อเท้ามีความแข็งแรงและยืดหยุ่นมากขึ้น หรือใช้อุปกรณ์เสริมอุ้งเท้า (Insole) หรือที่รัดข้อเท้า นอกจากนี้ ยังมีการรักษาในรูปแบบอื่น เช่น การทำเลเซอร์ และ Shock Wave แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งมีทั้งการผ่าตัดแบบเปิดแผลตามปกติ และเทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว และยังลดระยะเวลาในการพักฟื้นที่โรงพยาบาลได้อีกด้วย