posttoday

อัลไซเมอร์ ความทรงจำที่ไม่อาจเรียกคืน

16 พฤศจิกายน 2553

อัลไซเมอร์เป็นโรคที่หาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้ ทำให้ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดหรือป้องกันได้เลย

อัลไซเมอร์เป็นโรคที่หาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้ ทำให้ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดหรือป้องกันได้เลย

เรื่อง มัลลิกา นามสง่า

เวลาที่ใครแสดงอาการหลงๆ ลืมๆ ความจำสั้น บางครั้งหลายคนคงจะเคยอำกันเล่นๆ ขำๆ ว่าชราภาพแล้วจึงเลอะเลือน แก่แล้วขี้หลงขี้ลืม แต่ในความเป็นจริงแล้วอาการเหล่านี้ไม่ได้น่าขำ และเป็นเรื่อง(ล้อ)เล่นๆ เลย ซ้ำยังเป็นจุดเกิดเหตุที่นำไปสู่โรค “อัลไซเมอร์” (Alzheimer’s Disease)

อัลไซเมอร์ ความทรงจำที่ไม่อาจเรียกคืน

ลักษณะเด่นของโรคอัลไซเมอร์ที่ผู้คนรู้จักและจดจำได้ นำมาซึ่งความหวาดกลัวและความยากลำบากในการดำรงชีวิตของผู้ป่วยและคนใกล้ชิด คือ “กระบวนการเสื่อมของเซลล์สมองจนตายแบบค่อยเป็นค่อยไป อาการของโรคจึงจะค่อยๆ รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป”

นพ.ไพศาล วชาติมานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบประสาท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้กล่าวถึงโรคอัลไซเมอร์ ว่า เป็นโรคในกลุ่มภาวะสมองเสื่อมที่พบมากที่สุด คือ 50-70% ผู้ป่วยจะเกิดอาการความจำเสื่อม สูญเสียความสามารถของสมองในด้านสติปัญญาระดับสูง ร่วมกับมีอาการทางจิต อันส่งผลต่อพฤติกรรม อารมณ์ และอาการหวาดระแวงของผู้ป่วย ซึ่งมีที่มาจากการเสื่อมสลายและตายจากไปของเซลล์สมองที่เกี่ยวข้องในวงจรของความจำโดยเฉพาะ โดยเซลล์สมองที่ทำหน้าที่อื่นไม่ได้เสียหายไปด้วย

อย่างไรก็ตาม คนมักเข้าใจว่าอัลไซเมอร์เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมสภาพจึงเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ทว่าในบางกรณีก็พบโรคอัลไซเมอร์ชนิดเกิดเร็ว (Early-Onset Alzheimer’s) ที่เกิดในคนอายุน้อยด้วย

ระยะการสูญเสียความทรงจำ

อัลไซเมอร์ในระยะแรก (1-2 ปี) จะทำการวินิจฉัยได้ยาก มีอาการแสดงออก คือ ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง การตัดสินใจบกพร่อง ขาดเหตุผล สูญเสียความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เรียกชื่อสิ่งของผิดๆ ถูกๆ แต่ในระยะนี้ยังสามารถทำงานที่ทำประจำมาเป็นเวลานานได้ อาจสังเกตอาการได้โดยคนใกล้ชิดของผู้ป่วยเท่านั้น

ระยะที่ 2 (2-10 ปี) อาการจะค่อยๆ เป็นมากขึ้นช้าๆ และเริ่มแสดงให้เห็นชัดเจน ผู้ป่วยจะสูญสิ้นความสามารถในการเรียนรู้จดจำข้อมูลใหม่ๆ การสื่อสารผิดปกติมากขึ้น จำทิศทางต่างๆ ไม่ได้ เป็นเหตุให้หลงหาทางกลับไม่ถูก อาการเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ป่วยอย่างชัดเจน

ระยะสุดท้าย (10 ปีขึ้นไป) ผู้ป่วยจะสูญเสียความทรงจำและความสามารถของสมองในด้านต่างๆ ที่เป็นในระยะแรก และระยะที่สองมากขึ้น จนไม่สามารถทำกิจวัตรต่างๆ ได้เลย ถึงตรงนี้ชีวิตประจำวันจึงต้องมีคนดูแลช่วยเหลือตลอดเวลา แม้กำลังแขนขาจะยังดี เดิน นอน ลุก นั่งได้อยู่ก็ตาม

ดูแลใส่ใจอย่างใกล้ชิด

อัลไซเมอร์เป็นโรคที่หาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้ ทำให้ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดหรือป้องกันได้เลย นอกจากการใช้ยาในความดูแลของแพทย์แล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ คนใกล้ชิดที่ดูแลผู้ป่วยต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอัลไซเมอร์ในระดับหนึ่ง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับพฤติกรรมและอาการต่างๆ ที่จะแสดงออกมา รวมถึงการหาทางออกให้กับผู้ดูแลซึ่งจะต้องตกอยู่ในภาวะเครียดสะสมด้วย

อัลไซเมอร์ ความทรงจำที่ไม่อาจเรียกคืน นพ.ไพศาล

การดูแลต้องให้ความเข้าใจ เห็นใจว่าผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจที่จะก้าวร้าว หงุดหงิดอย่างที่เราเห็น แต่เป็นจากตัวโรคเอง ไม่ควรทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่มั่นใจ อาย หรือหงุดหงิด เช่น ถ้าคุยอะไรแล้วผู้ป่วยนึกไม่ค่อยออกหรือจำไม่ได้ ควรเปลี่ยนเรื่อง เอาเรื่องที่คุยแล้วมีความสุข เวลาพูดกับผู้ป่วยต้องช้าๆ และให้ชัดเจน ไม่ให้ทางเลือกกับผู้ป่วยมากไป เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถตัดสินใจได้ถูกต้อง หรือถ้ามีความคิดอะไรผิดๆ ไม่ควรเถียงตรงๆ ถ้าไม่จำเป็นก็อาจไม่ต้องอธิบายมาก เนื่องจากจะทำให้หงุดหงิดและหมดความมั่นใจ

หัวใจสำคัญคือการเตรียมบ้านให้ปลอดภัย ควรจัดห้องหรือบ้านให้น่าอยู่ สดใส ใช้สีสว่างๆ จัดสิ่งแวดล้อมให้เรียบง่าย ให้เงียบ ถ้าในรายที่ชอบเดินไปมามากๆ ต้องใช้เทคนิคการเบี่ยงเบนความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรืออาจใช้การพาดเสื้อผ้าไว้ที่ลูกบิดประตูเพื่อไม่ให้เห็นลูกบิด ต้องเก็บของมีคม หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มิดชิด ปิดวาล์วเตาแก๊สไว้เสมอ เป็นต้น

ในรายที่มีอาการที่เริ่มจะดูแลยาก เช่น ก้าวร้าวมาก เอะอะโวยวาย สับสนมาก หรือเดินออกนอกบ้านบ่อยๆ ควรพาไปพบแพทย์ระบบประสาท เนื่องจากอาจจำเป็นต้องใช้ยาช่วยลดอาการดังกล่าว

ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่จัดกิจกรรมให้ความรู้ และจัดให้ผู้ดูแลได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ และการบรรเทาความเครียด สามารถติดต่อได้ที่ 02-880-8542