posttoday

อยากสุขภาพดีอย่างต่อเนื่อง ต้องรู้เรื่องเทคนิคการกินเมื่อ "ออกเจ"

07 ตุลาคม 2562

คำรวมแนะนำเกี่ยวกับการเลือกกินอาหารให้ถูกวิธีเมื่อถึงวันออกเจ เพื่อให้ร่างกายปรับตัวได้และเกิดความสมดุล หนุนส่งให้ร่างกายสุขภาพดีแบบต่อเนื่อง

ถือศีลกินเจตลอด 9 วัน เพื่อชำระล้างร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ สร้างบุญกุศลด้วยการงดบริโภคเนื้อสัตว์ ไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่น เมื่อสิ้นสุดเทศกาลกินเจ ทุกคนก็ต้องกลับมากินอาหารตามปกติ และต่อไปนี้คือคำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกกินอาหารให้ถูกวิธีเมื่อถึงวันออกเจ เพื่อให้ร่างกายปรับตัวได้และเกิดความสมดุล หนุนส่งให้ร่างกายสุขภาพดีแบบต่อเนื่อง

เริ่มเข้าเจอย่างไร ให้ออกเจอย่างนั้น อย่า "หักดิบ"

เมื่อถึงวันออกเจ เราควรทำเหมือนกับการเข้าเจที่มี "วันล้างท้อง" เพื่อเริ่มปรับสภาพเตรียมตัวก่อนงดเว้นเนื้อสัตว์ เช่นเดียวกัน เมื่อออกเจเราต้องทำให้ร่างกายค่อยๆ ปรับสภาพการรับเนื้อสัตว์อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะในช่วง 9 วันของการกินเจกระบวนการต่างๆ ในร่างกายเริ่มจะปรับตัวได้ โดยเฉพาะ 2 วันสุดท้ายที่ร่างกายเริ่มปรับตัวได้กับการไม่กินเนื้อสัตว์ เริ่มคุ้นชินกับการกินผักและผลไม้ เมื่อออกเจแล้วกลับมากินเนื้อสัตว์ทันที หรือที่เรียกว่า "หักดิบ" อาจจะทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ได้จนเกิดอาการย่อยยาก หรืออาหารไม่ย่อย

อยากสุขภาพดีอย่างต่อเนื่อง ต้องรู้เรื่องเทคนิคการกินเมื่อ "ออกเจ"

ออกเจแล้วควรกินอะไรบ้าง

เมื่อออกเจ วันแรกต้องค่อยๆ ผ่อนคลายร่างกาย โดย "เริ่มจากการดื่มนม กินไข่ และปลา เป็นหลัก อย่าเพิ่งแตะต้องอาหารประเภทเนื้อ" ไม่ว่าจะเป็น เนื้อหมู เนื้อวัว หรือเนื้อชนิดไหนก็ตาม "ควรดื่มนม กินไข่ และปลา ติดต่อกันเป็นเวลา 2-3 วัน" เพื่อให้ร่างกายค่อยๆ ปรับสภาพ พยายามกินอาหารอ่อนๆ อย่ากินอาหารรสจัดทันที สำหรับอาหารอ่อนๆ ก็เป็นพวกอาหารรสจืด ไม่เป็นอาหารที่เผ็ดจัด หวานจัด มันจัด เมื่อเข้าสู่ "วันที่ 4 จึงค่อยเริ่มกินเนื้อสัตว์" แต่กินในปริมาณที่น้อยๆ ก่อน สำหรับนม ปลา และไข่ กินในปริมาณที่เยอะได้ และควรกินอาหารให้ครบหลัก 5 หมู่ด้วย

อยากสุขภาพดีอย่างต่อเนื่อง ต้องรู้เรื่องเทคนิคการกินเมื่อ "ออกเจ"

ออกเจแล้วดื่มนม ทำไมท้องอืด

สำหรับคนที่ดื่มนมและงดดื่มนมในช่วงเทศกาลกินเจ เมื่อออกเจแล้วกลับมาดื่มอาจเกิดอาการท้องอืด เนื่องจากร่างกายอาจไม่ได้ผลิตน้ำย่อยมาย่อยนม หรือที่เรียกว่า แลกเทส จะทำให้นมไม่ย่อย ทำให้มีเชื้อจุลินทรีย์หมักอยู่ในท้อง และทำให้เกิดแก๊สในท้องได้ จึงไม่ควรดื่มนมขณะที่ท้องว่าง ควรดื่มหลังอาหารมื้อหลักและค่อยๆ ดื่มทีละนิด ไม่ควรดื่มครั้งเดียวหมด หรือจะดื่มนมจืดอุ่นๆ ก็จะดี ซึ่งหลังจากนี้ไม่กี่วัน ร่างกายก็จะปรับสภาพเป็นปกติ

อยากสุขภาพดีอย่างต่อเนื่อง ต้องรู้เรื่องเทคนิคการกินเมื่อ "ออกเจ"

กินเจแล้วน้ำหนักขึ้น ควรทำอย่างไร

มีคำแนะนำในการลดน้ำหนักหลังสิ้นสุดการกินเจ เพราะคนส่วนมากมักน้ำหนักเพิ่มเนื่องจากการกินแป้งเยอะ กินจุบจิบ และกินอาหารที่มันอย่างของทอดและเมนูผัดๆ สำหรับวิธีการควบคุมน้ำหนัก มี 3 วิธีด้วยกันคือ

  1. เน้นการกินผักและผลไม้ เพราะในผักผลไม้มีไฟเบอร์ที่ดูดซับเอาไขมันและน้ำตาลออกจากร่างกายได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด น้ำอัดลม และของหวานทุกชนิด
  2. ลดการกินแป้ง รวมถึงขนมปัง ข้าว ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ข้าวโพด เผือกมัน
  3. เลือกกินอาหารที่ผ่านกรรมวิธีอื่นนอกจากทอดและผัด อาทิ ประเภทต้ม ย่าง ยำ อบ นึ่ง เช่น อาหารพื้นบ้านพวกแกงเลียง แกงป่า แกงอ่อม แกงแค ที่ไม่ใส่หมู ไม่ใส่น้ำมัน ก็จะลดน้ำหนักได้

อยากสุขภาพดีอย่างต่อเนื่อง ต้องรู้เรื่องเทคนิคการกินเมื่อ "ออกเจ"

ควรกินหนักมื้อไหนในช่วงออกเจ

ช่วงออกเจใวันแรกๆ ควรกินอาหารมื้อเช้าๆ ในปริมาณมาก กินมื้อเที่ยงให้พอดี และมื้อเย็นควรกินให้น้อยและห่างจากเวลาเข้านอน 3-4 ชม. และอย่าลืมออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายเป็นการเผาผลาญไขมันให้ออกจากร่างกาย ถ้าจะลดน้ำหนักหลังจากการออกเจ โดยควบคุมอาหารเพียงอย่างเดียวจะลดน้ำหนักได้เพียง 9 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าออกกำลังกายอย่างเดียวไม่ควบคุมอาหารเลยลดน้ำหนักได้แค่ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าออกกำลังกายและควบคุมอาหารควบคู่ไปด้วย 90 เปอร์เซ็นต์

อยากสุขภาพดีอย่างต่อเนื่อง ต้องรู้เรื่องเทคนิคการกินเมื่อ "ออกเจ"

ออกเจแล้วกินมังสวิรัติต่อร่างกายจะไหวหรือไม่

สำหรับใครอยากกินเจ ถึงแม้จะสิ้นสุดเทศกาลกินเจไปแล้วหรือจะเปลี่ยนแปลงการกินเป็นรูปแบบมังสวิรัติก็สามารถทำได้ โดยมังสวิรัติ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือแบบเคร่งครัด ไม่กินนม ไข่และปลา ประเภทสองสามารถกินนมได้ ไม่กินไข่และปลา ส่วนประเภทที่สาม กินนม และไข่ได้ ด้านนักโภชนาการมักแนะนำให้กินมังสวิรัติประเภทที่สาม เพราะในนมและไข่มีวิตามิน แร่ธาตุหลายชนิดที่ดีต่อสุขภาพ ถ้าใครจะกินเจ หรือมังสวิรัติต้องมั่นใจว่าอาหารที่กินมีสารอาหารอย่างครบถ้วน และต้องมีความรู้และศึกษาให้ดี เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน