posttoday

ชิคุนกุนยา vs ไข้เลือดออก ต่างกันตรงไหน?

19 กันยายน 2562

สำรวจความต่างของสองโรคที่เกิดจากวายร้ายที่เรียกว่า "ยุงลาย" โรคชิคุนกุนยา และโรคไข้เลือดออก

สำรวจความต่างของสองโรคที่เกิดจากวายร้ายที่เรียกว่า "ยุงลาย" โรคชิคุนกุนยา และโรคไข้เลือดออก

รู้จักกับโรค

ไข้เลือดออก (Dengue Fever) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue) ที่แพร่สู่ร่างกายคนจากการกัดของยุงลายตัวเมีย ผู้ป่วยจะมีไข้สูง มีอาการป่วยรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคเป็นยุงที่ออกหากินเฉพาะในตอนกลางวัน ชอบอาศัยอยู่ในแถบอากาศร้อนชื้น จึงพบได้มากในประเทศเขตร้อนในทวีปเอเชีย แอฟริกา อเมริกากลางและใต้ ตอนเหนือของออสเตรเลีย และตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก จากการแพร่ระบาดในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ไข้เลือดออกจึงเป็นหนึ่งในโรคที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความสนใจ และประกาศให้เป็นโรคที่ควรเฝ้าระวัง

โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มียุงลายเป็นพาหะ โดยผู้ป่วยมักมีไข้และปวดข้อต่อ ซึ่งอาการของโรคนี้จะค่อยๆ ดีขึ้นได้เอง จึงไม่มีวิธีรักษาที่เฉพาะเจาะจง แต่จะมุ่งไปที่การบรรเทาอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ชิคุนกุนยา vs ไข้เลือดออก ต่างกันตรงไหน?

สาเหตุของโรค

ไข้เลือดออก เกิดจากยุงลายเพศเมียที่เป็นพาหะของโรคดูดเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ จากนั้นไวรัสเดงกี่จะเติบโตภายในท้องของยุงลาย เมื่อยุงลายกัดคนอื่นต่อไป เชื้อไวรัสนี้ก็จะแพร่เข้าสู่ร่างกายผู้ที่ถูกกัดไปด้วย

ชิคุนกุนยา เกิดจากการถูกยุงลายตัวเมียที่มีเชื้อไวรัสกัด โดยเป็นยุงชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกและโรคไข้ซิกา ซึ่งมักพบยุงชนิดนี้ได้ในเวลากลางวัน โดยเฉพาะช่วงเช้าตรู่และช่วงบ่ายคล้อย โรคชิคุนกุนยาเป็นโรคที่แพร่กระจายได้ง่าย แต่มีโอกาสน้อยมากที่ทารกจะได้รับเชื้อจากมารดาที่เป็นโรคนี้อยู่ และยังไม่พบรายงานการติดเชื้อของทารกที่กินนมแม่หรือผู้ที่ติดเชื้อจากการถ่ายเปลี่ยนเลือด

ชิคุนกุนยา vs ไข้เลือดออก ต่างกันตรงไหน?

อาการของโรค

ไข้เลือดออก อาการเบื้องต้นคล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น มีไข้สูง ตัวร้อน ปวดหัว ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย แต่ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการแสดงที่รุนแรงกว่า คือมีไข้สูงมาก ปวดหัวมาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วลำตัว ในบางรายอาจคลื่นไส้อาเจียน อาจพบผื่นแดงหรือจ้ำเลือดใต้ผิวหนังทั่วตัว หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น มีเลือดออกตามเนื้อเยื่อในร่างกายในรายที่ร่างกายอ่อนแอและมีภูมิคุ้มกันต่ำ

ชิคุนกุนยา อาการที่พบได้บ่อยคือ มีไข้และปวดข้อต่อ ผู้ป่วยอาจอ่อนเพลีย ปวดหัว คลื่นไส้ ปวดกล้ามเนื้อ ข้อต่อบวม และมีผื่นขึ้นด้วย ซึ่งอาการอาจเกิดขึ้นหลังจากโดนยุงที่ติดเชื้อกัด 3-7 วัน และอาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน แบบกึ่งเฉียบพลัน หรือแบบเรื้อรัง โดยอาการของโรคมักคล้ายกับอาการของไข้หวัดใหญ่

การวินิจฉัยโรค

ไข้เลือดออก สังเกตอาการด้วยตนเอง หากมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดหัว หรือมีผื่นแดงหรือห้อเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เมื่อพบแพทย์ แพทย์จะตรวจวัดความดันโลหิต สังเกตลักษณะอาการที่แสดง พร้อมกับการซักประวัติผู้ป่วย เพื่อดูความเสี่ยงและโอกาสว่าผู้ป่วยอยู่ในบริเวณที่มีการระบาดของไข้เลือดออกหรือไม่ และอาจตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดร่วมด้วย

ชิคุนกุนยา แม้อาการของโรคชิคุนกุนยาอาจคล้ายกับอาการของโรคไข้เลือดออกและโรคไข้ซิกา แต่หากผู้ป่วยมีประวัติที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ อาศัยอยู่ในแหล่งที่โรคนี้ระบาด ร่วมกับมีอาการคล้ายเป็นโรคนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา โดยแพทย์อาจตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัส ส่วนประกอบของยีนที่พบในไวรัส หรือภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยที่มีต่อไวรัสชนิดนี้

การรักษาโรค

ไข้เลือดออก การรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกนั้นยังไม่มียารักษาเฉพาะโรค เป็นเพียงการรักษาประคับประคองตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยทั่วไปผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีไข้สูงมากและปวดหัวรุนแรง เบื้องต้นจึงใช้ยาระงับอาการ คือ Acetaminophen หรือพาราเซตามอล ซึ่งเป็นยาแก้ปวดและลดไข้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ซึ่งจะมีผลต่อเซลล์เม็ดเลือด อาจกระทบต่อภาวะที่มีเลือดออกซึ่งทำให้อาการแย่ลง ในกรณีที่ผู้ป่วยอาเจียนและอ่อนเพลียจากไข้ แพทย์จะให้น้ำเกลือเพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกาย นอกจากนี้เป็นการรักษาตามอาการที่ป่วยและเฝ้าระวังการเกิดอาการแทรกซ้อน

ชิคุนกุนยา ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน ยา หรือวิธีรักษาโรคชิคุนกุนยาแบบเฉพาะเจาะจง แต่ผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคนี้ได้ด้วยการดื่มน้ำเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ พักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงรับประทานยาเพื่อลดไข้และบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้น เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรรับประทานยาแอสไพรินหรือยาต้านการอักเสบจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่ได้เป็นไข้เลือดออก เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกผิดปกติ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนหากกำลังรับประทานยาชนิดอื่นอยู่

ภาวะแทรกซ้อนของโรค

ไข้เลือดออก อาจพัฒนาความรุนแรงไปสู่ภาวะโรค Dengue Hemorrhagic Fever ซึ่งจะทำให้มีไข้สูงขึ้น อาการปวดหัวรุนแรงขึ้น อาจมีภาวะเลือดออกตามเนื้อเยื่อและอวัยวะภายใน และ Dengue Shock Syndrome ซึ่งเป็นภาวะที่เสียเลือดมาก พลาสมารั่ว ความดันโลหิตต่ำ นำไปสู่การช็อกที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

ชิคุนกุนยา ผู้ป่วยอาจเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น มีแผลตุ่มน้ำที่ผิวหนัง มีเลือดออก เป็นต้น โดยผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคล้ายกับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในหลายเดือนต่อมา เช่น ปวดข้อ ข้ออักเสบ เอ็นหุ้มข้ออักเสบ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนบางอย่างที่อาจรุนแรงแต่พบได้น้อย เช่น ม่านตาอักเสบ จอตาอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ ไตอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองและไขสันหลังอักเสบ เส้นประสาทสมองเป็นอัมพาต และกลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร เป็นต้น