posttoday

อัมพฤกษ์-อัมพาตเฉียบพลัน รู้ทันลดโอกาสพิการป่วยติดเตียง

03 มกราคม 2562

9 อาการเฝ้าระวังอัมพฤกษ์-อัมพาตเฉียบพลันจากโรคหลอดเลือดสมอง อีกสาเหตุสำคัญที่คร่าชีวิตคนไทย ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โอกาสการเกิดอัมพฤกษ์-อัมพาตก็จะลดลง ช่วยลดความพิการและอัตราการเสียชีวิตลงได้

9 อาการเฝ้าระวังอัมพฤกษ์-อัมพาตเฉียบพลันจากโรคหลอดเลือดสมอง อีกสาเหตุสำคัญที่คร่าชีวิตคนไทย ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โอกาสการเกิดอัมพฤกษ์-อัมพาตก็จะลดลง ช่วยลดความพิการและอัตราการเสียชีวิตลงได้

โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ซึ่งมี 2 สาเหตุใหญ่ ได้แก่

สมองขาดเลือดไปเลี้ยง (Acute ischemic stroke) คือ หลอดเลือดที่เลี้ยงสมองมีการเสื่อม เกิดการแข็งตัวและค่อยๆ ตีบลงจนอุดตันในที่สุด, มีลิ่มเลือดหรือก้อนไขมันหลุดจากหัวใจ หลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ ไหลไปอุดตันหลอดเลือดในสมอง, การที่ความดันเลือดลดต่ำลงจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ

เลือดออกในสมอง (Acute hemorrhagic stroke) คือ ภาวะเลือดออกในสมอง เกิดจากการแตกของหลอดเลือดในสมอง ซึ่งอาจเริ่มจากอาการความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานๆ, ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง เกิดจากการแตกของหลอดเลือดโป่งพองที่ฐานสมอง ส่งผลให้หลอดเลือดขนาดเล็กในสมองมีการเปลี่ยนแปลง มีการโป่งพองของผนังหลอดเลือดและแตกในที่สุด

อัมพฤกษ์-อัมพาตเฉียบพลัน รู้ทันลดโอกาสพิการป่วยติดเตียง

9 อาการเฝ้าระวังอัมพฤกษ์-อัมพาตเฉียบพลันจากโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่

  1. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ไม่มีแรงยกแขน กำมือไม่ได้ ของหลุดจากมือ ไม่มีแรงเดิน เดินเซ ยกขาไม่ขึ้น กระดกเท้าไม่ได้
  2. หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิทข้างเดียว กินน้ำน้ำก็ไหลจากมุมปาก
  3. พูดไม่ชัด พูดอ้อแอ้คล้ายคนเมาเหล้า นึกคำไม่ออก ใช้คำพูดผิด หรือบางรายอาจพูดไม่ได้เลย
  4. ฟังคนพูดไม่ออก ถามอย่างตอบอย่าง
  5. ชาใบหน้า ชาครึ่งซีกร่างกาย คล้ายถูกฉีดยาชา
  6. เห็นภาพซ้อน มองเห็นซีกเดียวของลานสายตา เดินชนของ
  7. กลืนไม่ได้ กลืนลำบาก สำลักน้ำหรือแม้แต่น้ำลายตัวเอง
  8. อยู่ๆ ก็ปวดศีรษะรุนแรงแบบไม่เคยเป็นมาก่อนในชีวิต มักมาร่วมกับการอาเจียน
  9. เวียนศีรษะบ้านหมุน นานมากกว่า 5 นาที โดยไม่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนท่าทาง มักเป็นร่วมกับการเดินเซ

หากพบคนใกล้ชิด หรือผู้ใหญ่ในบ้านมีอาการของโรคหลอดเลือดสมองตามที่ได้กล่าวมา ให้รีบนำส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่มีประสาทแพทย์เฉพาะโรคหลอดเลือดสมองโดยเร็วที่สุด เพราะผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมองต้องได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดหรือได้รับการผ่าตัดภายในเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง หลังจากที่เริ่มมีอาการ เพราะยิ่งปล่อยไว้นาน ยิ่งเสี่ยงอัมพฤกษ์-อัมพาตมากขึ้น

 

 

ภาพ : Freepik