posttoday

4 ของต้องเตรียมสำหรับแรงงานเพื่อความปลอดภัยในฤดูฝน

23 มิถุนายน 2562

เตือนแรงงาน! ทำงานอย่างไรให้ปลอดภัยในฤดูฝน เลี่ยงอุบัติเหตุ ลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน

เตือนแรงงาน! ทำงานอย่างไรให้ปลอดภัยในฤดูฝน เลี่ยงอุบัติเหตุ ลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน

ฝนมาเยือนแบบนี้ สิ่งที่ต้องระมัดระวังมากที่สุดสำหรับคนทำงานโดยเฉพาะแรงงาน ก็คืออุบัติเหตุที่มาพร้อมกับฝน ซึ่งอันตรายที่พบบ่อยที่สุด หนีไม่พ้นอันตรายที่เกิดจากการลื่นไถล อันตรายที่เกิดจากการมองเห็นทัศนวิสัยไม่ชัดเจน มีเศษฝุ่นละอองเข้าตา เมื่อเกิดลมแรงในระหว่างการทำงานก่อนที่ฝนจะตก และอันตรายที่เกิดจากสิ่งของหล่นจากที่สูง

4 ของต้องเตรียมสำหรับแรงงานเพื่อความปลอดภัยในฤดูฝน

ภูวสิษฏ์ วงษ์เจริญสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพีแอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลหรือเซฟตี้ โปรดักส์ชั้นนำ ภายใต้แบรนด์ แพงโกลิน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันอุบัติภัยจากการทำงาน ระบุว่า ในช่วงฤดูฝนจะเป็นช่วงที่เกิดอุบัติเหตุจากการทำงานมากกว่าช่วงเวลาอื่น อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้แรงงานสามารถป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ โดยนอกจากจะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษแล้ว ยังสามารถเลือกใช้อุปกรณ์ที่จะช่วยลดอุบัติภัยได้อีกทางหนึ่งด้วย

4 ของต้องเตรียมสำหรับแรงงานเพื่อความปลอดภัยในฤดูฝน

แน่นอนที่สุดว่า อุบัติเหตุที่พบบ่อยคือ การลื่นไถล หรือลื่นล้ม ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานควรสวมใส่รองเท้านิรภัย หรือเลือกสวมใส่รองเท้าบู๊ทนิรภัย ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง หรือเจิ่งนอง โดยพื้นรองเท้าควรมีคุณสมบัติป้องกันการลื่น ซึ่งผู้ใช้อาจจะเลือก "รองเท้านิรภัยแบบเสริมหัวเหล็ก" ที่ได้รับมาตรฐาน มอก. 523-2554 สามารถทนแรงกระแทกได้ถึง 200 จูล ซึ่งจะช่วยป้องนิ้วเท้าจากอุบัติเหตุวัตถุตกใส่เท้าได้อย่างปลอดภัยอีกด้วย

4 ของต้องเตรียมสำหรับแรงงานเพื่อความปลอดภัยในฤดูฝน

นอกจากนี้  ผู้ปฏิบัติงานควรเลือกสวมใส่ "แว่นครอบตานิรภัย" ที่เลนส์แว่นตาเคลือบสาร Anti Fog เพื่อลดการเกิดฝ้าที่เลนส์แว่นตาในขณะปฏิบัติงาน และยังสามารถป้องกันเศษวัสดุต่างๆ กระเด็นเข้าดวงตา เนื่องจากมีการปิดครอบคลุมทั้งดวงตา

รวมถึงควรใส่ "ชุดกันฝน" เพื่อป้องกันร่างกายจากความเปียกชื้น โดยเลือกให้เหมาะสมกับขนาดของผู้ปฏิบัติงาน และที่สำคัญ ชุดกันฝนควรจะต้องมีแทบสะท้อนแสง เพื่อสามารถมองเห็นผู้สวมใส่ได้ชัดเจนแม้อยู่ในระยะไกล

และควรเลือก "หมวกนิรภัย" ที่ได้รับมาตรฐาน มอก. 368-2554 เพื่อป้องกันศีรษะจากวัตถุที่อาจจะตกลงมากระแทก และที่สำคัญควรเลือกประเภทหมวกนิรภัยที่ไม่มีช่องระบายอากาศ เพื่อจะได้ไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้า

อุปกรณ์ทั้ง 4 ประเภทนี้ ไม่ว่าจะเป็นรองเท้านิรภัย แว่นครอบตา ชุดกันฝน และหมวกนิรภัย มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการทำงานในช่วงฤดูฝน ซึ่งข้อควรระวังเพิ่มเติมก็คือ ผู้ใช้ต้องเลือกใช้อุปกรณ์เซฟตี้ให้เหมาะสมกับหน้างาน  ต้องทำงานด้วยความระมัดระวังมากขึ้น และควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีกระแสไฟ้ฟ้า เพราะอาจเกิดการรั่วไหลของไฟฟ้า

4 ของต้องเตรียมสำหรับแรงงานเพื่อความปลอดภัยในฤดูฝน

การดูแลรักษาอุปกรณ์ป้องกันภัย

ขณะที่การดูแลรักษาอุปกรณ์ป้องกันภัยก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยยืดอายุการใช้งาน โดยในส่วนของรองเท้านิรภัยเสริมหัวเหล็ก หรือรองเท้าบู๊ทเสริมหัวเหล็ก ควรทำความสะอาดรองเท้าโดยใช้แปรงขนนุ่มหรือผ้า ปัดเศษฝุ่นและน้ำที่เกาะบนรองเท้าออก หลังจากนั้นใช้น้ำยา หรือครีมสำหรับทำความสะอาด และบำรุงรักษารองเท้า (ควรเลือกน้ำยาให้เหมาะกับชนิดของหนัง) สำหรับกรณีที่รองเท้าอับชื้น หลังจากทำความสะอาดรองเท้าแล้ว ให้นำกระดาษหนังสือพิมพ์ ขยำให้เป็นก้อน แล้วนำไปใส่ภายในรองเท้า เพื่อขจัดกลิ่นและความอับชื้น ก่อนจะนำไปเก็บในที่อากาศถ่ายเทสะดวก

ส่วนแว่นครอบตานิรภัย ควรล้างด้วยน้ำเปล่า เพื่อล้างฝุ่นหรือสิ่งสกปรกที่เกาะออก จากนั้นใช้ผ้าที่มีเนื้อนุ่ม ซับน้ำบนแว่นตานิรภัยจนแห้ง และเก็บใส่ถุงหรือกล่องเก็บแว่นตา (ไม่เก็บแว่นตาไว้กับอุปกรณ์อื่น เพื่อป้องกันการเกิดรอยขีดข่วนบนเลนส์แว่นครอบตา) สำหรับเสื้อกันฝน ให้ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่า หรือใช้แปรงที่มีขนนุ่มเพื่อล้างฝุ่นหรือสิ่งสกปรกที่เกาะออก (ห้ามใช้กับน้ำยาเคมี หรือน้ำยาซักแห้งชนิดต่างๆ และไม่ควรบิดเสื้อกันฝน เพราะจะทำให้เสียรูปทรง) จากนั้นนำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่ม

ขณะที่การดูแลรักษาหมวกนิรภัย ควรถอดชิ้นส่วนที่ติดมากับหมวก (ชุดรัดศีรษะ และแถบซับเหงื่อ) ก่อนทำความสะอาด จากนั้นล้างทำความสะอาดด้วยน้ำอุ่นและสบู่อ่อน เพื่อล้างฝุ่นหรือสิ่งสกปรกที่เกาะออกเสร็จแล้วเช็ดด้วยผ้าขนนุ่มให้แห้ง ข้อสำคัญคือ ไม่ควรเก็บในที่ที่มีอุณหภูมิสูง หรือที่ที่มีแสงแดดส่องโดยตรง และไม่ควรใช้สารละลาย หรือสารเคมีรุนแรงทำความสะอาด เพราะอาจทำให้คุณภาพของหมวกลดลง

“อุบัติเหตุ” เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากจะให้เกิดขึ้นทั้งนั้น เพราะนำมาซึ่งความสูญเสียไม่ว่าจะชีวิตหรือทรัพย์สิน ดังนั้น อะไรที่ป้องกันได้ก็ควรที่จะป้องกัน อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อลดผลกระทบจากหนักให้เป็นเบา