posttoday

10 วิธีดูแลผู้สูงอายุที่เริ่มกินน้อย ป้องกันการขาดสารอาหาร

15 มิถุนายน 2562

เมื่อผู้สูงอายุเริ่มกินอาหารได้น้อยลง เสี่ยงต่อการขาดสารอาหารมากขึ้น แล้วลูกหลานอย่างเราสามารถเตรียมอะไรให้พ่อและแม่ได้บ้าง

เมื่อผู้สูงอายุเริ่มกินอาหารได้น้อยลง เสี่ยงต่อการขาดสารอาหารมากขึ้น แล้วลูกหลานอย่างเราสามารถเตรียมอะไรให้พ่อและแม่ได้บ้าง

ปัญหาที่พบบ่อยในวัยสูงอายุคือปัญหาเรื่องการกินได้น้อยลง ทั้งๆ ที่วัยนี้ต้องการสารอาหารเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ดังนั้น แม้ว่าจะกินได้ไม่เยอะแต่ก็ต้องกินให้ครบ 5 หมู่

สาเหตุของปัญหาคือเมื่อย่างเข้าสู่วัย 60 ปี ประสิทธิภาพในการทำงานของระบบย่อยอาหารลดลง ทานอะไรก็ย่อยยาก ไม่สบายท้อง กระดูกและฟันก็เสื่อมสภาพ ทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร เมื่อไม่กิน ก็จะเริ่มขาดสารอาหารโดยไม่รู้ตัว จนกล้ามเนื้อลีบ น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย ซึม ไม่อยากเดิน พูดน้อย ป่วยบ่อย ลูกหลานอย่างเรา พอเห็นพ่อแม่เจ็บป่วยก็มุ่งเน้นไปรักษาโรคนั้นๆ บางครอบครัวก็เข้าใจผิดว่าเกิดจากความชราก็เลยปล่อยไป ทั้งที่จริงๆ แล้วเกิดจากภาวะการขาดสารอาหาร เพราะไม่ได้กินอาหารที่เหมาะสมนั่นเอง

 

10 วิธีดูแลผู้สูงอายุที่เริ่มกินน้อย ป้องกันการขาดสารอาหาร

วิธีดูแลผู้สูงอายุที่เริ่มกินได้น้อยลง คืนรอยยิ้มของคนที่เรารักกับ 10 ข้อปฎิบัติง่ายๆ ดังนี้

1. เลือกอาหารที่ให้คุณค่าครบ 5 หมู่ และควบคุมน้ำหนักผู้สูงอายุให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

2. กินโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสมคือวันละ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หลายคนเข้าใจผิด เน้นแต่วิตามิน ผัก ผลไม้ จริงๆแล้วโปรตีนที่ดี และเพียงพอนี่แหละจะช่วยเสริมให้กล้ามเนื้อแข็งแรง

3. เลี่ยงน้ำตาลให้น้อยลง เน้นคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลแกว่งขึ้นสูง เช่น ข้าวกล้องจะดีกว่าข้าวขัดสี

4. งดอาหารที่มีไขมันสูง เนื้อสัตว์ติดมัน และเลือกปรุงอาหารโดยใช้ไขมันจากพืช เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลือง และให้เลี่ยงการทอดด้วยความร้อนสูงเป็นเวลานานเพื่อไม่ให้ไขมันจากพืชเปลี่ยนเป็นไขมันทรานส์

5. กินอาหารที่ให้วิตามินและเกลือแร่ที่เพียงพอ หรือดื่มน้ำผักผลไม้ เช่น น้ำขิง น้ำมะตูม น้ำส้มคั้นโดยไม่ใส่น้ำตาลเพื่อรับวิตามิน และกินอาหารที่ให้แคลเซียมและวิตามินดี เพื่อชะลอการเกิดโรคกระดูกพรุน และงดเกลือโดยเฉพาะผู้ที่มีความดันเลือดสูง

6. หากกินแต่ละมื้อได้น้อย ให้แบ่งกินทีละน้อยๆ แต่กินบ่อยๆ เช่น 4-5 มื้อ

7. อาหารต้องผ่านการปรุงสุก ในลักษณะเปื่อย นุ่ม เพื่อช่วยให้เคี้ยวและย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา

8. หลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดแก๊ส อาหารหมักดอง อาหารรสจัด

9. งดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และงดบุหรี่

10. ที่สำคัญ ควรให้ท่านดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว และขยับเขยื้อน หรือออกกำลังกายตามสมควร

 

 

 

ภาพ freepik