posttoday

แพทย์เตือนปวดหลังเรื้อรังไม่ใช่เรื่องธรรมดา รักษาช้าเสี่ยงพิการตลอดชีวิต

13 มิถุนายน 2562

เมื่อปวดหลังเรื้อรัง ไม่ใช่เรื่องธรรมดา มูลนิธิรักษ์ข้อแห่งประเทศไทย อาสาชวนคนไทยรู้เท่าทันโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด หลังพบผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าเป็นออฟฟิศซินโดรม

เมื่อปวดหลังเรื้อรัง ไม่ใช่เรื่องธรรมดา มูลนิธิรักษ์ข้อแห่งประเทศไทย อาสาชวนคนไทยรู้เท่าทันโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด หลังพบผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าเป็นออฟฟิศซินโดรม

แพทย์เตือนปวดหลังเรื้อรังไม่ใช่เรื่องธรรมดา รักษาช้าเสี่ยงพิการตลอดชีวิต

มูลนิธิรักษ์ข้อแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย เปิดตัวแคมเปญ “Stretches and Strong...ยืดตัวไม่กลัวข้อติด” เร่งชวนคนไทยรู้จักโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด พร้อมเตือนคนไทยที่ปวดหลังเรื้อรัง ให้ระวังเพราะไม่ใช่เรื่องธรรมดา หากรักษาช้าเสี่ยงพิการตลอดชีวิต หลังพบผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าเป็นออฟฟิศซินโดรม หวังเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างใกล้เคียงปกติมากที่สุด

แพทย์เตือนปวดหลังเรื้อรังไม่ใช่เรื่องธรรมดา รักษาช้าเสี่ยงพิการตลอดชีวิต


ผศ.นพ.กิตติ โตเต็มโชคชัยการ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรคภูมิแพ้อิมมูโนวิทยาและโรคข้อ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานกรรมการมูลนิธิรักษ์ข้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด (Ankylosing Spondylitis) อาจเป็นโรคที่หลายคนไม่คุ้นเคยนัก แต่กลับสามารถพบผู้ป่วยได้ตั้งแต่ในวัยทำงานที่มีอายุก่อน 45 ปี หรือพบเร็วกว่าวัยทำงานที่ส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันต้องนั่งติดหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน จนผู้ป่วยด้วยโรคนี้อาจคิดว่าภาวะปวดหลังเรื้อรังเป็นเพียงอาการหนึ่งของออฟฟิศซินโดรม หรือออกกำลังกายเยอะจนคิดว่าปวดหลังจากการใช้งานหนักหรือจากการออกกำลังกายเท่านั้น ซึ่งจะทำให้เกิดความชะล่าใจและล่าช้าต่อการรักษาได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึดให้แก่สังคมไทยผ่านแคมเปญ “Stretches and Strong...ยืดตัวไม่กลัวข้อติด” จึงเป็นวาระที่สำคัญอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในประเทศไทยจะมีผู้ป่วย 1 คน จากจำนวนประชากร 1,000 คน ขณะที่รายงานทางวารสารการแพทย์ Rheumatology ฉบับหนึ่ง เผยว่าในภูมิภาคเอเชียมีผู้ป่วยสูงกว่า 4 ล้านคน* ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่น่ากังวลใจอย่างยิ่ง แคมเปญนี้จึงได้จัดทำและผลิต E-Book สำหรับประชาชนทั่วไป เพื่อกระตุ้นสังคมไทยให้มีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึดมากขึ้น

แพทย์เตือนปวดหลังเรื้อรังไม่ใช่เรื่องธรรมดา รักษาช้าเสี่ยงพิการตลอดชีวิต

ด้าน รศ.พญ.ปวีณา เชี่ยวชาญวิศวกิจ สาขาโรคข้อและรูมาติสซั่ม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า แม้ปัจจุบันโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด ยังเป็นคงเป็นโรคที่อาจไม่ทราบสาเหตุได้อย่างแน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่า มีแนวโน้มที่เกี่ยวข้องกับสารพันธุกรรม HLA B27 ที่จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึดมากกว่าคนทั่วไป และจะมีอัตราเสี่ยงที่มากยิ่งขึ้นหากมีคนในครอบครัวหรือญาติสนิทมีประวัติการป่วยด้วยโรคนี้เช่นกัน

โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด โดยทั่วไปมักพบผู้ป่วยในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการเริ่มต้นจากการปวดหลังเรื้อรัง โดยเฉพาะบริเวณเอวหรือกระดูกก้นกบ และมักมองข้ามอาการเหล่านี้จึงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงพิการได้ง่ายขึ้น กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวติดต่อกันเป็นระยะนานกว่า 3 เดือน ควรเร่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งมีวิธีการมากมายตั้งแต่การรักษาด้วยวิธีการที่ไม่ใช้ยาด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับโรค แนะนำวิธีการปฏิบัติตัว การออกกำลังกาย การใช้ยาเพื่อการรักษาบรรเทาอาการเจ็บปวดต่างๆ และการผ่าตัด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาสามารถเคลื่อนไหวในส่วนข้อที่เคยยึดติดได้

แม้การรักษาผู้ป่วยโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึดจะยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ในปัจจุบัน แต่ยังสามารถทำให้ผู้ป่วยให้มีสุขภาวะที่ดีและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติมากที่สุด ด้วยการเริ่มการบริหารร่างกายตนเองอย่างง่ายๆ ด้วยการขยับทุกส่วนทุกทิศทางให้มีรูปแบบการเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ตัวอย่างเช่น

แพทย์เตือนปวดหลังเรื้อรังไม่ใช่เรื่องธรรมดา รักษาช้าเสี่ยงพิการตลอดชีวิต

  • บริหารกระดูกสันหลังส่วนคอ เพียงนั่งหลังตรงค่อยๆ ก้มศีรษะลงช้าๆ จนสุด นับ 1-10 และ ค่อยเงยหน้าช้าๆ จนสุด นับ 1-10 จากนั้นสลับเป็นหันไปทางด้านซ้ายและขวา นับ 1-10 เช่นเดียวกัน
    โดยควรทำซ้ำ 2-3 รอบต่อวัน

แพทย์เตือนปวดหลังเรื้อรังไม่ใช่เรื่องธรรมดา รักษาช้าเสี่ยงพิการตลอดชีวิต

แพทย์เตือนปวดหลังเรื้อรังไม่ใช่เรื่องธรรมดา รักษาช้าเสี่ยงพิการตลอดชีวิต

  • บริหารกระดูกสันหลัง-เอว เริ่มนั่งหลังตรงบนเก้าอี้ที่สูงพอจนสามารถวางเท้าบนพื้นได้ จากนั้นนำมือวางไว้ข้างลำตัว พร้อมเอียงตัวด้านซ้ายไปด้านข้างแล้วค่อยๆ ขยับแขนลงไปในแนวดิ่ง นับ 1-10 แล้วจึงกลับมา ท่าปกติพร้อมสลับทำเช่นเดียวกันที่ด้านขวา โดยควรทำซ้ำข้างละ 10 ครั้ง จำนวน 2-3 รอบต่อวัน

แพทย์เตือนปวดหลังเรื้อรังไม่ใช่เรื่องธรรมดา รักษาช้าเสี่ยงพิการตลอดชีวิต

  • บริหารกระดูกสันหลังช่วงอกและกล้ามเนื้อหายใจ สามารถยืนหรือนั่งก็ได้ หลังจากนั้นค่อยประสานมือ เหยียดศอกพร้อมยกแขนให้สูงในระดับไหล่แล้วค้างไว้นับ 1-10 แล้วค่อยๆ ยกต้นแขนขึ้นชิดหูให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมกับค่อยๆ หายใจเข้าจนเต็มปอดแล้วจึงผ่อนลมหายใจออกอย่างช้าๆ โดยควรทำซ้ำรอบละ 10 ครั้ง อย่างน้อย 2-3 รอบต่อวัน

 

แพทย์เตือนปวดหลังเรื้อรังไม่ใช่เรื่องธรรมดา รักษาช้าเสี่ยงพิการตลอดชีวิต

ปิดท้ายที่ นพ.กันย์ พงษ์สามารถ กุมารเวชศาสตร์ โรคภูมิแพ้และรูมาติสซั่ม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เผยว่า ในปัจจุบันคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยขึ้นอยู่กับการดำเนินโรคและการรักษา หากผู้ป่วยได้พบแพทย์ช้าโอกาสที่จะมีอาการดีขึ้นก็จะลดน้อยลงไป แพทย์จึงสามารถทำได้เพียงการช่วยลดปวด ลดการอักเสบ และผ่าตัดแก้ไขความพิการ แต่หากผู้ป่วยสามารถรู้ตัวเร็ว ดังเช่น ผู้ก่อตั้งชมรม Thai AS Club ซึ่งมีอาการตั้งแต่ช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายปีที่ 5 จนต้องออกจากโรงเรียนแล้วรีบพบแพทย์เฉพาะทางอย่างทันที จึงทำให้เขาได้มีโอกาสลดความเสี่ยงจากความพิการที่เป็นผลกระทบอันร้ายแรงจากโรคได้ทันเวลา จนสามารถกลับมาเดินได้อย่างปกติและกลับไปเรียนหนังสือต่อจนจบในระดับมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม ด้วยขอจำกัดในการเคลื่อนไหว กับความเจ็บปวด ของผู้ป่วย แพทย์ฯ จึงต้องการมีส่วนช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ได้มากที่สุดด้วยการขอเชิญชวนทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ แคมเปญ “Stretches and Strong...ยืดตัวไม่กลัวข้อติด” ให้แก่สังคมไทยได้รู้จัก พร้อมทั้งให้ผู้ป่วยมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชมรม Thai AS Club โดยสามารถสมัครเป็นสมาชิกได้ที่ Facebook.com/thaiasclub เพื่อให้โครงการต่างๆ ที่ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึดสามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้น

สำหรับผู้สนใจศึกษาความรู้เพื่อให้รู้เท่าทันโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึดสามารถดาวน์โหลด E-Book ได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1H8pOJSXGg8qPZMiyUc8WaH0tORGsp6vz/view

*ข้อมูลอ้างอิงจาก https://academic.oup.com/rheumatology/issue/53/4

 

 

 

ภาพ : freepik