posttoday

เช็กลิสต์ 4 อาหารเฮลท์ตี้ (ที่จอมปลอม)

04 มิถุนายน 2562

อยากเฮลท์ตี้ คิดให้ดี เช็กให้ชัวร์ ก่อนตกหลุมพรางติดกับดักอาหารเพื่อสุขภาพที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

อยากเฮลท์ตี้ คิดให้ดี เช็กให้ชัวร์ ก่อนตกหลุมพรางติดกับดักอาหารเพื่อสุขภาพที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

สำหรับคนรักสุขภาพ คนที่กำลังลดน้ำหนัก คนที่กินแบบคำนวณแคลอรี หรือคนที่ควบคุมการกินแป้ง น้ำตาล ไขมัน ตามคำแนะนำของแพทย์ ก่อนหยิบอาหารเพื่อสุขภาพ ลองมาดูกันก่อนว่าที่เลือกกินบ่อยๆ นั้น เป็นอาหารเฮลท์ตี้ (ที่จอมปลอม) หรือไม่

เช็กลิสต์ 4 อาหารเฮลท์ตี้ (ที่จอมปลอม)

ขนมปังโฮลวีต

มีคนหลายคนที่ชอบกินขนมปังมากกว่าข้าว เพราะสะดวกรวกเร็ว ซื้อปุ๊บกินปั๊บ แถมพกพาไปได้ทุกที่ไม่เลอะเทอะ เมื่อห่วงใยในสุขภาพจึงมักเลือกขนมปังโฮลวีตแทนขนมปังขัดขาว แต่ขนมปังโฮลวีตบางยี่ห้อกลับไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่คิด เพราะแทนที่จะใช้แป้งโฮลวีตเป็นหลักแล้วผสมแป้งขัดขาวในสัดส่วนที่น้อยกว่า กลับใช้แป้งขาวมากกว่า แถมยังจัดเต็มสารกันบูดและมาการีน เทคนิคในการเลือกซื้อง่ายๆ คือลองดูยี่ห้อที่แป้งโฮลวีตมีมากกว่า 30% ใช้เนยแท้และไม่ใส่สารกันบูด

เช็กลิสต์ 4 อาหารเฮลท์ตี้ (ที่จอมปลอม)

โอ๊ตมีล-กราโนล่า

ตัวเลือกของสาวๆ มักมีโอ๊ตมีลที่กินแล้วดีมีไฟเบอร์สูง ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ซึ่งจัดเป็นอาหารแคลอรีต่ำ จึงกินแล้วไม่ต้องกลัวอ้วน ซึ่งกราโนล่าก็คือโอ๊ตมีลผสมธัญพืชและผลไม้อบแห้ง มีทั้งรูปแบบอัดแท่งหรือแบบปกติที่ใส่ในโยเกิร์ต อ่านแล้วทุกอย่างดูดี แต่ที่ไม่ดีคือโอ๊ตมีลที่คนส่วนใหญ่ซื้อกินมักเป็นแบบเพิ่มเติมรสชาติ เช่น รส maple brown sugar หรือ apple cinnamon อย่าลืมว่าอะไรก็ตามที่ปรุงแต่งจากโรงงานมักมาพร้อมน้ำตาลและโซเดียม ส่วนกราโนล่าที่วางขายกันก็มีน้ำตาลผสมมาด้วย แค่ถูกบดบังด้วยคำว่า Healthy ที่คิดว่ากินแล้วดีเลยหยิบมากินเล่น แต่สุดท้ายก็เพิ่มแคลอรีเข้าร่างโดยไม่จำเป็นนั่นเอง ดังนั้น เลือกโอ๊ตมีลหรือกราโนล่าพร้อมกินครั้งต่อไป ลองหันไปดูปริมาณน้ำตาล หรือสารปรุงแต่ง ที่ควรไม่มีหรือมีให้น้อยจะดีกว่า

เช็กลิสต์ 4 อาหารเฮลท์ตี้ (ที่จอมปลอม)

โยเกิร์ตไขมัน 0%

ของกินสุดฮอตที่คนลดน้ำหนักต่างเทใจให้เป็นพิเศษคือโยเกิร์ต ซึ่งอยากให้ระวังโยเกิร์ตที่ระบุว่า "ไม่มีไขมัน" เพราะผู้ผลิตมักทดแทนไขมันด้วยปริมาณน้ำตาลที่สูงลิ่ว เช่น โยเกิร์ตสูตรปกติให้มา 7 กรัม แต่สูตรไม่มีไขมัน 0% กลับใส่มามากถึง 19 กรัม (น้ำตาล 4 กรัม เท่ากับ 1 ช้อนชา) ดังนั้น หากเจอโยเกิร์ตไขมัน 0% อย่าเพิ่งด่วนหยิบ ลองพลิกดูฉลากด้านหลังว่าสัดส่วนน้ำตาลเป็นอย่างไร มีฟรุกโตสหรือคอร์นไซรัปแยกมาอีกไหม เพราะสองตัวนี้ก็น้ำตาลดีๆ นี่เอง ส่วนใครที่หากอยากกินหวานแนะนำใส่น้ำผึ้งหรือผลไม้สดเพิ่มอรรถรสในการกินแบบคนรักสุขภาพ

เช็กลิสต์ 4 อาหารเฮลท์ตี้ (ที่จอมปลอม)

น้ำผลไม้กล่อง

ไม่ว่าจะน้ำส้ม น้ำแอปเปิล หรือแม้แต่น้ำผักบรรจุกล่องเหล่านี้อาจให้ผลเสียมากกว่าผลดี เพราะปัญหาของน้ำผลไม้คือปริมาณน้ำตาลที่สูงพอๆ กับน้ำอัดลม ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าผลไม้มีน้ำตาลแต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิด ดังนั้น ต่อให้ดื่มน้ำผลไม้ที่บอกว่าไม่ใส่น้ำตาล แต่ก็ยังได้รับน้ำตาลจากผลไม้อยู่ดี ประการที่สองน้ำผลไม้กล่องไม่ได้ทำมาจากผลไม้จริง ส่วนใหญ่เป็นหัวเชื้อที่สกัดมาอีกที ส่วนน้ำผักก็เช่นเดียวกัน ถ้าพลิกอ่านฉลากด้านหลังจะเห็นว่าส่วนผสมหลัก ได้แก่ น้ำผลไม้ที่มีรสชัดและหวานจัด เช่น องุ่น แอปเปิล ฯลฯ นำมากลบรสชาติผักที่ไม่อร่อย แต่ต้องใส่มาเพราะโฆษณาไว้แล้ว เช่น แครอทหรือขึ้นฉ่ายซึ่งจะอยู่ท้ายๆ ของส่วนผสมที่ใส่มาน้อยมาก แนะนำให้ลองเปลี่ยนมากินผลไม้สดที่ถึงแม้จะมีน้ำตาลแต่ก็ยังได้วิตามิน เกลือแร่ และไฟเบอร์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกายแบบไม่ต้องปรุงแต่ง

 

 

 

 

 

ภาพ : freepik