posttoday

ภาพถ่ายสไตล์เซน

10 พฤศจิกายน 2553

เย็นวันนั้น เรากะจะทำตัวเป็น “เซน” ให้มากที่สุด เพื่อว่าจะได้เข้ากับคอนเซปต์งานที่กำลังไปชม

เย็นวันนั้น เรากะจะทำตัวเป็น “เซน” ให้มากที่สุด เพื่อว่าจะได้เข้ากับคอนเซปต์งานที่กำลังไปชม

โดย.... วิชช์ญะ ยุติ

เย็นวันนั้น เรากะจะทำตัวเป็น “เซน” ให้มากที่สุด เพื่อว่าจะได้เข้ากับคอนเซปต์งานที่กำลังไปชม

แต่จนแล้วจนรอด เดินไปนึกไป อะไรหว๋าคือเซนที่แท้จริง

ภาพถ่ายสไตล์เซน

ความเรียบง่าย การใช้ชีวิตสโลว์ๆๆๆ ความนิ่งงัน หรือการไม่โกรธ โอ้ย!!! มึนหัวครับ

พอแหวกฝูงชนกลางถนนข้าวสารได้ ก็มุ่งหน้าสู่ถนนพระอาทิตย์อย่างรีบเร่ง (รีบๆ แบบนี้ไม่รู้ว่าหลุดธีมการเป็นเซนหรือเปล่านะ) เพราะกลัวไม่ทันเวลานัดกับ 3 ช่าง (รัก) ภาพที่รวมตัวกันนำผลงานของตัวเองมาอวดโฉม ที่ต่อยอดจากการแสดง Inner eyes เมื่อครั้งก่อน แต่ในหนนี้ Inner eyes 2 “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” “กำธร เภาวัฒนสุข” “สมิทธิ ธนานิธิโชติ” ใช้โจทย์หลักภายใต้กรอบความคิด “เซน ไซน์ส”(Zen Signs) หรือ “ฌานนิมิต”

นั่นจึงเป็นที่มาของภาพถ่ายสไตล์เซนที่ปรากฏบนผนังร้านแฮมล็อคทั้งสองชั้น ซึ่งสะท้อนวิถีเซนผ่านมุมกล้องอันหลากหลาย รู้สึกได้ถึงความธรรมดา ความเรียบง่าย ความพอดี ขณะเดียวกันก็ยังแฝงไว้ด้วยอารมณ์เหงา โดดเดี่ยว เวิ้งว้าง

กระนั้นทั้งหมดทั้งมวล ทุกๆ ภาพล้วนแต่บ่งบอกนัยสำคัญว่า “นิ่งงันสงบงาม”

ภาพถ่ายกว่า 30 ภาพแทรกตัวตามพื้นที่ว่าง แบ่งกันคร่าวๆ ได้ว่า ภาพถ่ายของเสกสรรค์นั้นใส่กรอบ ส่วนภาพถ่ายของกำธรมีเทคนิคซ้อนภาพเป็นตัวช่วย ขณะที่ภาพถ่ายของสมิทธิถูกพิมพ์ลงบนผืนผ้าใบ

กำธร : “งานของผมจะเน้นบรรยากาศ ทะเล ก้อนหิน อย่างก้อนหินจะเห็นว่ามันคือรูปทรง แต่จริงๆ มันมีเรื่องบรรยากาศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะแสงและเงา จากเดิมมันเป็นภาพถ่าย แล้วจู่ๆ มันก็กลายเป็นภาพเขียนในความรู้สึกของผมเอง หรือก้อนเมฆพอเอามาซ้อนกันมันก็เกิดมิติใหม่ๆ ซึ่งตอนที่ทำไม่ได้คิดถึงเรื่องเซนเลยนะ เพราะคิดถึงมันก็จะทำให้รู้สึกเกร็งยังไงไม่รู้ สู้ทำไปเรื่อยๆ ตามใจตัวเองดีกว่า”

ภาพถ่ายสไตล์เซน

สมิทธิ : “ง่ายๆ ครับ คน สัตว์ สิ่งของ เวลา และการเปลี่ยนแปลง แล้วผมก็นำมาตีความให้มันเป็นเซนคือความรู้สึก หรือสิ่งที่กระทบเฉพาะหน้า เพราะผมว่าสีแดงมันก็คือสีแดง เราเห็นเป็นสีอื่นไปไม่ได้หรอก แต่มันอาจจะเปลี่ยนเป็นสีส้มก็ได้จากการตีความใหม่ของคุณ เช่น รูปเจ้าสาว คนชรา ความหมายของเซนมันก็บอกตรงๆ แต่ถ้าคนดูตีความใหม่ก็อาจได้ความหมายที่ต่างกันไป”

เสกสรรค์ : “ภาพที่ผมเลือกมาโชว์ครั้งนี้จะมีอยู่ 2 ประเภท คือเป็นภาพลักษณ์เงาสะท้อน มันหมายความว่ามายาชนิดหนึ่ง เป็นภาพเงาสะท้อนของความจริง หรือเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน แต่ว่าปรากฏรูปออกมาโดยอาศัยสิ่งอื่น ส่วนอีกประเภทคือภาพทิวทัศน์ที่ออกจะไปทางม่านหมอก เป็นความเคลื่อนไหว ซึ่งปกติหมอกไม่ได้หยุดนิ่ง แล้วก็มักจะมีลักษณะโดดเดี่ยว ต้นไม้ต้นเดียว ภูเขาหนึ่งลูก คนเราอยู่ท่ามกลางภาพมายาเหล่านั้น จึงต้องรู้ทัน ชีวิตก็อาจเป็นเรื่องการเดินทางโดยลำพังเพื่อค้นหาความจริงบางอย่าง ถ้าตีความไปทางโลกอาจจะรู้สึกเหงาไปหน่อย แต่ในทางธรรมไม่ใช่ความเหงาหงอย”

แล้วถ้าคนไทยยึดวิถีเซนละ ชีวิตจะเป็นยังไง? เราถามออกไปดื้อๆ กลางวงสนทนา เพราะคิดว่าน่าจะเกี่ยวกับผลงานภาพถ่ายของทั้ง 3 คนไม่มากก็น้อย (แหม...พยายามจะโยงกันให้ได้เชียว)

เสกสรรค์ : “ถ้าคนไทยหันมาสนใจหลักธรรมในระดับปรมัตถ์มากขึ้น มันจะช่วยให้การยึดถือในตัวเองน้อยลง แล้วการเห็นความสำคัญของเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติจะมากขึ้น ความขัดแย้ง การทำลายซึ่งกันและกันจะลดลงตามไปด้วย อันนี้ผมว่าไม่ใช่แค่สังคมไทยหรอก แต่เป็นความต้องการของทั้งโลกที่ควรหันมาใช้ชีวิตเพื่อให้สอดคล้องกับหลักปรมัตถ์”

กำธร : “ผมว่าความสุขกับความสงบไม่เหมือนกันนะ ความสุขมาแบบสั้นๆ แต่ความสงบมันอยู่กับเรานาน บางคนอาจตั้งเป้าว่าวันนี้อยากกินข้าว 2.5 หมื่นบาท เพราะมีตังค์เยอะ ถ้าจะเอาแนวคิดเซนมาใช้ ผมว่าก็แค่ลดการใช้เงินเพื่ออาหารมื้อนั้นได้ไหม แทนที่จะจ่าย 2.5 หมื่นบาท ก็สัก 5,000 บาท ที่เหลือเอาไปช่วยคนที่เดือดร้อน ทำได้ผมว่าเราจะพบความสุขและความสงบพร้อมๆ กัน”

สมิทธิ : “มองอีกแง่เมืองไทยคงไม่เป็นอย่างตอนนี้หรอก ระบบเศรษฐกิจคงจะเจ๊งแน่นอน เพราะความทะเยอทะยานไม่มีแล้วไง การแข่งขัน การช่วงชิงก็จะไม่มี บ้านเมืองอาจจะไม่มีมีการพัฒนา เราอาจมีแค่บ้านเป็นกระท่อมเต็มไปหมด เพราะทุกอย่างทำเองปลูกเองกินเอง เรียบง่ายไม่ฟุ้งเฟ้อ”

การทำงานถ่ายภาพของทั้ง 3 คนเป็นเรื่องสามัญที่ทำกันปกติในชีวิต สมิทธิรับจ๊อบฟรีแลนซ์ถ่ายภาพสารคดีควบคู่เปิดร้านกาแฟเล็กๆ (บางน้อยคอยรัก) ที่สมุทรสงคราม กำธรคลุกคลีการถ่ายภาพมานาน โดยมีธุรกิจพรินต์ภาพเป็นตัวเสริม ส่วนเสกสรรค์บทบาทนักเขียนและอาจารย์ดูเหมือนจะโดดเด้งกว่า แต่การถ่ายภาพก็เป็นงานอดิเรกที่เขาทำไม่เคยขาด ยิ่งการออกทริปแคมปิงกับรุ่นน้อง 2 หน่อ เรียกว่าถึงไหนถึงกัน หนึ่งในนั้นก็ต้องพ่วงกิจกรรมถ่ายภาพเข้าไปด้วย สำหรับนิทรรศการภาพถ่ายนี่ก็เป็นการรวมตัวครั้งที่ 2 และอาจจะมีครั้งที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 เป็นซีรีส์ที่ต้อง (รอ) ดูกันยาวๆ ต่อไป

ภาพถ่ายสไตล์เซน

 

ภาพถ่ายสไตล์เซน