posttoday

9 ของแถมด้านสุขภาพที่มาพร้อมกับความอ้วน!!!

23 สิงหาคม 2562

สำหรับคนอ้วนหรือคนที่มีน้ำหนักเกิน มักประสบปัญหาสุขภาพได้ง่ายเมื่อเทียบกับคนที่น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และเป็นตัวการก่อให้เกิดโรคบางชนิด ซ้ำร้ายอาจรุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต

สำหรับคนอ้วนหรือคนที่มีน้ำหนักเกิน มักประสบปัญหาสุขภาพได้ง่ายเมื่อเทียบกับคนที่น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และเป็นตัวการก่อให้เกิดโรคบางชนิด ซ้ำร้ายอาจรุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต

9 ของแถมด้านสุขภาพที่มาพร้อมกับความอ้วน!!!

 

มาดูกันว่าคนที่ประสบกับภาวะอ้วนนั้นจะเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคและปัญหาสุขภาพด้านใดกันบ้าง

  1. ภาวะอ้วนจนหายใจไม่ออก เป็นภาวะที่ไม่สามารถสูดหายใจเข้าลึกๆ ได้ตามปกติ จนทำให้มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำและมีคาร์บอนไดออกไซด์สูง แม้สาเหตุของภาวะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากระบบควบคุมการหายใจของสมองบกพร่อง และมีน้ำหนักส่วนเกินที่กระทบต่อการทำงานของผนังทรวงอก
  2. ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับได้ ซึ่งจะมีอาการ เช่น กรนเสียงดังมาก อาจหยุดหายใจเป็นระยะในขณะนอนหลับ อาจรู้สึกง่วงในตอนกลางวัน เป็นต้น ซึ่งภาวะนี้อาจทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมาได้
  3. โรคข้อเสื่อม การมีน้ำหนักตัวเกินกว่ามาตรฐานมากๆ ทำให้ข้อต่อต้องรับน้ำหนักมากตามไปด้วย ส่งผลให้กระดูกอ่อนซึ่งทำหน้าที่ป้องกันข้อต่อค่อยๆ เสื่อมสภาพลง จนอาจเป็นเหตุให้รู้สึกปวดตามบริเวณที่เป็นกระดูกข้อต่อ เช่น หลัง สะโพก และหัวเข่า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การลดน้ำหนักอาจช่วยลดแรงกดบริเวณกระดูกข้อต่อ บรรเทาอาการของโรค และชะลอความเสื่อมของข้อได้
  4. โรคเก๊าต์ เป็นภาวะมีกรดยูริกในเลือดสูงซึ่งทำให้เกิดการตกผลึกตามข้อต่างๆ จนทำให้เกิดอาการบวมตามข้อ โดยโรคเก๊าต์พบได้มากในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน แต่การลดน้ำหนักหรือเพิ่มน้ำหนักอย่างรวดเร็วก็อาจทำให้อาการของโรคเก๊าต์รุนแรงขึ้นได้ ดังนั้น ผู้ที่ป่วยหรือเคยป่วยด้วยโรคเก๊าต์ควรปรึกษาแพทย์ถึงแนวทางที่เหมาะสมในการลดน้ำหนัก
  5. โรคเบาหวาน ผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินมักป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ซึ่งการลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม และการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้ นอกจากนี้ การลดน้ำหนักและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและอาจลดการใช้ยารักษาเบาหวานได้
  6. โรคนิ่วในถุงน้ำดี เป็นโรคที่พบได้มากในผู้ที่มีภาวะอ้วน ทว่าการลดน้ำหนักตัวลงอย่างรวดเร็วหรือลดลงในปริมาณมากอาจทำให้เป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้เช่นกัน ซึ่งขอบเขตการลดน้ำหนักที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพอยู่ที่ประมาณ 0.45-0.9 กิโลกรัม/สัปดาห์
  7. โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง น้ำหนักตัวที่เกินเกณฑ์มาตรฐานมากๆ อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงและคอเลสเตอรอลในเลือดสูงซึ่งภาวะดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้ โดยหากลดน้ำหนักตัวลงให้ได้ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ก็อาจช่วยลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคได้
  8. โรคมะเร็ง ภาวะอ้วนเป็นปัญหาสุขภาพที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งได้ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งที่ไต ถุงน้ำดี ตับอ่อน และรังไข่ เป็นต้น
  9. ปัญหาสุขภาพแทรกซ้อน โรคอ้วนอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ เช่น อาการปวดหลังเรื้อรัง โรคกรดไหลย้อน ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง และปัญหาสุขภาพจิตอย่างการขาดความมั่นใจในตนเอง มีอาการเก็บตัวและซึมเศร้า เป็นต้น

 

 

 

ภาพ : freepik