posttoday

4 เรื่องควรรู้บนฉลากโภชนาการ อ่านก่อนเลือกซื้อ!!

16 พฤษภาคม 2562

การอ่านฉลากโภชนาการก่อนเลือกซื้ออาหารเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย เพราะผู้บริโภคสามารถนำข้อมูลบนฉลากมาพิจารณาเพื่อเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะกับสุขภาพของตนเอง และหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

การอ่านฉลากโภชนาการก่อนเลือกซื้ออาหารเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย เพราะผู้บริโภคสามารถนำข้อมูลบนฉลากมาพิจารณาเพื่อเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะกับสุขภาพของตนเอง และหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

คนทั่วไปอาจคิดว่าฉลากโภชนาการนั้นเข้าใจยาก แต่แท้จริงแล้วการอ่านฉลากโภชนาการสามารถทำได้ง่ายๆ หากเข้าใจความหมายของคำต่อไปนี้

  • หนึ่งหน่วยบริโภค คือปริมาณอาหารที่ผู้ผลิตแนะนำให้ผู้บริโภครับประทาน "ต่อ 1 ครั้ง" โดยคำนวณจากค่าเฉลี่ยของคนไทยว่าหากรับประทานอาหารในปริมาณเท่านี้จะได้รับสารอาหารตามที่กำหนดไว้บนฉลาก ซึ่งแสดงให้เห็นทั้งปริมาณที่เป็นหน่วยครัวเรือนอย่างกระป๋องหรือแก้ว และปริมาณที่เป็นมาตรฐานสากลอย่างกรัมหรือมิลลิลิตร ผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักจึงไม่ควรรับประทานอาหารเกินกว่าปริมาณดังกล่าว
  • จำนวนหน่วยบริโภคต่อภาชนะบรรจุ คือจำนวนครั้งในการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มนั้นๆ จนหมด เมื่อรับประทานครั้งละหนึ่งหน่วยบริโภค เช่น หากชาผงสำเร็จรูปบรรจุขวดมีปริมาณ 85 กรัม แล้วหนึ่งหน่วยบริโภคเท่ากับ 1 ช้อนชา หรือ 0.7 กรัม จำนวนครั้งที่รับประทานได้จะเป็น 121 ครั้ง เป็นต้น
  • คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค คือปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ผู้บริโภคได้รับเมื่อรับประทานอาหารชนิดนั้น 1 หน่วยบริโภค โดยปริมาณดังกล่าวคิดเป็นร้อยละของปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
  • ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน คือปริมาณสารอาหารในหนึ่งหน่วยบริโภคที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวัน ซึ่งคำนวณจากพลังงานที่คนไทยโดยเฉลี่ยควรได้รับต่อวันหรือ 2,000 กิโลแคลอรี่นั่นเอง เช่น หากซีอิ๊วขาวให้ไอโอดีน 15 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน เมื่อผู้บริโภครับประทานซีอิ๊วขาวในปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคจะได้รับไอโอดีน 15 เปอร์เซ็นต์ และจำเป็นต้องได้รับไอโอดีนจากอาหารชนิดอื่นอีก 85 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สารอาหารจำพวกโปรตีนและน้ำตาลจะไม่แสดงปริมาณในรูปแบบเปอร์เซ็นต์ เพราะร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวันของน้ำตาลเป็นส่วนหนึ่งของปริมาณที่แนะนำต่อวันของคาร์โบไฮเดรตอยู่แล้ว ส่วนโปรตีนนั้นมีหลายชนิดและมีคุณภาพแตกต่างกัน การแสดงปริมาณเป็นเปอร์เซ็นต์อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้ ส่วนวิตามินและเกลือแร่ ส่วนใหญ่จะแสดงปริมาณในรูปแบบเปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะร่างกายของคนเราต้องการวิตามินและเกลือแร่ในปริมาณน้อย การแสดงปริมาณจริงอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนได้

4 เรื่องควรรู้บนฉลากโภชนาการ อ่านก่อนเลือกซื้อ!!

นอกจากนี้ข้อมูลโภชนาการยังถูกแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

  1. ฉลากโภชนาการเต็มรูปแบบ เป็นฉลากแสดงชนิดและปริมาณสารอาหารสำคัญที่คนทั่วไปควรรู้ 15 รายการ ได้แก่ พลังงานทั้งหมด พลังงานจากไขมัน ไขมันทั้งหมด ไขมันอิ่มตัว คอเลสเตอรอล โปรตีน คาร์โบไฮเดรตทั้งหมด ใยอาหาร น้ำตาล โซเดียม วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 แคลเซียม และธาตุเหล็ก ส่วนใหญ่มักมีลักษณะเป็นชุดข้อมูลแนวตั้ง แต่หากบรรจุภัณฑ์นั้นมีความสูงจำกัดก็สามารถแสดงฉลากโภชนาการเต็มรูปแบบในแนวนอนตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณะสุขกำหนดไว้ได้เช่นกัน
  2. ฉลากโภชนาการแบบย่อ ใช้กรณีที่มีสารอาหารในอาหารหรือเครื่องดื่มเป็นปริมาณน้อยมากจนถือว่าเป็นศูนย์ตั้งแต่ 8 รายการขึ้นไปจากที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ 15 รายการ จึงไม่มีความจำเป็นต้องแสดงฉลากเต็มรูปแบบ

 

 

 

ภาพ : Freepik