posttoday

Do & Don’t การเรียกเงินเดือนแบบมืออาชีพ

18 เมษายน 2562

"เรียกเงินเดือนเท่าไหร่ดี" ปัญหาและเรื่องท้าทายของคนที่กำลังยื่นใบสมัครงาน

"เรียกเงินเดือนเท่าไหร่ดี" ปัญหาและเรื่องท้าทายของคนที่กำลังยื่นใบสมัครงาน ส่วนหนึ่งคือการเติมตัวเลขในช่องว่างที่ให้ระบุเงินเดือน เพราะการเรียกเงินเดือนที่มากหรือน้อยเกินไป อาจทำให้ผู้สัมภาษณ์งานข้องใจในความสามารถของผู้สมัครงาน โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ แล้วจะต้องเรียกเงินเดือนอย่างไร วันนี้เรามีเทคนิคดีๆ มาให้ดูกัน

Do & Don’t การเรียกเงินเดือนแบบมืออาชีพ

Do

  • ประเมินเรตที่เหมาะสม โดยทำการบ้านหาข้อมูลเกี่ยวกับอัตราเงินเดือนในตำแหน่งงานที่เราสมัครเพื่อใช้อ้างอิง ทั้งจากเว็บไซต์หางาน สอบถามผู้มีประสบการณ์ตรง หรือสำรวจจากความสามารถจ่ายเงินเดือนขององค์กร ซึ่งส่วนใหญ่องค์กรต่างๆ ก็จะมีงบประมาณเงินเดือนของแต่ละตำแหน่งกำหนดไว้อยู่แล้ว
  • สำรวจตัวเอง ทั้งความสามารถ ประสบการณ์ และทักษะในการทำงานของตัวเอง รวมถึงความสามารถในการแข่งขันกับคนอื่นๆ ในตลาดงาน ลองดูว่าเรามีข้อดีอะไร หรือมีทักษะใดที่เหนือกว่าคนอื่นหรือไม่ ทั้งวุฒิการศึกษา ผลงานที่ผ่านมา การฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสายงาน หรือการทดสอบความรู้ แน่นอนว่าเจ้านายใหม่ต้องยินดีที่จะได้คนเก่ง มีศักยภาพมาร่วมงานด้วย
  • คำนึงถึงประโยชน์ที่บริษัทจะได้ การตอบคำถามเกี่ยวกับจุดแข็งและความสำเร็จเป็นการนำเสนอคุณค่าในตัวเอง ควรเน้นให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าเราจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่บริษัทได้อย่างไร เมื่อนายจ้างเห็นคุณค่าในตัวเราเขาจะยอมจ่ายในอัตราสูงสุดที่เขาสามารถจ่ายได้

Do & Don’t การเรียกเงินเดือนแบบมืออาชีพ

Don’t

  • ไม่ข้ามขั้นตอน อย่าเพิ่งพูดเรื่องเงินเดือนถ้าผู้สัมภาษณ์ยังไม่ถาม เพราะนายจ้างอาจมองว่าเราให้ความสำคัญเรื่องเงินมากกว่าเนื้องาน
  • ไม่อัพเงินเดือนแบบก้าวกระโดด โดยระบุเงินเดือนที่ทำงานเก่าสูงๆ เพื่อเรียกเงินเดือนที่ใหม่ให้สูงขึ้นอีก เพราะ HR สามารถเรียกดูสลิปเงินเดือน หรือตรวจสอบไปยังที่ทำงานเก่า ซึ่งจะพบความจริงได้ไม่ยาก
  • อย่าเจรจาเอาเป็นเอาตาย ไม่ควรเจรจาต่อรองเงินเดือนที่ต้องการได้ในทันทีพร้อมเร่งคำตอบ อาจตกลงกับนายจ้างว่ายอมรับเงินเดือนตามที่นายจ้างเสนอมาก่อน และเมื่อผ่านโปรผลงานเป็นที่น่าพึงพอใจ จึงขอปรับเงินเดือนในภายหลัง ตามเกณฑ์บริษัท หรือวัดจากความสามารถ
  • อย่าดูแค่เงินเดือน ให้ดูรวมไปถึงค่าตอบแทน สวัสดิการ ตำแหน่งงาน และบรรยากาศในการทำงานด้วย เพราะสุดท้ายแล้ว แม้เรื่องเงินเป็นเรื่องใหญ่แต่ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในการทำงาน เนื้องานที่ชอบ บรรยากาศในการทำงาน เพื่อนร่วมงานและนายจ้างที่ดีต่างหาก ที่จะทำให้ทำงานอย่างมีความสุข