posttoday

เทคนิคต้องรู้ ก่อนจะเป็นฟรีแลนซ์ดาวรุ่งกระเป๋าตุง

18 เมษายน 2562

ฟรีแลนซ์เอาอยู่ ถ้ารู้จักบริหารเวลา พบกับข้อแนะนำสำหรับฟรีแลนซ์มือใหม่ในการบริหารเวลา งานมา เงินมา เวลาลงตัว

ภาพ : freepik.com

ฟรีแลนซ์เอาอยู่ ถ้ารู้จักบริหารเวลา พบกับข้อแนะนำสำหรับฟรีแลนซ์มือใหม่ในการบริหารเวลา งานมา เงินมา เวลาลงตัว

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป "ฟรีแลนซ์" งานที่ในอดีตไม่มีใครใฝ่ฝัน แต่ปัจจุบันคนทำงานประจำหลายคนเริ่มผันตัวไปเป็นคนทำงานฟรีแลนซ์กันมากขึ้น รวมถึงนักศึกษาจบใหม่ที่ต่างก็หันมาสนใจในอาชีพประเภทนี้ เพราะอะไร?

อยากให้ลองหลับตานึกภาพการทำงานท่ามกลางบรรยากาศเหล่านี้

  • เริ่มต้นวันทำงานในชุดนอน หรือเสื้อยืดสบายๆ พร้อมโน้ตบุ๊คบนโต๊ะข้างเตียง
  • เปิดเพลงคลอเบาๆ ตลอดการทำงาน เพื่อความคิดที่โลดแล่น พร้อมกาแฟแก้วโปรดแก้วเซรามิกสีสวย
  • ระหว่างวันมีเวลาว่างไปดูหนังช่วงเวลาลดราคา แล้วกลับมาทำงานต่อ
  • เครียดหน่อยก็พักเล่นเกมระหว่างวัน 
  • หิวตอนไหนก็กินตอนนั้น ง่วงนักก็งีบพักสักหน่อย
  • วันหยุดไม่ตายตัว อยากเที่ยวก็ไปได้ครั้งละหลายวัน  ... ส่วนรายได้นั้น ยังไม่กล้าการันตี

เรื่องของการทำงานแบบฟรีแลนซ์ จากผลการวิจัยของบริษัทที่ปรึกษา Edelman Intelligence พบว่า ชาวฟรีแลนซ์ในสหรัฐเติบโตเร็วกว่าตลาดแรงงานทั้งหมดของประเทศ โดยในปี 2017 มีชาวอเมริกันถึง 57.3 ล้านคน ที่ระบุว่าตัวเองทำงานอิสระ ผลวิจัยดังกล่าวยังพยากรณ์อีกว่า ภายในปี 2027 แรงงานส่วนใหญ่ของสหรัฐจะเป็นชาวฟรีแลนซ์ และไม่ใช่เฉพาะแค่ในสหรัฐเท่านั้นที่ตัวเลขมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากข้อมูลของที่ประชุมเศรษฐกิจโลก (WEF) ล่าสุดระบุว่า มีพลเมืองสหภาพยุโรป 16.1% อยู่ในสถานะคนทำงานอิสระ รวมทั้งคนรุ่นใหม่ในบ้านเราที่ต้องการเป็นนายตัวเองกันมากขึ้น

แต่ถึงอย่างไรการทำงานฟรีแลนซ์อาจจะไม่ใช่อย่างที่หลายคนวาดภาพไว้ สำหรับคนทำงานอิสระ "เวลาก็คือเงิน" ด้วยเหตุนี้สิ่งสำคัญอันดับแรกที่ชาวฟรีแลนซ์ต้องวางแผนจัดการให้ดีก็คือ "การบริหารเวลา" เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดโดยใช้เวลาน้อยที่สุด

 

ข้อแนะนำสำหรับฟรีแลนซ์มือใหม่ในการบริหารเวลา

เทคนิคต้องรู้ ก่อนจะเป็นฟรีแลนซ์ดาวรุ่งกระเป๋าตุง

  • จัดตาราง การทำงานอิสระมักมีตารางเวลาที่ยืดหยุ่น และสิ่งที่ชาวฟรีแลนซ์มือใหม่มักจะทำพลาดก็คือ ใช้ประโยชน์ของความยืดหยุ่นนี้เป็นข้ออ้างในการผัดวันประกันพรุ่ง ดังนั้น เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม ก็ควรจัดสรรตารางเวลาแล้วยึดตามนั้น เจน ฮับลีย์ ลัควาล์ดท์ บรรณาธิการและนักเขียนด้านอาชีพการงาน แนะนำให้วางแผนทำงานเป็นเวลาเฉพาะเจาะจงที่ตรงกับช่วงเวลาการทำงานของลูกค้า เพื่อให้ไม่พลาดการติดต่อและง่ายต่อการวางมือเพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิต และให้แบ่งงาน 1 ชิ้นออกเป็นส่วนเล็กๆ แล้วสอดแทรกด้วยเวลาพักราว 10-15 นาที เช่น การแปลหนังสือหนึ่งเล่มก็ให้แบ่งเป็นสเต็ปละ 1 บท หรือ 5 หน้า เป็นการค่อยขยับเข้าใกล้เป้าหมายทีละขั้น จะได้ไม่ดูเป็นงานที่ไม่มีวันเสร็จ
  • หาวันหยุด วันหยุดไม่ได้มีไว้เพื่อเล่นเกมหรือหาความสนุกเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการจัดความสมดุลระหว่างงานและชีวิต การพักผ่อนและชาร์จแบตให้กับตัวเองยังถือเป็นการเปิดหูเปิดตา สร้างแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้ต่อยอดการทำงานได้อีกด้วย
  • จดบันทึกการทำงาน ฟรีแลนซ์มือใหม่อาจจะรู้สึกว่าตัวเองก็ทำงานตลอดแต่ทำไมงานไม่คืบหน้าเลย ลัควาล์ดท์ แนะนำให้เขียนไดอะรี่เวลา ซึ่งอาจจะกำหนดเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ แล้วเขียนว่าในแต่ละวันเราทำอะไรบ้าง ทำตั้งแต่เมื่อไรถึงเมื่อไร พอครบกำหนดเราจะเห็นภาพรวมว่าแท้จริงแล้วเราเสียเวลาไปกับกิจกรรมใดบ้าง
  • รู้จักปฏิเสธ อีกหนึ่งทักษะที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การขีดเส้นแบ่ง อย่ากลัวการปฏิเสธงานที่เราไม่มีเวลาทำหรือไม่อยากทำ อย่าลังเลที่จะต่อรองเวลาหรือค่าตอบแทน ถ้าเราสมควรได้รับ
  • ตัดสิ่งรบกวน ความท้าทายของการทำงานที่บ้านก็คือ การกำจัดสิ่งรบกวนต่างๆ ที่จะมาแย่งเวลาและสมาธิในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความยั่วยวนจากเสียงเตือนในโซเชียลมีเดีย หรือการทำงานบ้านบางอย่าง หรือแม้แต่สมาชิกคนอื่นในบ้านก็อาจทำเราเสียสมาธิได้เช่นกัน การรับมือกับเรื่องเหล่านี้อาจทำได้ง่ายๆ  เช่น ปิดการแจ้งเตือน ยกเว้นว่าเราต้องติดต่อกับลูกค้าผ่านโซเชียลมีเดีย หามุมทำงานที่ช่วยให้มีสมาธิ ซึ่งขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน เช่น มุมเงียบๆ ในบ้าน หรือคาฟ่สวยๆ