posttoday

มุขพล จันทรวงศ์ ผู้รังสรรค์ The Colors of Siam

30 มีนาคม 2562

เสียงเพลง The Colors of Siam บนเวทีประกวดรอบพรีลิมมินารี่

เสียงเพลง The Colors of Siam บนเวทีประกวดรอบพรีลิมมินารี่ รอบเนชั่นแนล คอสตูม และงานไทยไนท์ ของการจัดการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 เมื่อปีที่แล้วที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ยังตราตรึงทั้งคนไทยและผู้คนทั่วโลก เพราะเป็นบทเพลงประกอบที่ไพเราะลึกซึ้งกินใจ สอดแทรกความเป็นไทยฝีมือการสร้างสรรค์บทเพลงโดยโปรดิวเซอร์เลือดใหม่มากฝีมือ “ดอดจ์” มุขพล จันทรวงศ์เอ็กเซ็กคิวทีฟ โปรดิวเซอร์มาดูแลด้านการประพันธ์เพลงธีมหลักในเวอร์ชั่นของคนไทย

ด้วยความชื่นชอบด้านดนตรีทำให้มุขพลชอบฟังเพลงที่หลากหลายตั้งแต่เด็กๆหล่อหลอมให้เขาเป็นหนึ่ง นักสร้างสรรค์บทเพลงทั้งท่วงทำนองและเนื้อร้องได้น่าจับตามองของวงการเพลงบ้านเรา สู่บทบาทของการเป็นโปรดิวเซอร์ และมิวสิคไดเรกเตอร์ในงานคอนเสิร์ตระดับประเทศ

ในวัยเพียง 34 ปี แต่สามารถก้าวขึ้นสู่ระดับมันสมอง ถือว่ามุขพลก้าวหน้าในการงานเร็วกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน ด้วยเหตุผลข้อเดียวคือ เขาทุ่มเททำงานเพลงด้วยใจรักและทุ่มลงมือลงแรงทำทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะก้าวขึ้นมายืนที่จุดนี้

“ตอนเด็กๆ พ่อผมส่งไปเรียนเปียโน พ่อให้เรียนก็เรียน เมื่อได้เล่นกีตาร์ก็เริ่มลงแข่งประกวด พอผมชนะพ่อแม่ผมดีใจ ผมเลยเสพติดแววตาดีใจของพ่อแม่ที่ทำให้เขามีความสุขได้ นี่คือจุดเริ่มต้นของความชอบดนตรี ผมจึงผลักดันตัวเองเรื่อยๆจนกลายเป็นชอบจริงๆ คืออยากให้พ่อแม่มีความสุข”

มุขพล จันทรวงศ์ ผู้รังสรรค์ The Colors of Siam

แรงบันดาลใจของการแต่งเพลง เดอะ คัลเลอร์ ออฟ สยาม หรือสีสันแห่งอัญมณี ที่แฟนนางงามทั่วโลกต่างชื่นชม มุขพลบอกว่าได้มาจากจินตนาการความงดงามของอัญมณีไทย

“เพลงของเวทีมิสยูนิเวิร์สที่จัดในไทย ภาพรวมเราต้องการเพลงที่มีความเป็นสากล ทันสมัย แต่สอดแทรกวัฒนธรรมไทยและความเป็นสากลลงไป เพื่อให้ทั่วโลกเปิดใจรับเพราะรู้สึกคุ้นเคย แต่เราสอดแทรกเอกลักษณ์ของเราลงไปเป็นไทยโมเดิร์นผมพยายามดีไซน์เครื่องดนตรี ผมใช้ทั้งเครื่องดนตรีไทยและสากล และใช้ในสัดส่วนที่สอดแทรกเครื่องดนตรีไทยลงไปนิดหนึ่ง

ภาษาเพลงเรียกว่า โมทีฟ คือ เป็นชุดของกลุ่มโน้ต ผมดีไซน์ใส่ความเป็นไทยเข้าไป และมีการสลับกันระหว่างเครื่องดนตรีไทย ได้แก่ ระนาด ฉิ่ง แส่ง ก็คือเพอร์คัสชั่นของไทย และกลองเปิงมาง มีเสียงขับเสภาด้วยขณะเดียวกันเราใช้เครื่องดนตรีฝรั่งลงไป มีเสียงคณะประสานเสียงฝรั่งล้อกันไปในเพลง

ส่วนเครื่องดนตรีสากลผมใช้เสียงเครื่องทองเหลืองอย่าง Brass และ Horn ใส่เข้าไป ผมประพันธ์โดยใช้ Pentatonic Scale จะมีบีตสนุกสนานโดยผมทำเป็น 2 เวอร์ชั่นคือ ธีม ซองออริจินัล ใช้ในงานไทยไนท์จะออกแนวแกรนด์ แสดงความยิ่งใหญ่และสง่างาม ส่วนรอบชุดประจำชาติและรอบพรีลิมฯ ผมใช้เวอร์ชั่น ปาร์ตี้ เช่น ตอนเดินชุดว่ายน้ำเพื่อกระตุ้นให้คนดูรู้สึกสนุกสนานตื่นตาตื่นใจ”

มุขพล จันทรวงศ์ ผู้รังสรรค์ The Colors of Siam

เพลงเมนธีม ให้ความรู้สึกทรงพลังซึ่งก็ทำให้คนฟังรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ

“เพลงเมนธีม ผมต้องการเพลงที่ทรงพลัง เวลาคิดงานผมคิดภาพสุดท้ายก่อน ผมคิดถึงภาพป่าหิมพานต์ระยิบระยับ มีพลัง ลึกลับ มีสีสันสวยงามในจินตนาการ ใบไม้คริสตัลแนวคิดนี้สำคัญในการทำเพลงมาก ยิ่งภาพเราชัดเท่าไร เสียงก็ยิ่งชัด

เวลาคนฟังจะจินตนาการและรู้สึกกับเพลงได้ ผมใส่ท่อนที่มีเหมือนนกยูงรำแพนหาง ใส่ความรู้สึกลงไปขนาดนั้นทุกท่วงทำนอง ทุกเสียง หรือซาวด์ดีไซน์เช่นเราเล่นโน้ตเดียว แต่เราจะใส่เสียงอะไรเล่น

ความยากของการทำเพลง สีสันแห่งอัญมณีคือ ความผสมอัตลักษณ์ไทย ซึ่งมีเยอะมาก หากใส่มากเกินไปจะดูน่ากลัวเช่น ไปเจอวัฒนธรรมคนป่า เราจะทำอย่างไรให้คนไม่กลัวและเปิดรับมัน ถือว่ายากที่สุดเลย บางครั้งโปรดิวเซอร์จะคล้ายนักวิทยาศาสตร์หรือเชฟที่ปรุงอาหาร ซึ่งมันไม่ใช่แค่คิดทีเดียวแล้วออกมา ต้องลองใส่เครื่องปรุงลงไป

มุขพล จันทรวงศ์ ผู้รังสรรค์ The Colors of Siam

แล้วเรารู้ได้อย่างไรว่าพอดี คือตัวเราที่จะบอกเราว่า อันนี้อร่อย พอดีแล้ว เพลงต้องให้ความรู้สึกเวลคัม ต้อนรับสู่เมืองไทย เพลงความยาว 4.25 นาที เปิดทั้งหมดในรอบพรีลิมฯ เดินโชว์ในชุดราตรี โดยต่างชาติเป็นคนขอมาทางทีพีเอ็นให้ทางทีมไทยทำเพลงให้ในรอบพรีลิมฯ ซึ่งทำให้ผมรู้สึกดีใจมาก รู้สึกเป็นเกียรติ ถือเป็นอีกหนึ่งชิ้นงานที่รู้สึกภูมิใจ แม้ไม่ได้แพร่หลาย แต่ได้รับการยอมรับ เพราะเพลงบรรเลงเข้าใจยากกว่าเพลงร้อง แต่เพลงสีสันอัญมณีเป็นเพลงบรรเลงที่ได้รับการยอมรับ

ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ทางทีพีเอ็นวางใจเชื่อใจให้ทำงานใหญ่ระดับโลก ความรู้สึกอย่างแรกดีใจ ตื้นตันใจ ที่ดีใจกว่านั้นคือดนตรีเป็นภาษาสากล แล้วคนที่เขาสัมผัสได้ในสิ่งที่เราต้องการสื่อได้ โดยที่เราไม่ต้องพูดภาษาอะไรสักคำเดียว ซึ่งผมดีใจ

เพลงนี้อยากให้คนฟังรู้สึกฮึกเหิมยิ่งใหญ่ มีความสง่างามในตัว นางงามถึงกับร้องไห้ ผมตั้งใจมากกับเพลงนี้ เพราะมันจะต้องลงรายละเอียดเยอะมาก มันไม่มีเสียงร้อง ต้องสื่อสารผ่านตัวโน้ตทั้งหมดซึ่งเป็นภาษาสากล”

สำหรับชื่อเพลงนั้น มุขพลรู้สึกว่าไอเดียของ จิรายุ จันทรวงศ์ ที่เคยคิดให้ชื่อ เดอะ คัลเลอร์ ออฟ สยาม ได้เหมาะสมที่สุด

มุขพล จันทรวงศ์ ผู้รังสรรค์ The Colors of Siam

“ผมต้องขอบคุณพี่ๆ คนจัดงานที่เขาเชื่อใจผมมาก ที่เพลงออกมาแบบนี้ได้เพราะพี่ๆ เชื่อใจ เขาให้ผมได้แสดงความสามารถ สิ่งที่ผมคิดในหัวอย่างเต็มที่ ไม่มีการตีกรอบ ให้อิสระทางความคิดได้สร้างสรรค์ผลงานได้เต็มที่ ทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัว และที่สำคัญต้องขอบคุณคุณครู ผู้ใหญ่ทุกคนที่ทำให้ผมมีวันนี้ และประสบความสำเร็จจนถึงวันนี้ครับ”