posttoday

1,000 วันแรกของชีวิต พิมพ์เขียวสร้างมนุษยชาติ

26 มีนาคม 2562

งานวิจัยวิทยาศาสตร์ด้านสมองมากมายได้พิสูจน์ว่าระยะเวลา 1,000 วันแรกตั้งแต่ลูกอยู่ในครรภ์จนกระทั่งคลอดออกมาถึง 2 ปี

เรื่อง วรธาร ทัดแก้ว ภาพ เอเอฟพี

งานวิจัยวิทยาศาสตร์ด้านสมองมากมายได้พิสูจน์ว่าระยะเวลา 1,000 วันแรกตั้งแต่ลูกอยู่ในครรภ์จนกระทั่งคลอดออกมาถึง 2 ปี คือโอกาสทองในการพัฒนาโครงสร้างสมองของเด็ก โดยโภชนาการที่ดี การปกป้องดูแล การเล่น และความรักความอบอุ่นในช่วงปฐมวัยจะช่วยสร้างการเชื่อมโยงของเซลล์สมองของเด็กซึ่งจะส่งผลต่อทักษะต่างๆ ด้านการเรียนรู้ การจัดการกับความเครียด และการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม ตลอดจนผลกระทบด้านสุขภาพและความสุขในระยะยาว

แม้ประเทศไทยการพัฒนาเด็กปฐมวัยจะรุดหน้าไปมาก แต่ยังมีเด็กอีกจำนวนไม่น้อยไม่ได้รับการดูแลที่จำเป็น ผลสำรวจสถานการณ์เด็กในประเทศไทยปี 2558-2559 ที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ด้วยการสนับสนุนของยูนิเซฟ พบว่าเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ขวบ ราว 2.3 แสนคน ต้องเผชิญกับภาวะเตี้ยแคระแกร็น ขณะทารกแรกเกิดทุกๆ 1 ใน 10 คน มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาวะโภชนาการของแม่ระหว่างตั้งครรภ์

หลายหน่วยงานจึงได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ อย่างเช่น องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ก็ได้ร่วมกับบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล ทำโครงการ Central-UNICEF Together For Every Child ซึ่งได้จัดมา 2 ปีแล้ว ปีนี้เป็นปีที่ 3 พร้อมจัดงานเอ็กซ์โปภายใต้ธีม Eat Play Love มหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิตที่เซ็นทรัลลาดพร้าว เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อเชิญชวนคนไทยให้ตระหนักถึงการพัฒนาเด็กอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะในช่วง 1,000 วันแรกตั้งแต่ตั้งครรภ์ กระทั่งคลอดไปจนกระทั่งถึง 2 ปี

1,000 วันแรกมากด้วยความมหัศจรรย์

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้แบ่ง 1,000 วันแรกออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงครรภ์มารดาประมาณ 270 วัน หลังคลอดแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือแรกเกิดจนถึง 6 เดือน (180 วัน) และช่วง 6 เดือนไปถึง 2 ปี หรือ 550 วัน พร้อมทั้งกล่าวว่า แต่ละช่วงมีความสำคัญอย่างมาก โดยช่วงครรภ์มารดาหัวใจสำคัญคือการพัฒนาเซลล์สมอง โดยเฉพาะเซลล์สมองส่วนคิดชั้นสูง เรื่องโภชนาการหรือสภาพแวดล้อมที่แม่อาศัยอยู่จะทำให้เกิดกระบวนการในการพัฒนาลูกน้อย

“ช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอดเป็นจังหวะที่เปลี่ยนผ่าน ก่อนนี้ลูกอยู่ในครรภ์เป็นระบบนิเวศได้รับการคุ้มครองและได้รับการพัฒนาการทุกอย่างผ่านอ้อมอก สายรกและสายใยรักของแม่เต็มเปี่ยม แต่พอคลอดออกมาโลกใบนี้เป็นระบบนิเวศอันใหม่ของลูก กว่าที่เขาจะรู้ตัวเอง นี่ฉัน นั่นแม่ แยกแยะตัวเองได้นั้นช่วง 6 เดือนแรกเป็นช่วงที่ไวต่อประสาทรับรู้ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่พัฒนาการมาตั้งแต่ในครรภ์มารดา รวมไปถึงพัฒนาการสมองก็จะเจริญเติบโตควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตด้านร่างกาย

พอ 6 เดือนถึง 2 ปี หัวใจสำคัญคือการบูรณาการประสาทสัมผัสทั้งหมด คือ ตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ แม้ในอนาคตโลกดิจิทัลจะก้าวมาทั้งหมด รวมเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งโลกเข้ามาร่วมกัน จำนวนคอมพิวเตอร์หรือโฟลเดอร์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในคอมพิวเตอร์อาจมากกว่าเซลล์สมองมนุษย์ที่เกิดขึ้นก็ตาม แต่หัวใจสำคัญของบูรณาการประสาทสัมผัสที่เรียกว่าไซแนปส์ (Synapse) คือ การเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทต่างๆ ในสมองมนุษย์นั้นอลังการมาก

ต้องใช้คำว่ามหัศจรรย์จริงๆ ที่ทั้งคอมพิวเตอร์ทั้งโลกไม่สามารถลอกแบบหรือสร้างการเชื่อมโยงบูรณาการประสาทสัมผัสต่างๆ เหล่านี้ได้ ดังนั้นหัวใจสำคัญคือพ่อแม่จะกระตุ้นอย่างไรให้เกิดบูรณาการประสาทสัมผัสตั้งแต่ขณะตั้งครรภ์ต่อเนื่องมาที่ 6 เดือน และ 6 เดือนมาถึง 2 ปีนั้น หมอแทบจะใช้คำว่านี่คือกระบวนการในการสร้างแบบพิมพ์เขียวของมนุษยชาติ หรือบลูพรินต์ของฮิวแมนนิตี้” นพ.สุริยเดว กล่าว

เคล็ดลับดูแลลูกช่วง 1,000 วันแรก

พญ.ชมพูนุท โตโพธิ์ไทย แพทย์ชำนาญการ สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การที่เด็กจะเติบโตขึ้นได้อย่างมีคุณภาพ สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีพ่อแม่ที่ดูแลใส่ใจและการเติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมเหมาะสม พ่อแม่ต้องให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของเด็กอย่างจริงจังโดยเฉพาะในช่วง 1,000 วันแรกของชีวิตที่เปรียบเสมือนเข็มทิศกำหนดชีวิตในอนาคตของเด็กหากผ่านช่วงนี้ไปแล้ว เราจะย้อนกลับมาแก้ไขไม่ได้อีก

“ช่วง 1000 วันแรกไม่ได้สำคัญในหน่วยปี แต่สำคัญในหน่วยนาทีหรือวินาที ยกตัวอย่างเวลาที่เราอายุสัก 30 ปี พอผ่านไป 5 - 35 ปี มานั่งนึกชีวิต 5 ปีมีอะไรเปลี่ยน รู้สึกว่าเปลี่ยนแปลงน้อย แต่ถ้าดูเด็กน้อยใน 1000 วันแรกความเปลี่ยนแปลงทั้งในสมอง ร่างกาย ทั้งในจิตใจ เปลี่ยนในระดับวินาที เร็วมาก ถ้าคุณแม่พลาดวินาทีนี้หรือพลาดวันนี้เท่ากับคุณแม่ได้พลาดโอกาสบางอย่างที่จะดูแลลูก ฉะนั้นต้องใส่ใจให้ความดูแลอย่างเต็มที่

อีกประเด็นหนึ่ง ช่วง 1,000 วันแรกเป็นช่วงเวลาที่เมื่อผ่านไปแล้วไม่ว่าจะใช้เวลาของชีวิตหลังจากนี้ช่วงไหนย้อนกลับมาทำสิ่งที่ควรทำใน 1,000 วันแรกจะทำไม่ได้ มีคนพูดว่าเดี๋ยวนะแม่ไปหาเงินก่อน แม่ยังไม่มีเงิน ต้องไปทำงานมีเงิน 10 ล้านจะกลับมากอดหนู จริงๆ แล้วต้องบอกว่า แม้จะมีร้อยล้านก็กลับมากอดลูกไม่ได้ด้วยความรู้สึกเดียวกันที่ลูกต้องการเราตอน 1-2 ขวบ”

พญ.ชมพูนุท แนะนำวิธีการเลี้ยงลูกว่า อยากให้พ่อแม่ให้ความสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.อีต (Eat) การกิน แม่ที่ตั้งครรภ์ต้องได้รับโภชนาการที่เหมาะสมและเพียงพอ ตลอดจนการให้ทารกได้กินนมแม่หลังคลอด 2.เพลย์ (Play) การเล่นและการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึง 2 ขวบ จะช่วยสร้างเสริมการทำงานของประสาทรับรู้ของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และทำให้เด็กสามารถปรับตัวกับการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต 3.เลิฟ (Love) การให้ความรัก โดยเฉพาะการที่พ่อและคนรอบข้างขณะคุณแม่ตั้งครรภ์จะช่วยลดความเครียดของแม่ ช่วยให้จิตใจของแม่เบิกบาน มีความสุขและส่งความสุขนั้นต่อไปให้กับลูกในท้องได้ นอกจากนี้ การที่ลูกอยู่ท่ามกลางบรรยากาศความรัก ความเอาใจใส่ จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้แก่ตัวเด็กได้

ด้าน รศ.นพ.สุริยเดว แนะนำว่า หัวใจสำคัญสำหรับพ่อแม่หรือผู้ที่ดูแลเด็กคือการให้ความรักอบอุ่นและไว้วางใจ เมื่อไรที่การปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัวและสถานที่ที่เราดูแลนั้นสร้างความรักและความไว้วางใจขึ้นมาได้ก็จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กมองโลกในแง่บวก ถัดจากนั้นคือการสื่อสารที่ดีต่อกันด้วยปิยวาจาและฟังเสียงเขาด้วย รวมทั้งสามารถฝึกวินัยลูกเล็กๆ ได้ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องฝึกในทางสร้างสรรค์ เช่น รู้จักรอคอย รู้จักในการจัดการตัวเองได้บ้างในบางเรื่อง ในอีกมุมหนึ่งผู้ใหญ่ที่ดูแลลูกทุกคนอยู่นั้นต้องจัดการกับอารมณ์ของตนเองและสามารถอยู่ในสภาวการณ์ที่เรียกว่าพร้อมทั้งกายใจที่จะช่วยกันและกันในการดูแลลูกทุกคนได้

“เคล็ดลับสุดท้ายคือการยอมรับความสามารถที่หลากหลาย เพราะพื้นฐานอารมณ์เด็กไม่เหมือนกัน เด็กบางคนคลอดออกมาแล้วอาจกลายเป็นคนเลี้ยงง่าย เข้าใจเข้าถึงสังคมต่างๆ ได้ง่าย บางคนอ่อนไหวมาก บางคนอาจคล่องแคล่วพลังเยอะว่องไว ฉะนั้นจงหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบซึ่งกันและกันจะทำให้ลูกๆ ทุกคนอยู่กันอย่างมีความสุข”

ขณะที่ เอ้ก-บุษกร หงษ์มานพ กล่าวแชร์ประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกว่า ตอนนี้ลูกชาย (น้องดิน) อายุขวบกว่าเป็นเด็กที่ช่างจำและทำตาม ทำให้เธอและสามี ตลอดจนคนที่อยู่รอบข้างต้องระมัดระวังในการใช้ชีวิตมากขึ้นทั้งคำพูดและการกระทำ ดังนั้นสิ่งที่ไม่ดีจะไม่ทำให้เห็น เพราะครั้งหนึ่งเคยทำแล้วเขาทำตาม

“เวลาพูดกับเขาก็จะพูดจาสุภาพอ่อนโยน สอนเขาด้วยเรื่องง่ายๆ และทำเป็นตัวอย่าง เช่น เก็บหนังสือ เก็บของเล่นเข้าที่เขาก็ทำตามเรา หลังๆ เวลาเขาเล่นหนังสือเสร็จก็เอาไปเก็บที่เดิม การเลี้ยงดูจะเน้นให้มีความสุขถ้าสิ่งที่ทำนั้นไม่ได้เบียดเบียนคนอื่น จะสอนให้เป็นเด็กน่ารักและส่งต่อความรักให้กับทุกคน” เอ้ก บุษกร กล่าว

ด้านว่าที่คุณแม่ มาร์กี้ ราศรี บาเล็นซิเอก้า จิราธิวัฒน์ เปิดเผยว่า ตอนนี้อุ้มท้องฝาแฝดประมาณ 8 เดือน รู้สึกตื่นเต้นตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่ามีน้อง ลุ้นทุกครั้งที่ไปหาหมอ แต่ก็ทำตัวให้มีความสุขทุกวันเพื่อลูกจะได้มีความสุขด้วย

“สำหรับกี้แม้ตั้งท้องก็ยังใช้ชีวิตที่ปกติเหมือนคนทั่วไปและมีความยืดหยุ่น พยายามไม่ทำตัวเองเครียดเพราะกลัวจะส่งผลกระทบต่อลูกในท้อง แต่ก็มีเครียดบ้างนิดๆ หน่อยๆ อย่างคุณหมอให้รับประทานปลาวันละ 1 มื้อ บางทีแอบเครียดโดยไม่รู้ตัว กี้จะมีความเป๊ะในระดับหนึ่ง แต่อะไรที่อยากกินก็กินนะ เช่น ชานมไข่มุก ไม่ได้กินบ่อย พยายามดูแลตัวเอง เช่น ทำเล็บ ก็ทำ แต่จะเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับคุณแม่ ออกกำลังกายที่สามารถทำได้ จะไม่ขังตัวเองว่าต้องอยู่ในบ้านอย่างเดียว พยายามใช้ชีวิตปกติและมีความสุข” ว่าที่คุณแม่กล่าวทิ้งท้าย

1,000 วันแรกของชีวิต พิมพ์เขียวสร้างมนุษยชาติ