posttoday

ปราบต์ แสดงตัวตนอย่างมีชั้นเชิง

24 มีนาคม 2562

“ปราบต์” นามปากกาของ “ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์”

“ปราบต์” นามปากกาของ “ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์” วันนี้เขาเดินทางบนถนนสายน้ำหมึกมากว่า 15 ปี เป็นทั้งนักเขียนมือรางวัล ผลงานเรื่อง “กาหลมหรทึก” ถูกผลิตเป็นละครโทรทัศน์ และกลายเป็นนักเขียนไอดอลที่มีแฟนคลับทางโซเชียลทวิต (เตอร์) ถึงอยู่บ่อยๆ

การมีตัวตนหรือสร้างตัวตนบนพื้นที่ออนไลน์เป็นอีกสิ่งที่นักเขียนในยุคนี้ต้องมี ซึ่งปราบต์มองว่าสำคัญ “สมัยก่อนสื่อไม่ได้เข้าถึงทุกคน นักเขียนพึ่งนิตยสาร งานหนังสือ นักเขียนดังได้ต้องทำงานแมสเท่านั้น กว่าจะดังต้องทำงานหลายปี

ทุกวันนี้โซเชียลเข้าถึงทุกคนจับกลุ่มได้ว่าฉันชอบงานแบบนี้ เราสามารถเจาะเข้าไปถึงกลุ่มคนชอบงานแบบนี้ ไม่ต้องเขียนงานแมสก็ได้ บางทีสำนักพิมพ์มาติดต่อเราเพราะดูจากยอดติดตามของเราด้วย

โซเชียลกลายเป็นเครื่องมือในการโปรโมทผลงานของตัวเองโดยไม่ต้องรอสำนักพิมพ์ หรือสามารถทำหนังสือทำมือ (ผลิตเอง) ได้ ตอนนี้เรามีเพจในเฟซบุ๊ก มีทวิตเตอร์ เราสามารถโฆษณาง่ายขึ้น

นักเขียนยุคนี้จำเป็นต้องขายของ ต้องช่วยสำนักพิมพ์เขียนโปรโมทลงในพื้นที่ของเรา หรือเขียนคอลัมน์ที่กระตุ้นยอดขาย อย่างทำอินโฟกราฟฟิกป้ายหาเสียงพรรคนี้นอนไม่หลับ ก็เล่นกับกระแสโปรโมทหนังสือ ตายไม่หลับ”

“พยนต์” คือหนังสือเล่มที่ปราบต์พิมพ์เอง เพราะเนื้อหาสะท้อนเรื่องการเมือง ทำให้ไม่ผ่านสำนักพิมพ์ และเขาไม่อยากปรับแนวความคิดของเรื่อง

ปราบต์เขียนเสร็จในปี 2558 หากวันนี้เรื่องที่เขียน จวบจนกระทั่งเนื้อหาซึ่งอยู่ในยุคก่อนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชขึ้นครองราชย์ เรื่องกลับไม่ล้าสมัย ทว่าอาจอิงกับสถานการณ์การบ้านการเมืองของไทยได้อีกในอนาคตเสียด้วยซ้ำ

ปราบต์ แสดงตัวตนอย่างมีชั้นเชิง

“พูดถึงการปกครองในหมู่บ้านกะเหรี่ยง พ่อหมอมีอำนาจใหญ่สุด เผด็จการ โยงไปถึงการปกครองสมัยอยุธยาที่พยายามโค่นล่มอำนาจ

ไม่ได้พูดถึงอะไรในปัจจุบันเลย แต่มันดันสะท้อนการเมืองในปัจจุบันได้ ทำไมเราถึงไม่มีสิทธิเลือก บางอย่างผู้นำทำผิดแต่ด้วยมีอำนาจจึงกลายเป็นถูก

ผมหยิบประวัติศาสตร์ทางเลือกมาใช้ เกี่ยวกับพระนารายณ์ พระเพทราชา ตามประวัติเป็นเพื่อนสนิท แต่กบฏกันเอง ตอนหาข้อมูลอยากรู้ว่าจริงๆ เขาคิดอะไรอยู่ ทำไมเลือกทำแบบนี้ ทั้งๆ ที่พระเพทราชาสนับสนุนพระนารายณ์มาตลอด”

ตี๋เหรินเจี๋ย บทประพันธ์จีนคือตัวจุดประกายพยนต์ “เรื่องนี้อารมณ์คล้ายเปาปุ้นจิ้น สืบหาความจริงใครเป็นคนผิด มีแฟนตาซี กำลังภายใน มีประวัติศาสตร์ช่วงบูเช็กเทียน ทำไมพีเรียดของไทยไม่มีสืบสวน ก็เลยเขียน

ช่วงนั้นผมไปงานเสวนาเยอะ ก็ได้ความคิด แทรกแนวคิดนู่นนี่ได้ ตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์ด้วย ไม่ใช่แค่การเล่านิยายประวัติศาสตร์ของไทย ผมไม่ได้สะท้อนภาพคนสมัยก่อนใช้ชีวิตยังไง แต่ตั้งคำถามว่า ทำไมคนไทยอ่านประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ก็เกิดขึ้นแบบเดิมเรื่อยๆ ทำไมตอนนี้เราก็ยังไม่ไปไหน”

ยังมีผลงานเขียนอีกหลายเรื่อง หลากแนว กลวิธีการนำเสนอก็ยังแพรวพราว ซ่อนกลระโยงระยางตัวละครและเหตุการณ์ อันเป็นเอกลักษณ์ในการเขียนของปราบต์ เช่น เรื่องตายไม่หลับ แนวผี เรื่องคุณหมีปาฏิหาริย์ นิยายวาย

ปราบต์ แสดงตัวตนอย่างมีชั้นเชิง

“ชอบคิดอะไรแบบนี้เราจะได้มีไฟในการเขียน เราอยากอ่านเองด้วยว่าออกมาจะเป็นยังไง เมื่อก่อนผมเข้าใจว่าเราต้องมีลายเซ็นเป็นของตัวเอง ปิดหน้าปกไม่บอกว่าใครเขียน อ่านเนื้อเรื่อง นี่คือปราบต์ เราจะเขียนด้วยวิธีการคล้ายๆ กัน

แต่ปัจจุบันเกิดจากไปอ่านงานของคนอื่น เราชอบคนนี้มาก ซื้ออ่านทุกเรื่อง สุดท้ายรู้สึกเบื่อ เพราะเขาเขียนเหมือนกันหมด ไม่อยากให้คนอ่านรู้สึกแบบนี้กับงานเขียนของเรา”

ไม่ว่าจะเขียนงานแนวไหน แต่แกนหลัก ใจความที่อยากสื่อยังคงเอกลักษณ์ของปราบต์ พูดเรื่องหนักๆ ขมๆ ของการบ้านการเมือง แต่ห่อหุ้มด้วยขนมหวานหลากสีสัน

“ตายไม่หลับ รวมเรื่องสั้น 8 เรื่อง แต่แทนที่จะเขียนเรื่องสั้นจบๆ ไป ผมรู้สึกว่าทำให้เป็นมากกว่าเรื่องสั้น เอามาเชื่อมกัน ให้คนอ่านรู้สึกว่าตัวละครจากเรื่องนั้นมาโผล่เรื่องนี้ เรื่องราวขัดแย้งแต่ต่อเนื่องกัน คนอ่านจะรู้สึกเป็นนักสืบ เรื่องหนึ่งหักมุมอีกแบบ เรื่องที่สองหักมุมอีกแบบหนึ่ง อ่านจบจะกลายเป็นเรื่องยาว 1 เรื่อง

คุณหมีปาฏิหาริย์ พล็อตเหมือนการ์ตูนเด็กๆ แต่เวลาเขียนถึงไม่เด็ก ธีมของเรื่องคือความทรงจำ แทรกไปด้วยความทรงจำของประเทศ ความทรงจำของคนแต่ละคน ตัวละครหลัก เป็นบ้า เป็นอัลไซเมอร์ เปรียบเทียบกับคนที่ถูกหลอกตลอดเวลา และเวลามีโอกาสเลือกก็ตัดสินใจเลือกผิด

พูดเรื่องของเพศ ชายรักชาย พูดถึงเรื่องการกดทับในความรู้สึก ทำไมไม่สามารถแสดงออกได้ โยงถึงเรื่องการเมือง”

ปราบต์ลาออกจากงานมาเป็นนักเขียนเต็มตัวได้หลายปีแล้ว ช่วงเดียวกับนิตยสารต่างๆ ทยอยปิดตัว ซึ่งทำให้นักเขียนต้องพึ่งพละกำลังหนทางของตัวเองเพื่อจะสร้างรายได้โดยไม่ต้องทำงานอื่น

“ตอนนี้สำหรับผมดิ้นรนมากๆ เพราะเรามีงานเดียวแล้ว มีภาระหน้าที่ดูแลพ่อแม่ เขาก็มีเงินของเขานะ ผมสามารถเกาะพ่อแม่กินได้ แต่เรารู้สึกไม่ดี เราจะมาเห็นแก่ตัว ทำงานแบบที่เราอยากทำแต่หาเงินไม่ได้ ผมให้เงินพ่อแม่ทุกเดือน เราต้องทำแบบนี้ให้ได้เสมอไป เป็นหลักยึดในการทำงานในทุกวันนี้”

ปราบต์ยังคงสร้างงานออกมาเรื่อยๆนักเขียนเต็มตัวจะอยู่ได้ต้องมีงานหลายปกทว่าปกหลากสีสันนั้น ข้างในเข้มข้นด้วยกลวิธีการเขียนและการนำเสนออย่างมีชั้นเชิง ซึ่งคือลายเซ็นของปราบต์