posttoday

สุรศักดิ์ คลี่แก้ว ความสุขในสวน เกิดได้ง่ายๆ จากสิ่งรอบตัว

24 มีนาคม 2562

3 ปีก่อน หนุ่มผมยาวอารมณ์ศิลป์อดีตช่างภาพนักหนังสือพิมพ์ ตู่-สุรศักดิ์ คลี่แก้ว วัย 40

3 ปีก่อน หนุ่มผมยาวอารมณ์ศิลป์อดีตช่างภาพนักหนังสือพิมพ์ ตู่-สุรศักดิ์ คลี่แก้ว วัย 40 ผันตัวเองจากช่างภาพบริษัทประชาสัมพันธ์แห่งหนึ่งที่ทำมาเกือบ 10 ปี เพื่อกลับไปพัฒนาที่ดินของครอบครัวกว่า 27 ไร่ ณ จ.ชุมพร ให้กลายเป็นสวนปาล์ม และทำคาเฟ่กาแฟเล็กๆ สุดน่ารัก หลังจากใช้ชีวิตเป็นหนุ่มกรุงเทพฯ นานถึง 30 ปี กลายเป็น “ความสุขจากสวน” ที่นอกจากทำให้เขามีความสุข ยังทำให้พ่อกับแม่ที่ปลดเกษียณแล้ว ได้มีชีวิตที่พอเพียงและหันมาปลูกพืชผักออร์แกนิกเพื่อกินเองด้วย

“ความสุขจากสวน”นำพาความสุขสู่ทุกคนในครอบครัว

สุรศักดิ์ คลี่แก้ว ความสุขในสวน เกิดได้ง่ายๆ จากสิ่งรอบตัว

คุณพ่อคุณแม่ของสุรศักดิ์ เกษียณอายุการทำงาน ท่านมีความสุขกับการกลับไปอยู่ที่บ้านเกิด คือ จ.ชุมพร ซึ่งเลี้ยงดูและปลูกฝังให้ลูกชายคนโตรู้สึกผูกพันกับที่ดินที่เป็นมรดกตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย

“ตอนผมทำงานเป็นช่างภาพ เวลาลาพักร้อน ผมมักนึกถึงสวนซึ่งเป็นที่ดินของพ่อแม่ แล้วผมก็ค่อยๆ ลงมือพัฒนาปลูกต้นไม้ที่เป็นพืชเศรษฐกิจ พอเลี้ยงครอบครัวได้ เช่น ต้นปาล์ม และมะพร้าว ปัจจุบันพืชผักก็เขียวเจริญงอกงามดีมากๆ ทุกวันนี้ถ้าเพื่อนๆ หรือใครๆ จะมาเยี่ยมเยือน ผมอยากให้เขาได้สัมผัสกับคำนี้ คือ ความสุขจากสวน เพราะตั้งแต่เด็กๆ ผมอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก ผมผูกพันกับกรุงเทพฯ ตอนเด็กๆ ช่วงปิดเทอมพ่ออดีตข้าราชการทหารและแม่จะพากลับมาเยี่ยมปู่ย่าตายาย ใช้ชีวิตเหมือนเด็กต่างจังหวัดทั่วไป เพราะพ่อแม่ผมปลูกฝังว่าผมยังมีบ้านที่ชุมพรอีกหลัง มาที่ชุมพรได้ปีนต้นไม้ หาไม้เก่าๆ มาสร้างเป็นบ้าน”

พอเติบโตด้วยความเป็นอาร์ติสต์ ตู่เลือกอาชีพเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์ รวมทั้งเขียนเรื่องท่องเที่ยวนานถึง 6 ปี ก่อนจะผันตัวเองไปเป็นช่างภาพด้านการประชาสัมพันธ์ที่บริษัทเอเยนซียักษ์ใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศนาน9 ปี และเมื่อถึงจุดอิ่มตัวกับชีวิตในกรุงเทพฯ เขาวางแผนที่จะปลูกต้นไม้ไว้รองรับในวันที่ได้กลับไปพัฒนาที่ดินที่ จ.ชุมพร อย่างจริงจัง ด้วยการปลูกสวนปาล์ม และทำไร่สวนผสมที่ อ.ท่าแซะ เพื่อมีพืชผลไว้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้

“จริงๆ ผมไม่ได้รู้สึกอิ่มตัวหรือเบื่อกรุงเทพฯ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ผมพร้อมทั้งทุนทรัพย์ที่ผมจะสามารถต่อยอดมรดกของพ่อแม่ ผมไปลงต้นปาล์มกับมะพร้าวเอาไว้ พอผมกลับมาอยู่บ้าน เราก็จะมีผลผลิตที่พอทำให้เรามีรายได้ ไม่ใช่มาวางแผนตอนนั้น แต่ต้องเตรียมการไว้แล้ว เพราะผลิตผลกว่าจะมีผลผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 5 ปี ทำทุกอย่างต้องปลอดภัยด้วยการวางแผน”

เสน่ห์ชุมพร

สุรศักดิ์ คลี่แก้ว ความสุขในสวน เกิดได้ง่ายๆ จากสิ่งรอบตัว

ตอนเป็นวัยรุ่นเวลาลาพักร้อนของสุรศักดิ์ คือ การได้ไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด แต่เมื่ออายุถึงช่วงเวลาหนึ่ง คือ อายุใกล้ๆ เลข 4 ตู่ค้นพบความสุขว่า อยากพัฒนาและต่อยอดจากสวนของปู่ย่าตายายซึ่งมีที่ดินใกล้ๆ กัน 27 ไร่ โดยไม่เคยมีความคิดว่าอยากขายที่ดิน เพราะที่ อ.ท่าแซะแห่งนี้คือคำตอบของชีวิต ส่วนการมีอายุที่มากขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่ง

“เมื่อเรามีของดีอยู่แล้ว เราโตขึ้น เราสามารถต่อยอดได้ ตอนนี้ผมอยากพัฒนาสร้างบ้านทำเป็นคาเฟ่เล็กๆ ในสวนซึ่งกำลังตกแต่งอยู่ ใกล้เปิดตัวเร็วๆ นี้ เพราะผมกลับมาอยู่บ้านที่ชุมพรอย่างเต็มตัวได้ 2 ปีแล้ว โดยคาเฟ่หลังเล็กๆ ผมทำเองหมด เช่น ออกแบบและคุมช่างเองทั้งหมด รวมทั้งการวางแบบทำแลนด์สเคปที่ตั้งของร้านให้สวยงามเหมาะกับประโยชน์ใช้สอยและมีวิวเข้ากับต้นไม้ที่ปลูกอย่างสวยงาม ลงตัว เพื่อการสร้างบรรยากาศให้ลูกค้าและนักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสธรรมชาติความสุขในสวนได้” อีกทั้งทำสวนหลังบ้านให้สามารถใช้ชีวิตแบบพอเพียงได้ ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวแบบปลอดสารพิษ เช่น ผักเหลียง ปลูกในพื้นที่ 200 ตารางเมตร เพื่อให้แม่ได้เก็บไปปรุงรับประทานเองภายในครอบครัว แถมยังแบ่งปันให้คนข้างบ้านหรือลูกค้าสามารถมาเก็บผักเหลียง อยากกินเท่าไรเด็ดไป และนำมาคิดเงินด้วยราคาย่อมเยา เพื่อตัดปัญหาพ่อค้าคนกลาง แถมชาวบ้านยังมีผักสดๆ ไว้กินเพื่อสุขภาพที่ดีด้วย

“ชาวบ้านเห็นผักเหลียงที่เราช่วยกันปลูกทำเป็นร่องๆ ขึ้นเต็มไปหมด โดยผมตั้งคอนเซ็ปต์ว่า ถ้าใครอยากกิน สามารถเก็บใบอ่อนๆ ไปกินได้ อยากกินจำนวนมากน้อยแค่ไหน ก็เด็ดและจำหน่ายกำละ 20 บาท ซึ่งแรกๆ ชาวบ้านแถวนี้ผมให้เก็บฟรี แต่ระยะหลังๆ ชาวบ้านก็เกรงใจเลยขอจ่ายเป็นเงิน ผมก็จะให้ชาวบ้านเดินเก็บตามร่องผักได้เลย แม่ของผมก็มีกิจกรรมชอบมาเก็บยอดผักเหลียงตอนเช้าๆ ซึ่งพ่อกับแม่ของผมได้ย้ายกลับมาอยู่บ้านได้ 5 ปีแล้ว พอพ่อแม่มาผมจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ผมจะทำอะไรของตัวเอง จึงเกิดความสุขจากสวน คาเฟ่ ใครอยากกางเต็นท์นอนในสวนก็มาได้” สวนของตู่มีบรรยากาศที่ดีมาก เพราะอยู่ใกล้กับทุ่งวัวแล่น สามารถปั่นจักรยานไปได้ ในอนาคตตู่พยายามพัฒนาสวนเล็กๆ ของเขาให้เป็นที่พักทางผ่านของคนที่มาจากกรุงเทพฯ เพื่อไปต่อที่สงขลาและหาดใหญ่ได้พักผ่อนยืดเส้นยืดสายกัน

“ผมอยากทำให้ความสุขในสวนกลายเป็นจุดนั่งผ่อนคลายของนักท่องเที่ยว อยากค้างผมมีเต็นท์ไว้คอยบริการ หรือมานั่งพักผ่อนในสวน เห็นความเขียวขจี ปลูกต้นไม้เป็นอุโมงค์ต้นไม้ มาแล้วรู้สึกสบายตา การปลูกต้นไม้มีการจัดวางอย่างดี โดยใช้แนวคิดที่ได้ไปทำเรื่องท่องเที่ยวตามสถานที่สวยงาม มาตกแต่งให้สวนแห่งนี้สวยงามลงตัว ซึ่งสวนของผมมีทั้งไม้ใหญ่โบราณที่ปลูกมานาน ไม่ตัด ผมปลูกมะพร้าวกะทิเพื่อขายเอาไปแกง มีมะพร้าวน้ำหอมแต่ไม่เยอะ”

พัฒนาสวนแบบอย่างของการอนุรักษ์

สุรศักดิ์ คลี่แก้ว ความสุขในสวน เกิดได้ง่ายๆ จากสิ่งรอบตัว

การพัฒนาชุมชน คือ การเกื้อหนุนกันระหว่างคนในชุมชน ดึงให้มามีส่วนร่วม เช่น ปลูกพืชเศรษฐกิจ รวมทั้งผักปลอดสาร และให้พ่อค้าคนกลางมาซื้อผลผลิตถึงบ้าน รวมทั้งตู่จะจัดให้ ความสุขในสวน คาเฟ่ เป็นแหล่งให้ชาวบ้านนำผักปลอดสารมาจำหน่ายโดยไม่คิดค่าเช่า ถือเป็นโครงการทำเพื่อตอบแทนชุมชนโดยไม่หวังผลกำไร นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนความรู้กับปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อสอนเรื่องการอนุรักษ์ดิน การผสมน้ำหมักให้กับชาวบ้านที่สนใจ เพื่อดึงศักยภาพและเพิ่มพูนความรู้ให้ชาวบ้านสามารถพึ่งตัวเองได้ และหันมาปลูกผักปลอดสารอย่างแท้จริง

“อย่างใบเหลียงของผม ปลูกแบบปลอดสาร นอกจากนี้ยังปลูกผักสวนครัวแบบปลอดสารเพื่อให้พ่อแม่ได้เก็บเอาไปจิ้มกินกับน้ำพริก ไม่ต้องไปซื้อถึงในตลาด โดยแบ่งโซนผักสีเขียวไว้เลย เช่น กระเจี๊ยบ มะเขือ เพราะเราปลูกไว้กินเอง”

วิถีชีวิตที่แตกต่างนำพาความสุขแบบยั่งยืน

สุรศักดิ์ คลี่แก้ว ความสุขในสวน เกิดได้ง่ายๆ จากสิ่งรอบตัว

วิถีชีวิตตอนอยู่กรุงเทพฯ ช่างแตกต่างจากชีวิตต่างจังหวัดอย่างสิ้นเชิง สุรศักดิ์บอก อยู่ต่างจังหวัดได้แนบชิดกับธรรมชาติ ทำให้ทุกเช้าเขาตื่นขึ้นมาอย่างมีความสุขมาก ภาพที่ชินตาเขาคือ เห็นพ่อแม่ยืนรดน้ำต้นไม้ หันมาทักทายกันด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม นี่แหละคือความสุขที่เรียบง่ายและหาได้ที่บ้าน

“ผมไม่ได้ต่อต้านชีวิตในกรุงเทพฯ เพราะผมยังมีงานที่ต้องขึ้นมาพักที่คอนโดย่านประชาชื่นบ้าง แต่แค่ผมมีพื้นที่ที่ผมสามารถกลับไปแล้วมีความสุข แต่ละคนก็มีชีวิตสโลว์ไลฟ์ที่ไม่เหมือนกัน และชีวิตแบบช้าๆ ของเราจะอยู่ตรงไหน สำหรับคนอื่นผมไม่แนะนำให้ออกจากงานมาด้วยอารมณ์ศิลปินจ๋า อย่าทำเพราะทุกอย่างต้องผ่านการวางแผน ต้องมีเงินทุนกลับมาด้วย ดังนั้นช่วงทำงานต้องเก็บเงิน มีสวนแต่ไม่มีเงินก็ไม่ได้ คิดลาออกจากงานและมาทำไร่ทำสวน ก่อนลาออกควรปลูกพืชรอไว้อย่างน้อย 2-5 ปี เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเลี้ยงครอบครัวได้ ผมวางแผนอย่างรอบคอบ เช่น ครอบครัวผมทำบัญชีครัวเรือนด้วย เช่น ปาล์มตัดได้ 2 รอบ/เดือน แต่ราคาน้ำมันปาล์มมีขึ้นลง ผมจึงปลูกต้นหมากกับมะพร้าวช่วยพยุงรายได้ แต่มะพร้าวเก็บได้รอบละ 45 วัน เก็บได้ครั้งหนึ่งได้ประมาณ 100 ลูก พืชทุกอย่างจึงหมุนเวียนกลายเป็นรายได้ได้ทั้งหมด ทุกอย่างคือการวางแผน เราก็สามารถอยู่ได้อย่างพอเพียง ทุกวันนี้ผมแทบไม่เครียดเรื่องรายได้ แม้ไม่ได้มีเงินมาก แต่เวลาพ่อแม่อยากกินอะไร ผมพาครอบครัวไปกินได้หมด อยู่กรุงเทพฯ กว่าจะได้นอนดึกมาก แต่อยู่ที่ชุมพร ผมอยากให้เช้าเร็วๆ เพราะมีหลากหลายกิจกรรมรอเราอยู่ เช่น ตอนนี้ผมกำลังปลูกบอนไซ รู้สึกมีความสุขที่ได้มาตัดแต่งกิ่งบอนไซ เพื่อเตรียมส่งลูกค้า ผมเริ่มทำมา 5 เดือนแล้ว ผลตอบรับดีมากๆ เพราะบอนไซเป็นต้นไม้เหมาะกับชีวิตบนคอนโด ผมมีความสุขที่ได้ต่อยอดกับสิ่งที่ผมทำแล้วเกิดความสุข”

รูปแบบความสุขอื่นๆ ของสุรศักดิ์นอกจากพอเพียงกับชีวิตแล้ว เขายังไม่กู้หนี้ยืมสิน ค่อยๆ ทำไปเมื่อพร้อม

“ความสุขในสวนคาเฟ่ ผมปลุกปั้นมา 2 เดือนแล้ว ตั้งใจขายกาแฟ เบเกอรี่ ทุกอย่างพยายามนำผลผลิตในสวนมาใช้ เช่น ใช้มะพร้าวน้ำหอมมาทำพุดดิ้ง นำมะนาวปลอดสารมาคั้นทำน้ำมะนาว ทำน้ำสมุนไพรจากดอกอัญชัน คอนเซ็ปต์ของผม คือ ผลผลิตจากสวน นอกจากนี้ผมจะมีพื้นที่ไว้ขายต้นไม้ ขายทั้งบอนไซและกิ่งชำใบเหลียง พวงครามออสเตรเลีย จำหน่ายไม้ประดับช้างแดงชุมพรมีทั้งกิ่งตอนและกิ่งปักชำและอื่นๆ ครับ”