posttoday

สายสุนีย์ จ๊ะนะ สู้เพื่อฝันบนวีลแชร์

17 มีนาคม 2562

เรื่อง: ชุติมา สุวรรณเพิ่ม ภาพ: อมรเทพ โชติเฉลิมพงษ์

เรื่อง: ชุติมา สุวรรณเพิ่ม
ภาพ: อมรเทพ โชติเฉลิมพงษ์

นับถอยหลังรอคอยสนามพาราลิมปิกเกมส์ มหกรรมกีฬาสุดยิ่งใหญ่กำลังจะเริ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แล้วเมื่อวันนั้นมาถึงคือการได้เดินทางต่อไปให้สุดทางฝัน สายสุนีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบทีมชาติไทย วงการเรียกกันด้วยความนับถือในฝีไม้ลายมือ “พี่แวว” นักกีฬารุ่นใหญ่วัย 45 ปี คร่ำหวอดสะสมเกียรติประวัติ ประเดิมคว้าเหรียญทองจากสนามพาราลิมปิกเกมส์ ปี 2004 กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ

ความสำเร็จต่อด้วย ปี 2008 คว้าเหรียญทองแดง ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และปี 2012 กลับมาคว้าเหรียญทองอีกครั้ง ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

หญิงสาวนักกีฬาบุคลิกคล่องแคล่ว ดวงตาเปี่ยมความเชื่อมั่นในตัวเอง “พี่แวว สายสุนีย์” เล่าย้อนไปถึงวันร้ายในอดีตที่ไม่เคยลืมเลือนไปจากใจ เหตุการณ์สูญเสียจนต้องกลายเป็นคนพิการในวัยเพียง 17 ปีเท่านั้น เด็กสาววัยแรกรุ่นเคยคิดมีฝันอยากเป็นครู หากทุกสิ่งทุกอย่างต้องจบสิ้นลง เพียงแค่ความประมาทของคนที่อยู่หลังพวงมาลัย ขับรถพุ่งมาชนมอเตอร์ไซค์คันเล็กๆ ที่กำลังวิ่งไปสร้างอนาคตอย่างรุนแรง ทุกสิ่งทุกอย่างจบสิ้นลงบนพื้นถนนโหดร้าย

สายสุนีย์ จ๊ะนะ สู้เพื่อฝันบนวีลแชร์

“แววเป็นคนเชียงใหม่หางานทำได้ที่ลำพูน เป็นวันไม่เคยลืมเลือนเลยค่ะ วันที่ 9 พ.ค. 2535 ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ลูกพี่ลูกน้องไปทำงานโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน แล้วรถก็พุ่งเข้ามาชนตอนติดไฟแดงตอน 7 โมงเช้า รถยนต์อะไรไม่รู้เลยค่ะ เพราะเราก็สลบญาติก็เจ็บกันไปไม่รู้เรื่องทั้งคู่ มาฟื้นอีกทีก็บนเตียงโรงพยาบาลแล้ว

ญาติที่เป็นคนขับไม่เป็นอะไรมาก แต่ดิฉันหนักหนา หัวแตกฟันหน้าหักยับเยิน กระดูกสันหลังหักจนนอนลงไม่ได้ต้องตัดกระดูกสะโพกไปต่อหลัง แข้งขาถลอกปอกเปิก

เจ็บปวดระบมไปทั้งตัว เพราะกระดูกแตกไปทิ่มแทงเส้นประสาท ทำให้เจ็บแบบร้าวไปทั้งร่างค่ะ แล้วพอ 1 เดือนเต็มๆ ที่นอนโรงพยาบาลก็เริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติคือยกขาไม่ได้เลย คุณหมอจึงต้องบอกความจริงเราว่า ...ทำใจนะ อาจจะเดินไม่ได้ตลอดชีวิต ส่วนคนขับรถก็หลบหนีหายตัวไปตามระเบียบค่ะ” สายสุนีย์ บอกพร้อมรอยยิ้มเบาๆ เพลียๆ หัวใจกับความโชคร้ายของตัวเอง

ชีวิตนี้กลายเป็นสาวพิการ

ชีวิตประสบอุบัติเหตุกระทบกระเทือนทั้งร่างกายและจิตใจเกินจะทานทนไหว ปัญหามันใหญ่จนคิดปลิดชีพตัวเองไปเสียให้พ้นจากโลกโหดร้าย ความเจ็บปวดภายนอกยังพออดทนฟื้นฟูได้ แต่ความเจ็บปวดภายในจิตใจแทบทานทนไม่ไหวจริงๆ

สายสุนีย์ เล่าว่า คุณหมอบอกชัดเจนว่าเส้นประสาทขาด ไม่สามารถเดินได้อีกตลอดชีวิต สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือทำกายภาพให้ร่างกายฟื้นฟู เพื่อสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ถ้าทำได้แค่นั้นก็ถือว่าโชคดีที่สุดแล้ว

สายสุนีย์ จ๊ะนะ สู้เพื่อฝันบนวีลแชร์

“ไม่มีใครโชคร้ายเท่าเราอีกแล้วค่ะ บ้านฐานะยากจนแล้วยังมาพิการอีก คิดฆ่าตัวตายทุกวิถีทาง แต่ขนาดจะถัดตัวปีนหน้าต่างทิ้งตัวลงมาจากตึกโรงพยาบาล เรายังไม่มีแรงไม่มีปัญญาทำได้เลย (หัวเราะเบาๆ) รู้สึกหมดอาลัยตายอยากตลอดเวลาที่อยู่โรงพยาบาล 11 เดือนไม่มีวันไหนที่ไม่ร้องไห้เลยนะคะ รู้สึกอย่างเดียวค่ะว่าความฝันเราจบชีวิตจบแล้ว เรารักคุณครูคนหนึ่งมากก็ใฝ่ฝันอยากเป็นครู อุตส่าห์เรียนจนจบ ม.3 เพื่อไปสมัครทำงานในนิคมอุตสาหกรรม จะได้เก็บเงินเรียนต่อ แต่ไปทำงานได้ไม่กี่เดือน ก็โชคร้ายโดนคนขับรถพุ่งเข้ามาชน

ไม่แน่ใจค่ะว่าเขาเมาแล้วขับหรือเปล่า แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าเช้าตรู่แบบนั้น แล้วขับรถเร็วแบบเหมือนไม่มีสติมาแบบนั้น อาจจะเมาหรือเปล่า? แต่ก็ไม่ได้คำตอบ เพราะเขาขับหนีไปเลย!! ตำรวจก็จับตัวมาดำเนินคดีไม่ได้ เราโชคร้ายจริงๆ ค่ะ”

ชีวิตช่วงวัยรุ่นเริ่มต้นก็หนักหนาแล้ว อนาคตดูไม่สดใสเอาเสียเลย แต่สิ่งที่กอบกู้ให้ชีวิตกลับมาได้ในครั้งนี้ก็คือคนที่มีค่าที่สุดของชีวิตทุกๆ คน พ่อ แม่ น้องสาว ครอบครัวคือสิ่งที่ทำหน้าที่นี้ได้ดีสุด

“ร่างกายเข้มแข็งขึ้นมาได้คือวันที่เรากำลังคิดฆ่าตัวตาย คือพยายามทำซ้ำๆ หลายครั้งนะคะ แต่ไม่มีใครเห็น และทำไม่สำเร็จเพราะไม่มีแรงขยับตัว แต่วันนั้นพอมีแรงถัดตัวไปที่หน้าต่างได้ กำลังจะกระโดด แม่เข้ามาเห็นพอดีก็รี่เข้ามาดึงคว้าเราไว้ได้ แม่ร้องไห้ไปด้วย ทั้งตีทั้งหยิกเราไปด้วย บอกว่าแม่เลี้ยงของแม่มา 17 ปี ไม่คิดว่าลูกจะจากไปแบบนี้ มันเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้ว่าถึงพิกลพิการ เราก็ยังมีค่ากับแม่ แม่รักเรามากที่สุด เราจะทำแบบนี้อีกไม่ได้ เราต้องสู้

เคสเจ็บหนักอย่างนี้ต้องอยู่โรงพยาบาลอย่างน้อยๆ ก็ 2 ปี แต่เราพยายามทำกายภาพให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงช่วยตัวเองได้เร็วที่สุด เริ่มตั้งแต่ฝึกนั่งเหมือนเด็กเล็กๆ ฝึกใส่เสื้อผ้า ใช้เวลา 11 เดือนก็ออกจากโรงพยาบาลได้แล้วค่ะ เราทนไม่ได้ที่พ่อแม่ต้องมานอนเฝ้าที่โรงพยาบาลยาวนานแบบนี้ พ่อแม่ทำงานรับจ้างมีรายได้รายวัน พอมาเฝ้าไข้เรา ฐานะครอบครัวก็ยิ่งวิกฤตหนักข้าไปใหญ่

หนักหนาถึงขึ้นครอบครัวแตกแยกไปคนละทิศละทางค่ะ แม่ไปทำมาหากินอีกทาง พ่อไปกับลูกสาวทั้งสองคน คือดิฉันกับน้องสาวที่ตอนนั้นอายุเพียง 7 ขวบ ซึ่งก็ไม่มีใครสามารถช่วยพ่อทำงานหาเงินเข้าบ้านได้เลย ดิฉันคิดว่าเรานี่แหละต้องช่วยพ่อ แต่ก็ไม่รู้จะช่วยอะไรเพราะเวลานั้นก็ทำได้แค่ช่วยเหลือตัวเองขั้นพื้นฐานเท่านั้นค่ะ”

สายสุนีย์ จ๊ะนะ สู้เพื่อฝันบนวีลแชร์

เริ่มมีความฝันสู่ชีวิตใหม่

ความหวังครั้งสำคัญจุดประกายอีกครั้ง เมื่อศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการหยาดฝน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เปิดรับสมัครคนพิการที่มีคุณสมบัติพิการทางการเคลื่อนไหว ชาย-หญิง อายุระหว่าง 14-40 ปี สัญชาติไทยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในชีวิตประจำวันและความพิการไม่เป็นอุปสรรคในการฝึกอาชีพ ไม่พิการทางสมองและสติปัญญา

เปิดรับสมัคร 3 แผนก 1 โครงการ จำนวน 100 คน ได้แก่ แผนกตัดเย็บเสื้อผ้าและงานประดิษฐ์ แผนกคอมพิวเตอร์ แผนกอิเล็กทรอนิกส์

“เขียนจดหมายสมัครเหมือนเรียงความเลยค่ะ เขียนแบบเด็กบ้านนอกหนูอยากฝึกอาชีพเป็นคนพิการ (หัวเราะ) คืออยากให้เราพ้นภาระพ่อช่วยพ่ออีกแรง ก้าวแรกที่ไปศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการหยาดฝน มันคือโลกใบใหม่ค่ะ ตื่นเต้นมาก เดินเข้าประตูรั้วมีแต่คนพิการเยอะแยะไปหมด ขณะที่เคยคิดว่าเราคือคนเคราะห์ร้ายที่สุดกลายเป็นคนพิกลพิการหนึ่งเดียวในหมู่บ้าน”

สายสุนีย์ บอกพลางหัวเราะประโยคท้าย แล้วสิ่งที่จุดประกายชีวิตใหม่ครั้งนี้ คือรอยยิ้ม คนพิการที่นี่มีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะ และใบหน้าทุกคนเต็มไปด้วยความหวัง มีพลังในการใช้ชีวิตเกินร้อย

“ไม่มีคนพิการจมความทุกข์แบบเราสักคนเดียว มีคนหนึ่งขาขาดทั้งสองข้าง อีกคนตาบอดสนิท อีกคนแขนขาด รวมกันเป็นร้อยคน ทุกคนไม่ร้องไห้แบบเราทุกคนมีความสุข (บอกพร้อมรอยยิ้ม) มีพี่เล่นกีตาร์ให้เราฟัง ชวนสวดมนต์เย็นก่อนเข้านอน ทุกคนพูดคุยกันแลกเปลี่ยนความทุกข์ความสุข มีแต่เสียงหัวเราะกัน

แล้วก็เจอพี่นักกีฬาที่เป็นไอดอลของเรา “พี่วันเพ็ญ” เป็นนักกีฬาเทนนิสทีมชาติไทย เขาก็แนะนำเราค่ะว่าเรียนแผนกคอมพิวเตอร์แล้วก็จะหางานทำได้ง่าย พี่มีครอบครัวอบอุ่น มีรายได้ทั้งจากอาชีพที่เรียนจากที่นี่ รายได้ตอบแทนจากการเล่นกีฬา ถ้าเราสามารถพัฒนาไปสู่สูงสุดได้ ปลายทางฝันของพวกเราคือ เฟสปิกเกมส์ เป็นมหกรรมกีฬาเป็นผู้พิการระดับเอเชียนเกมส์

สายสุนีย์ จ๊ะนะ สู้เพื่อฝันบนวีลแชร์

แล้วทันทีที่ครูเปิดให้สมัครคนเล่นกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลหญิง สายสุนีย์รีบยกมือทันทีกับเพื่อนอีก 3 คน กีฬาชนิดแรกบอกเลยค่ะว่ายากมาก แป้นชู้ตลูกบาสมีความสูงเท่ากับคนปกติ ขณะที่เรานั่งบนวีลแชร์ก็ทำได้ยากกว่านะคะ ฝึกหนักมากๆ ล้มลุกคลุกคลานมือไม้แตก บอกตัวเองเราต้องทำให้ได้ต้องชู้ตให้ได้ ไม่ใช่อยากเก่งกาจอะไรนะคะ แต่อยากมีเงินเดือนตอบเทนที่ดี (หัวเราะ) แล้วที่สุดเราก็ติดทีมนักกีฬาล้านนาเป็นตัวแทนเขตไปแข่งขันที่กรุงเทพฯ ชีวิตนักกีฬาเหนื่อยมากค่ะ”

สายสุนีย์ เล่าจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต ในเวลานั้นทั้งเรียนฝึกอาชีพ ควบไปกับการเรียน กศน.จบมัธยมปีที่ 6 และเริ่มมีรายได้จากการเล่นกีฬาบาสเกตบอล

“ข่าวดีมาอีกครั้งค่ะ มีจดหมายเปิดรับสมัครนักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบโดยมีโค้ชจากฮ่องกงมาฝึกสอนก็รีบไปสมัครกับเพื่อนอีกคนในทีม จบคอร์สเรียน 7 วัน โค้ชก็เรียกเรากับเพื่อนอีกคนเข้าไปบอกว่า ...จำไว้นะเธอ 2 คน ต่อไปจะมีโอกาสเป็นแชมป์โลกนักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบ โค้ชเห็นแววมั้งคะ คือเราไม่ใช่คนเก่งอะไรเลยนะคะแต่เป็นคนเรียนรู้ง่าย โค้ชสอนอะไรก็ทำตามได้หมดในระยะสั้นๆ และมีความตั้งใจสูงมีความพยายาม อะไรที่เราไม่รู้ ทำไม่ได้ เราต้องรู้ต้องทำให้ได้ ตอนเล่นบาส ชู้ตไม่ได้ก็ต้องชู้ตลงให้จงได้ ฝึกชู้ตเป็น 1,000 ครั้ง ลูกไม่ลงตาข่ายก็ให้มันรู้ไปคะ (หัวเราะ)

ฟันดาบก็ไม่ต่างกันค่ะ โค้ชบอกให้ฟันล่อเป้าวันละ 1,000 ครั้ง เพื่อนที่ไปด้วยทนไม่ได้บอกมันน่าเบื่อสุดๆ ไม่สนุกเหมือนบาส ขอกลับไปเล่นบาสเกตบอล แต่สายสุนีย์ล่อเป้าจนคนฝึกซ้อมขอยอมแพ้ คือเรามันลูกคนยากจนสายอึด อยู่กลางแดดกลางฝนยังทำได้ แค่ล่อเป้าวันละไม่กี่พันครั้ง สบายมาก เหมือนตอนทำกายภาพคนอื่นไม่ทานทนแต่เราอึด ทน จนทำได้เร็วกว่าคนอื่น ความแข็งแกร่งมันฝังอยู่ในร่างกายที่มีอยู่เพียงครึ่งเดียวของเรานี่แหละค่ะ”

ชีวิตคือการเอาชนะอุปสรรค เป้าหมายคือติดทีมชาติไทย สนามแรกชิมลางสนามเล็กๆ ที่ฮ่องกง ประเดิมเหรียญทองกลับไทยได้ และสนามใหญ่ครั้งแรกในชีวิต กีฬาเฟสปิก ปี 1999 มหกรรมกีฬาผู้พิการจากทั่วเอเชียและโอเชียเนียลงสนามประลองฝีมือ โดยจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร

“เหรียญทองแรกรับเงินอัดฉีด 2 แสนบาท รีบเอาไปไถ่ที่ดินให้พ่อทำสวนลำไย ตอนนั้นได้เป็นครูแล้วค่ะสอนคอมพิวเตอร์คนพิการ (บอกพร้อมรอยยิ้ม) สนามในฝันตอนนั้นคือพาราลิมปิกเกมส์ ปี 2000 ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย แต่ไปไม่ถึงฝันค่ะ คะแนนสะสมของเราไม่ถึงเพราะต้องตระเวนแข่งขัน แต่เราไม่มีเงินพอไม่มีคนสนับสนุนเราด้วย เรายังโนเนม แล้วครั้งนั้นนักกีฬาในดวงใจ ประวัติ วะโฮรัม นักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งได้เหรียญทองกลับมา มีการต้อนรับเขาทั้งสร้อยคอทองคำเต็มคอ ทั้งเงินรางวัล ยิ่งรู้สึกว่าพวกเราคนพิการได้การยอมรับที่สุดของความภาคภูมิใจในชีวิต เราต้องไปอยู่ในจุดนั้นให้ได้ค่ะ”

สายสุนีย์ จ๊ะนะ สู้เพื่อฝันบนวีลแชร์

มีชีวิต ต้องมีความฝัน

การร่วมมหกรรมกีฬายิ่งใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากโอลิมปิก คือเป้าหมายที่สุดของชีวิต ในกีฬาพาราลิมปิก ปี 2004 กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ สายสุนีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบคือความหวังเหรียญทองของทัพนักกีฬาไทย

“นับจากวันที่เราร้องไห้เสียใจไม่ได้ไปแข่งที่ซิดนีย์ใช้เวลา 7 ปีค่ะ ก็สามารถคว้าเหรียญทองจากสนามพาราลิมปิกเกมส์ กรุงเอเธนส์ ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในแมตช์นี้เลยค่ะ มีบ้านหลังแรกให้พ่อ ซื้อที่ดินให้แม่ แล้วสำหรับคนพิการการมีรถยนต์ขับไปไหนมาไหน คือปัจจัยหลักที่จำเป็นต่อชีวิตมาก โตโยต้าให้รถยนต์เป็นรางวัล 1 คัน และห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ รับเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานสร้างแรงบันดาลใจ มีเงินเดือนประจำ มีโบนัสประจำปีให้ด้วยค่ะ สนับสนุนให้เราแข่งขันกีฬาได้เต็มที่เลยค่ะ

ขอขอบคุณ คุณศิริลักษณ์ ไม้ไทย ผู้บริหารเดอะมอลล์ที่ให้โอกาสแววกับน้องนักกีฬาพิการอีก 3 คน บรรจุให้ทำงานพร้อมกัน 4 คน เป็นต้นทุนในชีวิตให้เรามีพลังมีแรงในการต่อสู้ชีวิต น้องนักกีฬาคนหนึ่งเคยเป็นพนักงานขายของพาร์ตไทม์ ก็ไม่ต้องไปลำบากหางานไปเรื่อยๆ ได้เป็นพนักงานประจำของเดอะมอลล์สนับสนุนให้ฝึกซ้อมเต็มที่เลยค่ะ”

ชีวิตยังคงฝึกฝนเพื่อกีฬาพาราลิมปิกคือเป้าหมายใหญ่เสมอ ผลลัพธ์ล้มลุกคลุกคลานมีทั้งสมหวังและผิดหวัง โดยธรรมชาติของการแข่งขันกีฬาที่ย่อมมีแพ้มีชนะ

สายสุนีย์ จ๊ะนะ สู้เพื่อฝันบนวีลแชร์

“สิ่งดีๆ ที่เข้ามามี 2 อย่างค่ะ คือ เรียนจบปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต ที่สนับสนุนนักกีฬาไทยมาโดยตลอด แววได้ร่วมในกีฬาพาราลิมปิก 4 สมัยแล้วค่ะ และตั้งใจจะเล่นจนถึงอายุ 50 ปี สนามที่กำลังรอคอยคือ ปี 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ชีวิตพลิกอีกครั้งคือการมีครอบครัวค่ะ (บอกพร้อมรอยยิ้ม) สามีเป็นครูสอนคอมพิวเตอร์ เราได้พบกันก็มีความเข้าอกเข้าใจกันกับความเป็นคนพิการเหมือนกัน มีลูกสาววัย 4 ขวบ “น้องฤทัย” ซึ่งกว่าจะมีเขาลำบากที่สุดในชีวิต คนพิการตั้งครรภ์ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทั้งการขยับตัวการเคลื่อนไหวใช้ชีวิตตามปกติ แผลการผ่าคลอดอะไรต่างๆ นานา มันเจ็บปวดกว่าคนธรรมดาทั่วไป แต่ลูกและครอบครัวมันกลายเป็นความสุขและพลังอย่างที่สุดชีวิตอีก
อย่างหนึ่งค่ะ”